เวียดนามกับภารกิจ...ปั้นคนรุ่นใหม่ “หัวใจเพื่อสังคม”

เวียดนามกับภารกิจ...ปั้นคนรุ่นใหม่ “หัวใจเพื่อสังคม”

สวัสดีค่ะ วันนี้ดิฉันจะขอเล่าถึงประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็น“เสือตัวต่อไป”ของเอเชีย นั่นคือ ประเทศเวียดนาม กับการให้ความสำคัญต่อกิจการเพื่อสังคม

ปัจจุบันเศรษฐกิจเวียดนาม นับว่ามีการเติบโตที่ดี และปัญหาความยากจนขาดแคลนก็ทุเลาลงไปมากจากสมัยอดีต ยิ่งไปกว่านั้นอัตราการเติบโตของจีดีพีของเวียดนามยังติดอันดับต้นๆ ของโลก แต่ด้วยการเติบโตอย่างรวดเร็วมากนี่เอง ทำให้ประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นเสือตัวต่อไปของเอเชีย ยังมีความขลุกขลักในหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือการส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่หันมาเป็นผู้ประกอบการมากขึ้น โดยเฉพาะกิจการเพื่อสังคม

คนเวียดนามเองไม่ไว้ใจซึ่งกันและกันในระยะหลังๆมานี้ และกิจการเพื่อสังคมเป็นหาทางที่จะทำให้ความเชื่อใจกันกลับมา ดร.Truong Thi Nam Thang รองศาสตราจารย์และผู้อำนวยการศูนย์กิจการเพื่อสังคม (Centre for Social Innovation and Entrepreneurship: CSIE) จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติด้านเศรษฐศาสตร์ในฮานอย กล่าวกับเวบไซต์ pioneerspost ว่า การนำโมเดลทางธุรกิจมาแก้ปัญหาสังคมนั้นใช้ได้ผล โดยเฉพาะในประเทศที่มักไม่ได้รับความช่วยเหลือจากนานาชาติ เนื่องจากปัจจุบันเวียดนามได้เลื่อนขั้นขึ้นมาเป็น ประเทศรายได้ปานกลางระดับล่าง” (Lower middle-income economy) การพึ่งพาตนเองด้วยกิจการเพื่อสังคมนั้นจึงเป็นแนวทางในการเติบโตด้วยตนเองได้อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ เวียดนามยังสนับสนุนอย่างเข้มแข็งจากภาครัฐในหลายด้าน รวมถึงการส่งเสริมจากองค์กรต่างๆ และนักลงทุน ทำให้ภาคธุรกิจการค้าขยายอย่างรวดเร็วเช่นกัน ทำให้เวียดนามกลายเป็นประเทศในอันดับที่14ที่มีความสะดวกในการประกอบธุรกิจสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จากรายงานความยากง่ายในการทำธุรกิจประจำปี 2561 หรือ World Bank Doing Business 2018(ประเทศไทยอยู่อันดับที่26) โดยเวียดนามนั้นมีนโยบายสร้างธุรกิจใหม่หรือ Startupให้ได้1ล้านกิจการภายในปี 2020

นี่อาจเป็น “โอกาส” ในจังหวะที่เหมาะสม ชาวเวียดนามที่มีการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเพิ่มขึ้นกว่าสามเท่าตัวจากปี2000ถึงปี2013อย่างไรก็ตาม จำนวนเยาวชนที่ว่างงานนั้นยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประชากรทั่วไป โดยในปี2016มีคนจบการศึกษาใหม่ที่ว่างงานกว่าสองแสนคนทั่วประเทศ

ดร.Thang กล่าวว่า แม้ว่าคนรุ่นใหม่จะหันมาทำสร้างธุรกิจมากขึ้นกว่าคนรุ่นก่อนๆ แต่กิจการเพื่อสังคมที่ประสบความสำเร็จนั้นส่วนใหญ่ไม่ได้ดำเนินการโดยคนรุ่นใหม่ ที่มักจะเลือกทำงานในหน่วยงานไม่แสวงกำไรระดับนานาชาติมากกว่า

Truong Thanh Tuyen นักศึกษาเศรษฐศาสตร์วัย 20 ปีในเมืองโฮจิมินห์ และยังเป็นประธานกลุ่ม Business Ideas Team ที่ส่งเสริมให้นักศึกษาหันมาทำกิจการเพื่อสังคมกล่าวว่า คนในวัยเดียวกับเธอมักขาดแรงบันดาลใจ และคิดว่าการเป็นผู้ประกอบการนั้นยาก และกิจการเพื่อสังคมนั้นยิ่งยากกว่า ดังนั้นสิ่งที่คนรุ่นเธอให้ความสนใจคือการหารายได้ให้ตัวเองเป็นอันดับแรก

ดังนั้นการรับมือกับแนวความคิด (ที่ผิด) ดังกล่าวจึงเป็นโจทย์ที่ท้าทาย โดยในขณะที่ชาวเวียดนามนั้นเป็นนักรณรงค์ช่วยเหลือสังคมที่ค่อนข้าง “แอคทีฟ” แต่พวกเขาก็ยังไม่ได้คิดไปถึงการซื้อสินค้าหรือการลงทุนในกิจการเพื่อสังคม ดังนั้น ดร.Thang จึงต้องการเปลี่ยนแนวความคิดนี้

ในปีที่ผ่านมา จึงมีการจัดตั้งศูนย์กิจการเพื่อสังคม (CSIE) ขึ้นโดยมีเธอเป็นผู้อำนวยการ โดยเธอต้องการให้ศูนย์แห่งนี้เป็นศูนย์รวมของการวิจัย การศึกษา และบ่มเพาะกิจการเพื่อสังคมในภูมิภาคเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยแห่งชาติด้านเศรษฐศาสตร์ และบริติชเคานซิล ที่สนับสนุนกิจการเพื่อสังคมในเวียดนามมาตั้งแต่ปี2009โดยปัจจุบันมีหลักสูตรปริญญาโททางด้านจริยธรรมธุรกิจ การจัดการ การเป็นเจ้าของธุรกิจ รวมถึงกิจการเพื่อสังคม

แม้ว่าจะมีนักศึกษาเพียง5%ที่สนใจงานด้านกิจการเพื่อสังคม แต่สิ่งที่ ดร.Thang ทำนั้นก็ไม่ได้เปล่าประโยชน์ 

เราต้องการปลูกฝังไอเดียของนวัตกรรมเพื่อสังคมให้แก่คนรุ่นใหม่เหล่านี้ ถึงแม้ว่าต่อไปพวกเขาจะไปทำงานในองค์กรเชิงพาณิชย์หรือเอกชนเต็มรูปแบบ แต่พวกเขาก็จะสามารถรักษาสมดุลของเป้าหมายทางด้านธุรกิจและเป้าหมายด้านสังคมได้

ปัจจุบันศูนย์ CSIE มีพันธมิตรหลายราย โดยล่าสุดกำลังจะเปิดหน่วยงานบ่มเพาะกิจการเพื่อสังคมในชื่อVietnam Innovation Hub (VIHUB) โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล และในปลายปีนี้จะมีการเปิดศูนย์บ่มเพาะกิจการเพื่อสังคมเพิ่มอีกแห่งในฮานอย โดยเน้นที่ปัญหาเยาวชนและการเพิ่มบทบาทของสตรี ซึ่งความพยายามเหล่านี้จะช่วยทำให้มีคนรุ่นใหม่เข้ามาบุกเบิกกิจการเพื่อสังคมมากขึ้น

หน้าที่ของเราคือ ต้องทำให้พวกเขาเชื่อว่าพวกเขาเองก็สร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมได้