รัฐบาลทหารกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม

รัฐบาลทหารกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม

ผมมักจะถามเพื่อนอาจารย์และนักข่าวที่ได้พบปะกันตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมาว่า กุนซือหรือที่ปรึกษาทางด้านการเมืองของรัฐบาลทหารชุดนี้คือใคร

เพราะผมเห็นว่ามาตราการต่างๆ ที่ออกมาจะเป็นไปทางด้านการทหารเสียเป็นส่วนใหญ่ เช่น การกำราบให้เกิดความกลัว ด้วยการส่งคนไปกดดันลักษณะต่างๆ หรือ การทำให้เกิดคดีความเพื่อ “ผูกรัด/มัดตีน” ไม่ให้เกิดการเคลื่อนไหวของคนที่คิดต่างเท่านั้น

เพื่อนนักวิชาการของผมหลายคนที่ติดตามคลุกคลีกับกลุ่มทหาร บางท่านเคยเข้าไปใกล้ชิดถึงขนาดเข้าไปอยู่ใน “ห้องสงคราม” (war room) ของสมัยรัฐบาลขิงแก่ ก็ดูเหมือนไม่มีบทบาทอะไรในรัฐบาลทหารชุดนี้

การที่การปกครองด้วยความกลัวดำเนินมาได้ระยะยาวนานผิดจากอดีตของรัฐบาลทหารที่ผ่านมา ก็เพราะด้วยการโหมประโคมความหวาดกลัว 2 ด้านของสังคม ได้แก่ ความกลัวและรังเกียจความไม่โปร่งใสของรัฐบาล ที่มาจากการเลือกตั้งก่อนหน้านี้ของกลุ่มชนชั้นกลางเก่า ที่เคยชินกับระบบความไม่โปร่งใสแบบซุกซ่อน ของระบบราชการ และ ความกลัวว่าชีวิตปกติของตนจะถูกทำลาย หากมีการเลือกตั้งที่จะตามมาด้วยการประท้วงยาวนานรุนแรงของผู้คนทั่วไปในเขตเมือง

การโหมประโคมความกลัว 2 ด้านนี้ ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทย ต้องทนกลืนความอึดอัดคับข้องใจมากมายที่มีต่อรัฐบาลทหารนี้ และมักจะตั้งความหวังว่า “รอไปอีกสักหน่อยทุกอย่างจะดีขึ้น” โดยที่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเมื่อไร และดีขึ้นอย่างไร

แต่ความหวังที่ประคองคนในสังคมไทยให้อดทนรอไปอีก “สักหน่อย” เริ่มลดลง 

ผู้คนจำนวนมากขึ้นที่เริ่มคิดและรู้สึกว่า เปลี่ยนเสียทีเถอะ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่น่าจะเลวร้ายไปกว่านี้หรอก เพราะนี่ก็เลวร้ายสุดๆ แล้ว 

บทความล่าสุดของอดีตรัฐมนตรีคลังในสมัยรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ในหนังสือพิมพ์มติชนวันสองวันก่อน แสดงความรู้สึกเช่นนี้อย่างชัดเจน

ความไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคม ประกอบกับความสำเร็จในการจับประเด็นเรื่องความหวาดกลัวของคนในสังคมไทย ทำให้รัฐบาลทหารคิดเอาเองว่าตนเองทำงานเยอะแยะ ประสบความสำเร็จมากมาย ( ? ) น่าจะทำให้การเคลื่อนไปสู่ระบบประชาธิปไตยแบบนำวิถี (Guided democracy)ที่มีระบบราชการโดยเฉพาะทหารปกครองแบบควบคุม จะเดินต่อไปข้างหน้าได้

แต่สังคมเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนแปลงมากเกินกว่าการรับรู้ที่มีอยู่อย่างจำกัด ของรัฐบาลทหารแล้วนะครับ

นักธุรกิจที่ผันตัวเองมาทำงานทางด้านนโยบายเศรษฐกิจให้รัฐบาลทหาร ก็เป็นเพียงนักวิสัยทัศน์ที่ไม่มีฐาน (Visionist without ground) นโยบายต่างๆ ที่ออกมา จึงไม่ได้แก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจใดๆ นอกจากความพยายามจะคิดทางด้านการตลาดธรรมดาๆ เท่านั้น 

ตัวอย่างเช่น นโยบายประชารัฐที่ไม่ได้ทำให้เกิดกระบวนการผลิตใดๆ ที่งอกเงยไปจากเดิม นโยบายการท่องเที่ยวสังคมชาวนา ก็แสดงให้เห็นว่าไม่มีฐานความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบทเลย คาดว่าคงจะมีโรงแรมหรูๆ จ้างคน และควายไปทำนาในช่วงเวลาที่มีนักท่องเที่ยวเท่านั้น

นโยบายเศรษฐกิจที่เกาะเกี่ยวกับทุนขนาดใหญ่ของประเทศเพียง 7-8 กลุ่มเท่านั้น ยิ่งจะก่อปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทุนด้วยกันมากขึ้น 

การก่อตัวเป็นภาคีแห่งความเห็นชอบ (Party of Order) ของกลุ่มทุนในช่วงการต่อสู้กับทุนกลุ่มของทักษิณกำลังจะยุติลงแล้ว รัฐบาลทหารก็คงไม่เห็นตรงจุดนี้ หรือหากเห็นก็คงคิดว่าอำนาจปืนจะชะลอได้กระมัง

ความไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่มีการเคลื่อนไหว (Mobilities) อย่างรวดเร็วและลึกซึ้ง รัฐบาลทหารจึงไม่เข้าใจใน “การเมืองเรื่องความหวัง “ (Politics of Hope ) ของผู้คนที่กำลังไต่เต้าบันไดชนชั้นทางสังคม จึงทำให้รัฐบาลทหารขยายความขี้เท่อ ออกมามากขึ้น โดยเฉพาะทางด้านการศึกษา เพราะไม่เข้าใจว่าการศึกษาสัมพันธ์กับความหวัง ของการเคลื่อนย้ายทางสังคมอย่างไร  

การกล่าวเน้นว่าจะต้องนำการศึกษาไทยให้เป็นการศึกษา 4.0 ก็เป็นเหมือนการกล่าวโดยไม่เข้าใจอะไร 

ขณะเดียวกันก็มีความขัดแย้งกับแนวการปฏิบัติ ลองเปรียบเทียบคำพูดนายกรัฐมนตรี ( เช่น ปาฐกถาเรื่อง “บทบาทของมหาวิทยาลัยไทยต่อThailand 4.0” ที่มหาวิทยาลัยมหิดล 2560) กับความเป็นจริงที่กระทรวงศึกษาธิการได้ทำนโยบายขึ้นมา เช่น การเน้นให้ผลิตบัณฑิตเพื่อตอบสนองตลาด โดยที่ไม่เข้าใจว่า “ตลาด” ในปัจจุบันคืออะไร หรือ การให้ปิดหลักสูตรสาขาวิชาที่ “ตลาด” ไม่ต้องการ

ความไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคม จึงทำให้นโยบายต่างๆ ไม่ประสบผลอย่างที่คาดหวังเอาไว้ 

การวางแผนอนาคตเพื่อความกลมเกลียวของชาติภายใต้การนำของ 3 ประสานระหว่างระบบราชการ ทหาร และกลุ่มทุนใหญ่ 7-8 กลุ่ม จึงจะก่อปัญหาความขัดแย้งมากขึ้นในอนาคต

ทางออกหรือทางเลี่ยงได้บ้าง สำหรับการแก้ไขความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สิ่งแรกสุดที่ต้องทำและต้องทำในเร็ววัน คือ รัฐบาลทหารต้องเรียนรู้ให้มากขึ้นในเรื่องความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยทุกมิติ  

การเรียนรู้ของรัฐบาลทหารจำเป็นที่จะต้องปล่อยให้เกิดการสื่อสารของความคิดเห็นที่แตกต่าง ในเมื่อพวกท่านวางเงื่อนไขรัฐธรรมนูญไว้ขนาดนี้แล้วก็ลองเรียนรู้ที่จะอยู่กับความหลากหลายของสังคมไทยบ้างซิครับ อย่ามัดมือชกเพียงฝ่ายเดียวอย่างนี้

ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นความห่วงใยอนาคตอันใกล้ของสังคมไทย เพราะความไม่รู้เรื่องของรัฐบาลทหารนี้จะส่งผลเสียอย่างใหญ่หลวงต่อสังคมไทยครับ