มิติใหม่ของการทำประกันภัยสำหรับผู้รักสัตว์เลี้ยง

มิติใหม่ของการทำประกันภัยสำหรับผู้รักสัตว์เลี้ยง

เมื่อกล่าวถึงการประกันภัย เราทุกคนต่างรู้จักและคุ้นเคยกันดี เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อลด

หรือบรรเทาความไม่แน่นอน ความเสี่ยงและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินจากเหตุการณ์ที่ไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

ในทางกฎหมาย การประกันภัยหมายถึงการกระจายความเสี่ยงภัยที่อาจจะมีขึ้นในอนาคตไปให้บุคคลอื่นรับภาระแทนโดยการทำสัญญาประกันภัย 

ผู้เอาประกันภัยตกลงจะชำระเบี้ยประกันภัย และผู้รับประกันภัยตกลงจะชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าทดแทนให้ หากเกิดเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งขึ้นตามที่กำหนดไว้ในสัญญา และกรมธรรม์ประกันภัย

ตัวอย่างเช่น การเสียชีวิต การบาดเจ็บหรือทุพพลภาพจากอุบัติเหตุหรือเหตุอื่นๆ เป็นต้น หรือผู้รับประกันภัยตกลงจะจ่ายเงินเอาประกันชีวิตให้แก่ผู้รับประโยชน์ เมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิต รวมถึงการมีชีวิตอยู่ภายในกำหนดระยะเวลา เช่น 5 ปี 15 ปี หรือ 25 ปี เป็นต้น

สำหรับรูปแบบของการประกันภัยที่เป็นที่คุ้นเคยในหมู่ประชาชนทั่วไป ได้แก่ ทำประกันวินาศภัยและประกันชีวิต เนื่องจากเป็นการทำประกันภัยเพื่อคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของตนเอง 

สิ่งที่ถูกเอาประกันภัยโดยส่วนมากคือสุขภาพอนามัย ความมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ตลอดจนทรัพย์สินของผู้เอาประกันภัย เช่น ประกันสุขภาพ ประกันชีวิต ประกันอัคคีภัย ประกันอุบัติเหตุ เป็นต้น

ผู้เอาประกันภัยสามารถตัดสินใจได้อย่างอิสระที่จะทำสัญญาประกันภัยกับผู้รับประกันภัยที่ตนเองมีความเชื่อมั่น และเห็นว่าจะได้รับประโยชน์จากกรมธรรม์ประกันภัยมากที่สุด

แม้การทำประกันภัยทรัพย์สินอาจไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย แต่ถ้าจะกล่าวถึงการทำ “ประกันภัยสัตว์เลี้ยง” แล้วก็อาจจะเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับบางคน

การประกันภัยสำหรับสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขและแมว ถือเป็นผลิตภัณฑ์ประกันภัย ที่กำลังได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้รักสุนัขและแมว เนื่องจากในปัจจุบันนี้ประชาชนทั่วไป นิยมเลี้ยงสุนัขและแมวไว้ในบ้านเรือน อาจเป็นการเลี้ยงไว้เพื่อความเพลิดเพลิน เฝ้าดูแลทรัพย์สิน เป็นพ่อแม่พันธุ์หรือเพื่อการอื่น ๆ 

ผู้เลี้ยงจำนวนมากที่มีความรู้สึกรักและผูกพันต่อสัตว์เลี้ยงเสมือนเป็นสมาชิกในครอบครัวจึงต้องการทำประกันภัยให้แก่สัตว์เลี้ยงของตน 

อีกทั้งในทางกฎหมายแล้ว เจ้าของ หรือผู้ดูแลสัตว์เลี้ยง มีหน้าที่ต้องดูแลรักษาสัตว์เลี้ยงของตนเอง ไม่ให้ก่อภยันตราย หรือก่อความเสียหายต่อบุคคลอื่น มิเช่นนั้นแล้ว เจ้าของ หรือผู้ดูแลสัตว์เลี้ยงต้องรับผิดชอบ 

การทำประกันภัยสัตว์เลี้ยงจึงเป็นหนทางหนึ่ง ที่จะช่วยกระจายความเสี่ยงภัย อันเป็นภยันตรายหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสัตว์เลี้ยงที่อาจจะมีขึ้นในอนาคตไปให้บุคคลอื่น คือผู้รับประกันภัยรับภาระแทน

เมื่อผู้เขียนได้ศึกษากรมธรรม์ประกันภัยสุนัขและแมวของผู้รับประกันภัยรายต่างๆ แล้ว สามารถสรุปสาระสำคัญของกรมธรรม์ประกันภัยในเรื่องความคุ้มครอง 

เงื่อนไขการรับประกันภัยและข้อยกเว้นความคุ้มครองดังนี้

1) การคุ้มครองการเสียชีวิตของสัตว์เลี้ยงเนื่องจากการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วย ค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วย 

ความรับผิดต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของบุคคลภายนอกอันเนื่องมาจากสัตว์เลี้ยง ค่าใช้จ่ายในการโฆษณา การประกาศเพื่อติดตามสัตว์เลี้ยงที่สูญหาย และค่าฉัดวัคซีนป้องกันโรคในสัตว์เลี้ยง

2) เงื่อนไขการรับประกันภัย กำหนดให้สัตว์เลี้ยงต้องมีอายุระหว่าง 3 เดือนถึง 7 ปี มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ได้รับการฉีดวัคซีนครบตามประเภทโรคและกำหนดเวลาตามมาตรฐาน 

สัตว์เลี้ยงต้องอยู่ในอาณาเขตประเทศไทย ซึ่งจำนวนกรมธรรม์ประกันภัยสูงสุดที่สามารถทำได้คือ 1 ฉบับต่อสัตว์เลี้ยง 1 ตัว

3) กรมธรรม์ประกันภัยจะไม่คุ้มครองการเสียชีวิต หรือเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นในช่วง 60 วันแรก นับจากวันที่กรมธรรม์ประกันภัยมีผลบังคับ 

การเสียชีวิตหรือเจ็บป่วยที่มีสาเหตุมาจากโรค การถูกฆ่าโดยเจตนา ถูกวางยาพิษหรือถูกกลั่นแกล้ง การอยู่รวมกันในที่แออัด การขาดอากาศหายใจเนื่องจากคลื่นความร้อน สงครามทุกประเภท การปฏิวัติ การนัดหยุดงาน เป็นต้น

หากพิจารณาสาระสำคัญของกรมธรรม์ประกันภัยดังที่กล่าวข้างต้นแล้วจะพบว่า การทำประกันภัยสุนัขและแมวสามารถให้ความคุ้มครองต่อสัตว์เลี้ยง ต่อเจ้าของสัตว์เลี้ยง และต่อผู้รับได้ความเสียหายจากสัตว์เลี้ยงอย่างครอบคลุม ประกอบกับจำนวนเบี้ยประกันภัยที่ไม่สูงมากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนทุนประกันภัย ทำให้ผู้เขียนเชื่อว่า กรมธรรม์ประกันภัยสัตว์เลี้ยง สามารถตอบสนองต่อความต้องการของเหล่าผู้รักสุนัขและแมวได้เป็นอย่างดี 

อย่างไรก็ตาม การทำประกันภัยเช่นว่านี้ก็ยังคงอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ผู้ขอเอาประกันภัย ซึ่งเป็นเจ้าของสุนัขและแมว จะต้องตอบคำถามในใบคำขอเอาประกันภัยให้ตรงตามความเป็นจริง 

หากมีการปกปิดข้อเท็จจริงใด ๆ หรือมีการแถลงข้อความอันเป็นเท็จแล้ว อาจเป็นสาเหตุให้บริษัทผู้รับประกันภัยปฏิเสธไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยได้

ท้ายที่สุดแล้วการทำประกันภัยในอดีตที่มุ่งคุ้มครองสุขภาพอนามัย ชีวิตและทรัพย์สินของมนุษย์นั้น ได้มีพัฒนาการตามความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมืองไปสู่การมุ่งคุ้มครองสัตว์เลี้ยงที่น่ารักอย่างสุนัขและแมว 

แม้ว่าสุนัขและแมวจะมิได้รับรู้ถึงความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยด้วย แต่การสร้างผลิตภัณฑ์ประกันภัยเช่นว่านี้มีส่วนช่วยให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงผู้เอาประกันภัย และบุคคลผู้ได้รับความเสียหายจากสัตว์เลี้ยงต่างก็ได้รับประโยชน์มากขึ้น  และเชื่อว่าจะเกิดผลดีต่อคุณภาพชีวิตของสัตว์เลี้ยงซึ่งได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยด้วยเช่นกัน

โดย... 

ดร. กฤษรัตน์ ศรีสว่าง

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์