ได้เวลา : Powell Put ?

ได้เวลา : Powell Put ?

ภายในสิ้นเดือนนี้ ผมว่าตลาดหุ้นสหรัฐน่าจะมาถึงจุดที่เลือกข้าง ระหว่างยังคงผันผวนเหมือนกับสัปดาห์ที่แล้ว หรือจะมียาดีมาช่วยหยุด

หรือชะลอความผันผวนนี้ได้ โดยยาดีที่ว่านี้ ผมขอคาดการณ์ว่าจะมีชื่อว่า Powell Put

หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับ Greenspan Put, Bernanke Put และ Yellen Put ที่นักวิเคราะห์ได้สรรหาคำมาอธิบายตัวช่วยจากประธานธนาคารกลางสหรัฐในยุคต่างๆ ด้วยเหตุผล หรือปัจจัยที่ไว้ใช้ช่วยเหลือตลาดที่แตกต่างกัน ดังนี้ 

เริ่มจาก Greenspan Put ที่นักวิเคราะห์คิดค้นคำนี้เมื่อปี 1998 เมื่อบริษัทเฮดจ์ฟันด์ Long Term Capital Management หรือ LTCM ที่มีนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลนามว่า ไมรอน สโชลว์ส เป็นเจ้าของร่วม กำลังจะล้มลงเนื่องจากคาดการณ์ตลาดผิดทาง 

อลัน กรีนสแปน ประธานธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดในขณะนั้นก็ได้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อให้ LTCM สามารถกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำ เพื่อจ่ายภาระหนี้ที่ต้องจ่ายคืนทันที 

ในระยะเวลาต่อมา คำว่า Greenspan Put ก็นำมาใช้ในความหมายตามความเห็นของนักวิเคราะห์ ที่สังเกตว่ากรีนสแปนมักจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในยามที่ตลาดหุ้นสหรัฐร่วงลงแรงๆ

สำหรับ Bernanke Put นั้น เป็นความหมายที่แตกต่างจาก Greenspan Put ตรงที่ เบน เบอร์นันเก้ อดีตประธานเฟดมักจะช่วยตลาดพันธบัตรมากกว่า 

ในช่วงหลังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ได้มีความกังวลว่าจะเกิด Secular Stagnation หรือ สภาวะความเสื่อมถอยเรื้อรัง โดยในขณะนั้น เศรษฐกิจสหรัฐมีระดับหนี้ต่อจีดีพีค่อนข้างสูง การเจริญเติบโตของประชากรเริ่มลดลง รวมถึงมีความเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่างคนในประเทศค่อนข้างมาก ส่งผลให้อุปสงค์ของผู้บริโภคลดลง ทว่าไปกระตุ้นการออมของคนในประเทศมากกว่า

ในทางกลับกันการชะลอตัวลงของผลิตภาพในการผลิตและของผลผลิตได้ไปทำให้การลงทุนชะลอตัวลง ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยที่เป็นอัตราตามธรรมชาติ หรือ อัตราผลตอบแทนที่ความต้องการในการลงทุนเท่ากับอุปทานของการออม จึงมีระดับที่ลดลง และ มีโอกาสที่จะเป็นค่าติดลบด้วย 

อย่างไรก็ดี อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงไม่สามารถมีค่าติดลบได้ ยกเว้นอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับสูงมากๆ เท่านั้น ซึ่งในขณะนี้ยังมิได้เป็นเช่นนั้น หากเป็นเช่นนี้จริง สถานการณ์เศรษฐกิจในสหรัฐตอนนั้น จึงอาจจะอยู่ในช่วงที่เงินออมท่วมเศรษฐกิจอยู่ ทั้งนี้ จากการที่การบริโภคและการลงทุนยังคงน้อยอยู่ เศรษฐกิจสหรัฐจึงอาจมีโอกาสจะซบเซาไปอีกนาน

เบอร์นันเก้ จึงได้ออก QE หรือมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ 3 ครั้ง เพื่อช่วยสกัดไม่ให้เกิดภาวะเงินฝืด และเกิดผลเสียต่อตลาดพันธบัตร เบอร์นันเก้จำเป็นต้องทำ QE เนื่องจากหากปล่อยให้ราคาพันธบัตรลดโดยไม่ซื้อพันธบัตรระยะสั้นจากธนาคารพาณิชย์ พื้นฐานเศรษฐกิจสหรัฐในช่วงนั้นก็น่าจะอ่อนกำลังเกินกว่าจะรับมือการขึ้นของอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรได้ไหว

มาถึง Yellen Put มีความคาบเกี่ยวกับ Bernanke Put ตรงที่ช่วยสกัดปรากฏการณ์ Secular Stagnation ดังที่กล่าวขั้นต้น ทว่าเพิ่มเติมตรงที่นักวิเคราะห์หลายท่านมองว่า เจนเน็ต เยลเลน อดีตประธานเฟดมองไปที่เศรษฐกิจจีนว่าจะเกิดวิกฤติไหม หากมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้น ก็จะชะลอการลด QE หรือขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อพยุงเศรษฐกิจสหรัฐไว้ไม่ให้สะดุด

ผมมองว่าการที่ตลาดหุ้นสหรัฐตกแบบรวดเดียว 10% ภายใน 10 วันนั้น ในมุมประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ถือว่าเสียฟอร์มมาก เนื่องจากเมื่อปีก่อน ทรัมป์ได้เคยทวีตไว้ว่าไม่มีทางที่ตลาดหุ้นสหรัฐจะตกทีเดียว 10% ในยุคที่เขาเป็นประธานาธิบดี 

อย่างที่ทราบกันว่าทรัมป์เป็นคนประเภท “ฆ่าได้หยามไม่ได้” สิ่งนี้จะเป็นที่มาของ Powell Put โดยในความหมายของ Powell Put ที่ผมกล่าวถึงคือการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายน้อยครั้งกว่าที่เฟดเคยส่งสัญญาณไว้ เพื่อทำให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปีที่ขึ้นมาจนจะแตะ 3% ในตอนนี้ไม่ขึ้นไปกว่านี้หรือลดลง 

ตลาดหุ้นสหรัฐจะดูมีอัตราผลตอบแทนดีขึ้นมาในทันทีเมื่อเปรียบเทียบกับของตลาดพันธบัตร ทำให้สามารถจะหยุดการไหลออกของเงินทุนจากตลาดหุ้นได้ ซึ่งผมว่าน่าจะมีอยู่ 3 เวอร์ชั่น ได้แก่

1. เวอร์ชั่นเนียนๆ คือตัวเลขเศรษฐกิจในสหรัฐ หรือต่างประเทศที่มีขนาดใหญ่ออกมาแย่กว่าที่คาด โดยขอให้ท่านผู้อ่านรอลุ้นตัวเลขอัตราเงินเฟ้อสหรัฐที่จะออกมาในค่ำคืนนี้ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ เจอโรม พาวเวลล์ ก็จะส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยน้อยครั้งกว่าที่เคยกล่าวไว้ตอนต้นปี

2. เวอร์ชั่นนี้ทรัมป์สรรหารองประธานเฟดท่านใหม่ที่จะมาแทนสแตนลีย์ ฟิชเชอร์ อดีตรองประธานเฟด มีความเป็น dovish สูง หรือไม่กังวลเงินเฟ้อมากนัก ซึ่งพาวเวลล์จะไหว้วานให้รองประธานเฟดท่านใหม่ช่วยส่งสัญญาณแทน

ท้ายสุด เป็นเวอร์ชั่นที่ทรัมป์ส่งซิกให้พาวเวลล์ ช่วยดูแลเสถียรภาพราคาของตลาดหุ้นด้วย ซึ่งตรงนี้ ผมว่างานฝากประเภทนี้ คือสิ่งที่ทำให้ฟิชเชอร์ลาออกจากรองประธานเฟดเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งพาวเวลล์เมื่อได้ซิกดังกล่าวแล้วก็จะแสดงท่าทีดังกล่าวอ้อมๆ ให้ตลาดได้รับรู้

ทั้งนี้ ขอให้จับตาการแถลงต่อรัฐสภาของพาวเวลล์ช่วงสิ้นเดือนนี้ เพื่อดูความชัดเจนถึงความอยากจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของพาวเวลล์ว่าจะรัอนแรงแค่ไหน

โดยสรุป ผมเพิ่งถึงบางอ้อในวันนี้ว่าเหตุใด สตีเฟน มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐเมื่อ 5-6 เดือนก่อน จึงโน้มน้าวให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เลือกพาวเวลล์ให้เป็นประธานเฟดแทนเยลเลน เพราะ ณ ปี 2018 คงไม่มีทางจะมี Yellen Put ตามดำริของทรัมป์อย่างแน่นอนหากเธอยังอยู่ในตำแหน่ง แต่ ณ เวลานี้ ที่ประธานเฟด ชื่อ เจอโรม พาวเวลล์ อาจจะมี Powell Put เกิดขึ้นได้ในปีนี้