ยาแก้หวัดกับการแก้คดี

ยาแก้หวัดกับการแก้คดี

ผมมีความเชื่อว่า 'ป้องกัน' ดีกว่า 'แก้' ผมจึงอยากใช้วิธี 'ป้องกัน' ในการดูแลสุขภาพของตนเองเสมอมา

ในการทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น ผมมีความเชื่อส่วนตัวว่า
นักกฎหมายที่ร่างสัญญาได้ดีนั้นจะต้องสามารถร่างสัญญาเพื่อ 'ป้องกัน' ไม่ให้คู่สัญญาไปมีข้อพิพาทกันต่อไปภายใต้สัญญานั้น สัญญาที่ดีจึงต้องครอบคลุมประเด็นสำคัญที่คู่สัญญาจะต้องเผชิญและมีโอกาสที่จะมีความเห็นแตกต่างกันในอนาคตให้ได้มากที่สุด และในแต่ละประเด็นนั้นนักกฎหมายผู้ร่างจะต้องมีความสามารถในการเขียนถ้อยคำของสัญญาให้มีความชัดเจนและครบถ้วนอ่านแล้วเข้าใจได้เป็นอย่างเดียวกัน ไม่ว่าใครจะเป็นผู้อ่านก็ตาม

ส่วนนักกฎหมายที่ทำงานด้านคดีความนั้น ผมมีความเชื่อส่วนตัวว่าการทำงานที่ดีคือจะต้องสามารถ 'ป้องกัน' ไม่ให้คู่กรณีต้องใช้เวลาในศาลยาวนานเกินไป คือ ทำการศึกษาวางรูปคดีจนกระทั่งเห็นประโยชน์ได้เสียและโอกาสแพ้ชนะคดีของแต่ละฝ่ายชัดเจน เพื่อนำไปสู่การตกลงเลิกแล้วต่อกันหรือประนีประนอมยอมความกันได้ในที่สุด รวมทั้งในกรณีที่ลูกความนำเรื่องมาปรึกษาหารือตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะสามารถศึกษาหาลู่ทางเพื่อ 'ป้องกัน' ไม่ให้เกิดเป็นคดีความขึ้นมา เพราะกระบวนการในศาลนั้นจะทำให้ลูกความต้องเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายสูงซึ่งหลายๆ ครั้งก็เป็นกรณีได้ไม่คุ้มเสีย

ทั้งหมดนี้มาจากความเชื่อของผมที่ว่า 'ป้องกัน' ดีกว่า 'แก้' ซึ่งดูเหมือนจะสวนทางกับความเชื่อที่แฝงอยู่ในวิชาชีพกฎหมาย โดยในเรื่องของคดีความนั้นบทบาทของนักกฎหมายจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีเรื่องที่จะต้องฟ้องคดีหรือมีการฟ้องคดีเกิดขึ้นแล้ว ดังจะเห็นได้จากการพูดถึงหน้าที่ของเราว่าเป็น 'การแก้คดี' ไม่ใช่ 'การป้องกันคดี' ส่วนในเรื่องการร่างสัญญานั้น นักกฎหมายก็มุ่งแต่ความได้เปรียบเสียเปรียบไม่ได้ให้ความสนใจมากนักกับความไม่ชัดเจนของข้อความที่ใช้หรือแม้กระทั่งภาพใหญ่ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ของคู่สัญญาที่อาจขัดแย้งกับข้อความในสัญญา และเมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้นแล้วจึงค่อยมาเจรจาตกลง 'แก้' สัญญากัน ซึ่งถ้าตกลงกันไม่ได้ก็จะเกิดเป็นข้อพิพาท

เมื่อเปรียบเทียบนักกฎหมายกับแพทย์จะพบว่ามีความคล้ายคลึงกันหลายอย่างจนกระทั่งมีคำเปรียบเปรยว่านักกฎหมายก็คือ 'หมอความ' ซึ่งผมคิดว่ามีส่วนจริงอยู่มาก เพราะการที่คนๆ หนึ่งต้องเข้าเป็นคู่ความในคดีย่อมก่อให้เกิดปัญหาแก่เขา การ 'แก้คดี' จึงเป็นการดูแลรักษาให้ปัญหานั้นยุติไปให้ได้ผลดีที่สุดภายใต้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ ซึ่งเปรียบได้กับแพทย์หรือ 'หมอคน' ที่ทำหน้าที่ 'แก้' ไขอาการเจ็บป่วยที่คนไข้เป็นอยู่ให้ได้ผลดีที่สุด

ดังนั้น เมื่อผมมีความเชื่อว่า 'ป้องกัน' ดีกว่า 'แก้' ผมจึงอยากใช้วิธี 'ป้องกัน' ในการดูแลสุขภาพของตนเองเสมอมา จำได้ว่าครั้งหนึ่งเมื่อผมเริ่มมีอาการหวัด ซึ่งในสมัยนั้นก็จะมีอาการไอและเจ็บคออย่างรุนแรงตามมาทุกครั้ง ผมจึงได้ไปหาซื้อยา 'แก้หวัด' ที่คุณหมอเคยสั่งให้ผมมาทานเพื่อ 'ป้องกัน' ไม่ให้เป็นหวัดต่อไปจนถึงขั้นไอและเจ็บคออย่างรุนแรง แต่ปรากฏว่าไม่ได้ผล อาการหวัดก็ยังไม่ทุเลา ผมจึงรีบไปหาคุณหมอที่โรงพยาบาลโดยเร็วเพื่อให้จัดยาชุดใหม่ให้แทน จะได้ 'ป้องกัน' ไม่ให้เป็นหวัดและมีอาการในขั้นต่อไป เมื่อผมอธิบายให้คุณหมอฟังว่าผมได้ทานยาเพื่อ 'ป้องกัน' มาแล้ว ผมกลับได้รับคำแนะนำว่ายาแก้หวัดที่ผมทานเป็นการ 'แก้' คือไปฆ่าเชื้อโรค ไม่ใช่การ 'ป้องกัน' จึงไม่ได้ผลตามที่ผมคาดหวัง และการที่ผมมาหาคุณหมอในขณะที่อาการยังไม่มีความชัดเจน คุณหมอก็จะจ่ายยา 'แก้' ให้ไม่ถูกต้อง เพราะหวัดมีหลายสายพันธุ์ต้องให้ยาให้ตรงกันกับชนิดของเชื้อโรค และการที่ผมทานยาก่อนที่จะมีอาการชัดเจนนั้นจะทำให้อาการเห็นช้า เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ จึงสรุปได้ว่า 'ยาแก้หวัด' ไม่ใช่การ 'ป้องกัน' หวัด ผมก็เลยขอฉีดวัคซีน 'ป้องกัน' หวัดในอนาคต ก็ได้รับคำตอบว่าก็ 'ป้องกัน' ได้เฉพาะบางสายพันธุ์ 'ป้องกัน' ทั้งหมดไม่มี

ดังนั้น เมื่อนายแพทย์ตนุพล วิรุฬหการุญ (คุณหมอแอมป์) ของโรงพยาบาลกรุงเทพ ออกมาพูดถึงเวชศาสตร์ 'ป้องกัน' เพื่อให้เกิดสุขภาพดีตามแนวคิดของศาสตร์ชะลอวัย (Anti-Aging) โดยการปรับวิตามินเกลือแร่ในร่างกายให้สมดุล การดูแลเรื่องการกิน การนอน การออกกำลังกาย และความเครียด จึงเป็นเรื่องที่ตรงใจผมเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการ 'ป้องกัน' (prevention) ไม่ให้เกิดการเจ็บป่วย แทนที่จะเป็นการรอให้เกิดการเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นแล้วค่อยไปทำการรักษา คือ 'แก้' (Cure)

ผมรู้จักกับคุณหมอแอมป์มานาน เมื่อได้โอกาสจึงได้ขอนัดเข้าไปพูดคุยขอความรู้ ซึ่งหลังจากการสนทนาในวันนั้นผมก็ได้สมัครใจเข้าเป็นผู้ที่ดูแลสุขภาพของตนเองตามแนวคิดสายเวชศาสตร์ 'ป้องกัน' ภายใต้การดูแลของคุณหมอแอมป์ด้วยความเต็มใจยิ่ง ตลอดเวลาของการพูดคุยกันนั้น
ผมทราบดีว่าคุณหมอแอมป์ไม่ได้มีเจตนาที่จะโน้มน้าว (Influence) ผม แต่ผมพบว่าคุณหมอแอมป์มีความสามารถในด้านนี้สูงเป็นพิเศษและสามารถทำให้ผมเกิดความเชื่อถือและเลื่อมใสได้ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นจากการที่หมอแอมป์มีสถานะเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้โดยตรง (Positional Power) การที่หมอแอมป์นำเสนอเรื่องราวแบบผู้รู้จริงประกอบด้วยรายงานการศึกษาทางวิชาการสนับสนุนให้เข้าใจได้เป็นขั้นเป็นตอน (Expertise) การที่ผมรู้สึกได้ถึงการทุ่มเทศึกษาในเรื่องนี้อย่างจริงจังของหมอแอมป์ (Emotion) และอากัปกิริยาที่เปี่ยมด้วยความมั่นใจของหมอแอมป์ (Nonverbal Signals) (ทั้งหมดนี้ถือเป็นส่วนประกอบของ The Four Components of Influence จากหนังสือ Power Cues: The Subtle Science of Leading Groups, Persuading Others, and Maximizing Your Personal Impact เขียนโดย Nick Morgan)