Workaholics กับ Work Engagement

Workaholics กับ Work Engagement

ท่านผู้อ่านเป็นคนบ้าทำงานหรือรู้จักใครที่บ้าทำงาน จนถึงขั้นที่ฝรั่งเรียกว่าเป็น Workaholics

หรือ Work Addiction ที่พอแปลเป็นไทยได้ว่า เป็นโรคเสพติดการทำงานบ้างไหม

ถ้านึกไม่ออกว่าอาการเสพติดการทำงานเป็นอย่างไร ลองนึกเปรียบเทียบกับอาการเสพติดอื่นๆ ก็ได้ นั้นคือเป็นอาการที่อยาก และต้องการจะทำงานตลอดเวลา อีกทั้งมีความรู้สึกจะต้องทำงานตลอดเวลา หยุดไม่ได้ ทั้งๆ ที่รู้ว่าการทำงานที่มากเกินไป จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ ความสัมพันธ์ทางสังคม และความสัมพันธ์ในครอบครัว

การทำงานตลอดเวลา การทำงานติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนานไม่ได้พักผ่อน หรือ ไม่มีวันหยุด เป็นที่รับรู้กันว่า จะส่งผลเสียต่อสุขภาพของตนเองและความสัมพันธ์กับคนรอบตัว

อย่างไรก็ตามมีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Academy of Management Discoveries ที่ค้นพบว่า จริงๆ แล้วการทำงานหนักจนถึงขั้นเสพติดกับงานนั้น มีระดับของการส่งผลเสียต่อสุขภาพที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกประการคือ Work Engagement หรือความผูกพัน และมุ่งมั่นในงาน

กลุ่มคนที่ทำงานหนัก ทำงานนาน และมีโอกาสสูงที่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพนั้น จะเป็นพวกที่ขาดความผูกพันและมุ่งมั่นในการทำงาน คนกลุ่มนี้มักจะพวกที่มีอาการหดหู่ มีปัญหาในการนอนหลับ และมีความเสี่ยงต่อปัญหาในด้านสุขภาพต่างๆ

ขณะเดียวกันถ้าคนทำงานเป็นผู้ที่มีความผูกพัน ความมุ่งมั่นในการทำงาน (หรือจะเรียกเป็นไทย คือทำงานด้วยใจรัก) จะพบว่าการทำงานอย่างหนัก และทำงานนานนั้น จะมีโอกาสน้อยกว่าที่ผลของการทำงานหนักจะส่งผลต่อสุขภาพ

งานวิจัยชิ้นนี้ต้องการชี้ให้องค์กรต่างๆ เห็นว่า ถ้าผู้บริหารขององค์กรสามารถทำให้พนักงานเกิดความผูกพัน ความมุ่งมั่น และมีใจที่จะทำงาน (work engagement) ประกอบกับถ้าพนักงานทุ่มเทให้กับการทำงานอย่างหนัก ย่อมจะส่งผลดีกับองค์กร โดยไม่ได้ส่งผลเสียให้กับพนักงานอย่างมากมายเท่าที่เคยกังวลกันมาในอดีต

สิ่งที่ผู้ที่มีอาการเสพติดการทำงานควรจะถามตัวเองตลอดก็คือ “อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ต้องทำงานหนัก เป็นเพราะมีใจรักในงานที่ทำ ทำงานหนักเพราะอยากจะเห็นผลงานของตนเอง และเห็นองค์กรดีขึ้น?” ถ้าคำตอบคือใช่ ก็ยังสามารถทำงานแบบเดิมต่อไปได้ (แต่ต้องระวังเรื่องการพักผ่อน สุขภาพ และความสัมพันธ์ด้วย) แต่ถ้าคำตอบคือไม่ใช่ ยิ่งจะต้องระวังว่าการทำงานที่หนักและนานนั้นมีสิทธิ์ที่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพได้อย่างง่ายดาย

อย่างไรก็ดีความยากไม่ใช่การทำให้พนักงานทำงานนานขึ้น หรือ ทำงานในวันหยุด แต่เป็นการทำให้พนักงานเกิดความผูกพันและมุ่งมั่นกับการทำงาน

ปัจจุบันองค์กรขนาดใหญ่เกือบทุกแห่งจะมีการทำ engagement survey และผลออกมานั้นผู้บริหารก็มักจะพบว่าพนักงานของตนเองไม่ได้มี work engagement มากเท่าที่ผู้บริหารคิดหรือต้องการ 

งานวิจัยหลายๆ ชิ้น มักจะชี้ออกมาตรงกันว่า สาเหตุหลักที่ทำให้พนักงานเกิดอาการ Disengagement นั้นก็คือมาจากตัวผู้บริหารนั้นเอง (ซึ่งผู้บริหารส่วนใหญ่ก็มักจะไม่ค่อยรู้ตัว) โดยสาเหตุนี้ยังครอบคลุมถึงพฤติกรรม รูปแบบและสไตล์การบริหารของตัวผู้บริหารอีกด้วย

นอกจากปัญหาที่ตัวผู้บริหารและวิธีการบริหารแล้ว สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิด Disengagement ก็มักจะหนีไม่พ้นเรื่องของการ ไม่มีโอกาสในการพัฒนาและเติบโต การขาดการสื่อสารระหว่างผู้บริหารกับพนักงานอย่างเพียงพอ การขาดแรงจูงใจในการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานหรือผู้บังคับบัญชาระดับต้น หรือแม้กระทั่งความรู้สึกที่ไม่ได้รับความเท่าเทียมหรือความสำคัญในที่ทำงาน เป็นต้น

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการทำงานหนักถึงขั้นเป็นอาการเสพติดการทำงานนั้น ไม่ได้เป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพตนเองและกับคนรอบข้างเท่าใด แต่ยิ่งถ้าพนักงานขาดความผูกพันในที่ทำงาน และยังต้องทำงานหนัก และทำงานนานอีก ยิ่งจะมีโอกาสส่งผลเสียต่อสุขภาพมากขึ้นไปอีก 

ดังนั้นก็กลับมาที่ประเด็นสำคัญครับคือผู้บริหารจะต้องทำให้พนักงานเกิดความผูกพัน ความมุ่งมั่นในการทำงานหรือที่เรียกว่า Work Engagement ให้ได้