ใช่เธอ (ฟองสบู่) หรือเปล่า

ใช่เธอ (ฟองสบู่) หรือเปล่า

การปรับตัวลดลงของดัชนีราคาของตลาดหุ้นที่นิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ที่แล้วจนลามไปสู่การปรับตัวลดลงของดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกในต้นสัปดาห์นี้

 ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ตลาดหุ้น จะต้องมีการปรับฐานในทิศทางขาลง และสอดคล้องกับการคาดหมายของหลายฝ่ายก่อนหน้านี้ 

ส่วนที่ไม่มีใครรู้ได้ล่วงหน้าก็น่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ จุดเวลาที่ดัชนีหุ้นจะปรับตัวลดลงเมื่อไร หรือลดลงกี่ครั้ง และการลดลงในแต่ละครั้งจะมีขนาดเท่าไหร่กันแน่

ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน Professor Nouriel Roubini แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์กได้เขียนวิเคราะห์เอาไว้ว่า ดัชนีราคาของตลาดหุ้นสหรัฐที่พุ่งสูงติดต่อกันเป็นประวัติการณ์นั้น มีสาเหตุมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการคาดการณ์เกี่ยวกับนโยบายการปรับโครงสร้างภาษี ของสหรัฐ 

อย่างไรก็ตาม เมื่อราคาหุ้นได้ปรับตัวขึ้นไปจนถึงจุดๆ หนึ่งแล้ว ก็จะมีผลทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวต้องปรับตัวสูงขึ้นด้วย ซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียต่อภาคธุรกิจบางสาขาตามมา 

ผลการวิเคราะห์นี้ก็สอดคล้องกับคำอธิบายของนักวิเคราะห์ทั้งหลายที่ว่า การปรับตัวลดลงของดัชนีหุ้นในครั้งนี้ เป็นผลมาจากการที่นักลงทุนส่วนใหญ่เริ่มหวั่นเกรงว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐ อาจจะรีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบาย และอาจจะปรับถี่มากขึ้นกว่าเดิมที่คาดกันไว้ อันเป็นผลมาจากตัวเลขการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และภาวะการจ้างงานที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าการปรับตัวที่ลดลงของดัชนีราคาหุ้นในครั้งนี้ จะเป็นเพียงการปรับตัวในระยะสั้นเท่านั้น และตลาดจะสามารถกลับเข้าสู่สภาะปกติได้ในไม่ช้า จึงไม่ควรตื่นตระหนกหรือรีบเทขายหุ้นออกมาในช่วงนี้

แม้ว่าคำแนะนำของนักวิเคราะห์เหล่านี้อาจจะถูกต้องตามสถานการณ์ในระยะสั้น แต่ในระยะยาวแล้วนักลงทุนก็ยังคงมีปัญหาที่ค้างคาอยู่ว่า หากการปรับลดลงของดัชนีหุ้นในครั้งนี้ ยังไม่สามารถทำให้ระดับราคาหุ้นที่สูงเกินจริงถูกปรับลดลงมามากพอจนใกล้เคียงกับมูลค่าพื้นฐานที่แท้จริงแล้ว ตลาดก็จะยังคงมีความเสี่ยงอยู่กับภาวะราคาหุ้นที่สูงเกินจริง (หรือภาวะฟองสบู่) กันต่อไป 

คำตอบส่วนหนึ่งอาจอยู่ที่ผลการวิเคราะห์ของ Professor Robert J. Shiller แห่งมหาวิทยาลัยเยลที่เสนอว่า หากดูจากสัดส่วนของราคาหุ้นต่อรายรับต่อหุ้นที่เขาพัฒนาขึ้นมา และเป็นที่รู้จักกันในชื่อ Cyclically Adjusted Price-Earnings (CAPE) Ratio และจัดทำขึ้นสำหรับประเทศต่างๆ จำนวน 26 ประเทศด้วยกันนั้น จะพบว่าสัดส่วนดังกล่าว (ข้อมูลถึงวันที่ 29 ธ.ค. 2560) ในกรณีของสหรัฐจะมีค่าสูงกว่าประเทศอื่นๆ ที่เหลือทั้งหมด ทำให้ตั้งคำถามได้ว่า ราคาหุ้นในตลาดหุ้นสหรัฐน่าจะมีค่าสูงเกินกว่ามูลค่าพื้นฐานที่แท้จริงหรือไม่ 

ทั้งนี้ มูลค่าพื้นฐานที่แท้จริงของหุ้นเหล่านั้นจะประมาณการได้จากความสามารถในการจ่ายเงินปันผลในระยะยาวของบริษัทที่ออกหุ้นเหล่านั้น และเป็นผลมาจากการมีอัตราการขยายตัวทางธุรกิจที่สูงในอนาคตของบริษัทเหล่านั้นนั่นเอง

ผลการศึกษาของ Professor Shiller ชี้ต่อไปว่า จากฐานข้อมูลที่ย้อนกลับไปในอดีตของสหรัฐ การศึกษาไม่พบความสัมพันธ์ใดๆ ระหว่างค่าของสัดส่วน CAPE เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการขยายตัวของรายรับผลตอบแทนในอนาคต (real earnings growth) ของในช่วงเวลาอีก 10 ปีข้างหน้า 

หรืออีกนัยหนึ่ง การที่ราคาหุ้นในสหรัฐที่ผ่านมาได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น อาจไม่ได้มีสาเหตุมาจากผลประกอบการทางธุรกิจของบริษัทที่จะดีขึ้นในอนาคตแต่อย่างไร 

ดังนั้น เมื่อไม่ใช่ปัจจัยพื้นฐานที่มารองรับกับการปรับตัวที่สูงขึ้นของราคาหุ้นแล้ว จึงมีความเสี่ยงที่เป็นไปได้ว่า ราคาหุ้นที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากก่อนหน้านี้ ก็อาจจะเป็นผลมาจากภาวะราคาฟองสบู่ด้วยหรือไม่อย่างไร 

ประเด็นที่คงต้องจับตาดูกันเป็นพิเศษต่อไป ก็น่าจะเป็นเรื่องทิศทางการดำเนินนโยบายทางการเงิน และแนวทางการปรับอัตราดอกเบี้ยของประธานเฟดคนใหม่ว่า จะสามารถรับมือกับความผันผวนของราคาหุ้นในตลาด ที่เต็มไปด้วยความสลับซับซ้อน และในช่วงเวลาที่สำคัญเช่นนี้ ไปพร้อมๆ กับการรักษาไว้ซึ่งเสถียรภาพของเศรษฐกิจสหรัฐในภาพรวม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบที่เสียหายต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของทั้งสหรัฐ และของโลกด้วยได้หรือไม่ อย่างไร