ราชนีติ : วิถีพระราชามรรคาผู้นำ (6)

ราชนีติ : วิถีพระราชามรรคาผู้นำ (6)

ในตอนที่แล้ว ได้กล่าวถึงคาถาบทที่ 22-31 ซึ่งมีประเด็นสำคัญอยู่ 2 เรื่อง คือ “รู้จักย่ำยีข้าศึกให้พินาศ” กับ “พระเจ้าอยู่หัวต้องทรงแต่ดี

ประกอบด้วยคุณมีสัมพันธมิตรเป็นต้น” รายละเอียดเป็นเช่นไรขอเชิญย้อนกลับไปอ่านได้ในตอนที่ 5 ดังกล่าว 

ในตอนที่ 6 นี้จะได้ศึกษาคาถาบทต่อๆ ไป ประกอบด้วย

คาถาบทที่ 32 พระเจ้าอยู่หัว ต้องทราบวิธีทำลายข้าศึก ทรงชนะความโกรธเสียได้ ไม่มักได้ ไม่มัวหลับ ไม่เกียจคร้าน มีพระทัยเผื่อแผ่ ทรงสั่งสอนคนโง่ให้เป็นฉลาดได้

คาถาบทที่ 33 พระเจ้าอยู่หัว ต้องดำรงพระองค์มิให้หลงลืม ไม่ทรงทำยุคเข็ญให้กับเขตแคว้น ทรงเป็นที่รักใคร่ของประชาชน ทรงเป็นที่นิยมนับถือของสัตบุรุษ ทรงทราบกาลเทศะ ทรงประกอบด้วยธรรม 7 ประการ

คาถาบทที่ 34 พระเจ้าอยู่หัว ต้องทรงรู้จักพระดำรัสที่จะตรัสในวาจาว่าควรอย่างไร ทรงฉลาดในอุบาย ทรงสอบสวนในข้อสงสัย ทรงยินดีในทานและศีล ทรงปราศรัยก่อนด้วยดี

คาถาบทที่ 35 พระเจ้าอยู่หัวทรงสมบูรณ์ด้วยคุณสมบัติตามที่กล่าวนี้ ทรงสามารถปราบปรามแผ่นดินทั้งผองได้ราบคาบ ทรงเป็นที่รองรับบุณยศิริทั้งสิ้นด้วย

ข้างบนนั้น เป็นสำนวนแปลของ นายทอง หงส์ลดารมภ์ ในที่นี้ จะขอยกสำนวนแปลของ พระยาอนุมานราชธน หรือ เสถียรโกเศศ มาเพื่อให้ผู้อ่านศึกษาเทียบเคียงด้วย ดังนี้

คาถาบทที่ 32 ท้าวพญาต้องทรงทราบวิธีทำลายข้าศึก แลเป็นผู้ชำนะความโกรธเสียได้ มีอินทรีย์อันชนะแล้ว ไม่มักได้ ไม่มัวหลับเกียจคร้าน มีพระหฤทัยเผื่อแผ่ ทรงดำรัสตามหลักวินัย

คาถาบทที่ 33 ท้าวพญาเป็นผู้ไม่หลงลืม ไม่ทรงทำยุคเข็ญ เป็นที่น่ารักน่าชม ทรงนับถือสัตบุรุษ แลทรงรู้จักกาลเทศะแลเป็นผู้กอร์ปด้วยธรรม 7

คาถาบทที่ 34 ท้าวพญาต้องรู้จักประโยชน์ของคำพูด ทรงฉลาดแนบเนียนในอุบาย ฉลาดในการไต่สวนข้อสงสัย ทรงยินดีในทานและศีล แลเป็นผู้ทรงยิ้มเป็นเบื้องต้นแล้วจึงดำรัส

คาถาบทที่ 35 ท้าวนราสภซึ่งเป็นผู้กอร์ปด้วยคุณตามที่กล่าวแล้วนั้น จะทรงชำนะแผ่นดินทั้งผอง แลเป็นที่รองรับกองบุญทั้งสิ้น

ในคาถาทั้ง 4 บทข้างต้น มีข้อที่ควรสงสัยคือ ธรรม 7 ในคาถาบทที่ 33 ว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง 

ผู้เขียน (โกศล) ได้ย้อนกลับไปดูในคาถาบทก่อนๆ ก็ไม่ปรากฏว่ากล่าวถึง “ธรรม 7” ไว้ในแห่งใด มีก็แต่ “ความสงบ 7 อย่าง” ในคาถาบทที่ 25 กับ “องค์แห่งราชัย 7 อย่าง” ในคาถาบทที่ 26 (ฉบับสำนวนของนายทอง หงส์ลดารมภ์กับฉบับพระยาอนุมาราชธนเรียก “ความสงบ 7” ตรงกัน ส่วน “องค์แห่งราชัย” ในฉบับนายทองฯ นั้น ฉบับพระยาอนุมานราชธนเรียก “องค์แห่งปราชัย”) 

เมื่อเทียบกับจักรวรรดิธรรม คือธรรมของพระเจ้าจักรพรรดิ ใน จักรพรรติสูตร ก็ประกอบไปด้วย ธรรม 12 ประการ ดังนั้น จึงยังเป็นข้อสงสัยว่า “ธรรม 7” ที่ว่านี้คืออะไร 

ที่น่าจะเป็นไปได้ที่สุดก็คือ คุณสมบัติที่กล่าวไว้ในคาถาบทที่ 32 นั่นคือ “ทราบวิธีทำลายข้าศึก ทรงชำนะความโกรธเสียได้ ไม่มักได้ ไม่มัวหลับ ไม่เกียจคร้าน มีพระทัยเผื่อแผ่ ทรงสั่งสอนคนโง่ให้เป็นฉลาดได้” ประกอบด้วย 7 ประการพอดี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 แห่งพระราชวงศ์จักรี ทรงมี “ธรรม 7” ดังกล่าวนั้นครบถ้วนอย่างแน่นอน ทั้งสิ่งที่กล่าวไว้ในทุกคาถาที่ยกมา พระองค์ก็ทรงปฏิบัติให้พวกเราได้เห็นตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ ดังนั้น จึงปรากฏว่า พระองค์ทรง “ชนะแผ่นดินทั้งผอง” และ “เป็นที่รองรับกองบุญทั้งสิ้น”

“ชนะแผ่นดินทั้งผอง” คืออย่างไร ก็คือ ชนะใจคนทั้งแผ่นดิน ทั้งในขอบเขตประเทศของพระองค์และทั่วโลก (แน่นอนว่า ไม่ใช่ชนะใจ “ทุกคน” แต่ก็ “จำนวนมากมายมหาศาล” แน่นอน) 

ในขอบเขตประเทศของพระองค์นั้น ก็ประจักษ์กันอยู่แล้ว ในขอบเขตทั่วโลกก็ย่อมปรากฏให้เห็นผ่านการยกย่องเชิดชูขององค์กร หน่วยงาน ระดับชาติในหลายประเทศ รวมถึงสหประชาชาติ ที่ยกย่อง สุดี ถวายพระเกียรติยศ ถวายรางวัลต่างๆ มากมาย 

ทั้งยังนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เรียกว่า “ศาสตร์พระราชา”ซึ่งทรงพระราชทานแก่คนไทยไปเป็นหลักอันสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวโลก ด้วยการประกาศเป็นแนวทางให้ประเทศต่างๆ นำไปใช้ ซึ่งมีหลายประเทศ เช่น ในทวีปแอฟริกาได้นำ “ศาสตร์พระราชาไปใช้อย่างได้ผล เป็นที่ประจักษ์ชัด 

เมื่อเป็นดังนี้ พระองค์จึงทรงเป็น “ที่รองรับกองบุญทั้งสิ้น” นั่นคือ ทรงมีแต่ความดีงาม มีแต่บุญกุศล เป็นบ่อเกิดแห่งความดีงาม บ่อเกิดแห่งบุญกุศลที่ยังประโยชน์แก่คนทั้งหลาย ไม่เพียงแต่ในขอบเขตประเทศของพระองค์เท่านั้น หากแต่แผ่กระจายไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ด้วย “ศาสตร์พระราชา” นั่นเอง

พระองค์จึง “ชนะแผ่นดินทั้งผอง” แต่หาได้ชนะด้วยกำลังการรบที่ใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ฆ่าฟันผู้คนเพื่อยึดแผ่นดิน ทรงชนะด้วยการรบกับความยากจนที่มี “ศาสตร์พระราชา” เป็นอาวุธสำคัญนั่นเอง