ถึงเวลาเตรียมความพร้อมกฎหมายกำหนดราคาโอน

ถึงเวลาเตรียมความพร้อมกฎหมายกำหนดราคาโอน

ถึงเวลาเตรียมความพร้อมกฎหมายกำหนดราคาโอน

เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติร่างพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เกี่ยวกับมาตรการป้องกันการกำหนดราคาโอนระหว่างบริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน (ร่าง พ.ร.บ. Transfer Pricing) กฎหมายราคาโอนใหม่นี้จะมีผลกระทบโดยตรงต่อบริษัทไทยและบริษัทข้ามชาติที่มีหน้าที่เสียภาษีในประเทศไทยในสองประเด็นหลัก

ประเด็นแรก เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรจะมีอำนาจในการปรับปรุงรายได้และรายจ่ายในธุรกรรมที่มีความสัมพันธ์กันให้สอดคล้องกับราคาตลาด กล่าวคือ ราคาโอนระหว่างคู่สัญญาที่มีความสัมพันธ์กันจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของราคาอันพึงใช้ในธุรกรรมระหว่างคู่สัญญาที่เป็นอิสระต่อกัน การปรับปรุงราคาโอนอาจทำให้ผู้เสียภาษีมีภาระภาษีต้องเสียเพิ่มพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ส่วนคำนิยามของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันนั้นจะเน้นไปที่ความสัมพันธ์การถือหุ้นและปัจจัยอื่น เช่น อำนาจการบริหารและควบคุม

ประเด็นที่สอง คือ ผู้เสียภาษีมีหน้าที่จัดทำเอกสารเกี่ยวกับราคาโอนอันประกอบด้วย (1) รายงานประจำปีที่ต้องนำส่งพร้อมแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ ซึ่งมีข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างคู่สัญญาและมูลค่าของธุรกรรมกับคู่สัญญาที่มีความสัมพันธ์กัน และ (2) เอกสารพิสูจน์ราคาโอน (Transfer Pricing Documentation) ซึ่งมีข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบธุรกิจและบทวิเคราะห์หน้าที่ความเสี่ยง ซึ่งนำมาใช้วิเคราะห์การกำหนดราคาโอนสำหรับธุรกรรมที่ระบุไว้ในรายงานประจำปี เจ้าหน้าที่ฯ สามารถร้องขอเอกสารพิสูจน์ราคาโอนดังกล่าวได้ภายใน 5 ปีหลังยื่นรายงานประจำปี และผู้เสียภาษีมีหน้าที่ปฏิบัติตามภายใน 60 วัน หากผู้เสียภาษีไม่นำส่งรายงานหรือเอกสารพิสูจน์ราคาโอน หรือนำส่งแต่มีข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนถูกต้อง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท

ร่าง พ.ร.บ. Transfer Pricing ที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรีนั้นจะมีผลบังคับใช้ในรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มต้นวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560 หรือหลังจากนั้น อย่างไรก็ดี มีแนวโน้มว่ากระทรวงการคลังและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะพิจารณาวันบังคับใช้ที่เหมาะสม และเสนอไปยังสภานิติบัญญัติเพื่อออกเป็นกฎหมายต่อไป หลังจากนั้น กรมสรรพากรจะออกกฎหมายลำดับรองเพิ่มเติม อาทิ การกำหนดรูปแบบรายงานประจำปีที่ชัดเจน การยกเว้นรายงานประจำปีให้แก่ผู้เสียภาษีขนาดเล็กหรือสำหรับธุรกรรมบางประเภท และการลดหย่อนหรือยกเว้นบทลงโทษให้แก่ผู้เสียภาษีที่จัดทำและนำส่งเอกสารพิสูจน์ราคาโอนในระยะเวลาที่กำหนด เป็นต้น

การจัดเตรียมเอกสารพิสูจน์ราคาโอนให้ครบถ้วนและเป็นปัจจุบันนั้น เป็นประโยชน์ไม่เพียงเพื่อการจัดเตรียมรายงานประจำปีให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการประเมินและบริหารความเสี่ยงทางภาษี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่กรมสรรพากรมุ่งเน้นการบังคับใช้มาตรการป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีหลังเข้าร่วมโครงการ Base Erosion and Profit Shifting (BEPS) Project ขององค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) เมื่อปีที่แล้ว

เช่นเดียวกันกับการบริหารความเสี่ยงองค์กรในมิติอื่นๆ บริษัทไม่อาจรอให้เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรเข้ามาตรวจสอบประเด็นราคาโอนแล้วจึงค่อยหาทางแก้ไข การเตรียมความพร้อมในวันนี้จะช่วยให้บริษัทวางแผนกลยุทธ์และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับราคาโอนที่เหมาะสมสามารถรองรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต