การกำกับดูแล TNC ในต่างประเทศ (2)

การกำกับดูแล TNC ในต่างประเทศ (2)

ปัจจุบันบริษัทเครือข่ายคมนาคม (Transport Network Company – TNC) กำลังได้รับความนิยมและแผ่ขยายไปในหลายๆ ประเทศทั่วโลก

สำหรับในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคเอง หลายๆ ประเทศได้เริ่มมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับรูปแบบธุรกิจใหม่นี้ ทำให้สามารถควบคุมให้มีการเข้าสู่ตลาดอย่างเป็นระบบและเพิ่มความมั่นใจทางด้านความปลอดภัยให้กับประชาชนผู้ใช้บริการมากขึ้น

หลังจากที่สิงคโปร์ได้แก้กฎหมายคมนาคมของตัวเองไปแล้ว ประเทศมาเลเซียก็ตามมาติดๆ โดยมีการแก้ไขกฎหมายคมนาคมที่มีอยู่เดิมสองฉบับคือ Land Public Transport Act 2010 และ Commercial Vehicle Licensing Board (CVLB) Act 1987 ในช่วงปลายปี 2560 ที่ผ่านมา

ตามกฎหมาย CVLB มีการนิยามคำว่า “รถที่ใช้เพื่อ e-hailing” (e-hailing vehicle) ให้หมายถึงรถที่ใช้สำหรับให้บริการรับส่งผู้โดยสารโดยมีค่าบริการ ผ่านการจัดการ จอง หรือทำธุรกรรมทางแอพพลิเคชั่นอิเล็กทรอนิกส์ (หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ride-sharing) และผู้ให้บริการ กล่าวคือตัวบริษัท TNC จะต้องได้รับใบอนุญาตเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อกับผู้โดยสารที่เรียกว่า "Intermediation Business Licence” ซึ่งออกโดยหน่วยงานที่กำกับดูแลการขนส่งสาธารณะ

ผู้ให้บริการ e-hailing ที่ประกอบธุรกิจโดยไม่มีใบอนุญาตดังกล่าวจะได้รับโทษปรับไม่เกิน 500,000 ริงกิต (หรือประมาณ 4 ล้านกว่าบาท) หรือจำคุกไม่เกินสามปีหรือทั้งจำทั้งปรับ

การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวทำให้สมาคมแท็กซี่ในมาเลเซียไม่พอใจ นำไปสู่การประท้วงและการทำร้ายร่างกายและขัดขวางการให้บริการของผู้ขับรถ e-hailing โดยเฉพาะ Uber และ Grab

ต่อมาประเทศมาเลเซียจึงแก้ไขกฎหมาย Land Public Transport กำหนดโทษกรณีที่มีการทำร้ายร่างกายหรือขัดขวางการให้บริการ e-hailing โดยเฉพาะ กล่าวคือ ผู้ใดกระทำการดังกล่าวอาจถูกปรับไม่เกิน 1,000 ริงกิต (หรือประมาณ 8 พันกว่าบาท) หรือจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือทั้งจำทั้งปรับ

ในส่วนของคนขับรถและรถที่นำมาใช้ในการ ride-sharing นั้น กฎหมายของมาเลเซียกำหนดให้คนขับจะต้องขอใบอนุญาตขับรถที่เรียกว่า Digital Driver’s Card เข้ารับการอบรมเกี่ยวกับการให้บริการลูกค้า และจะต้องไม่มีประวัติอาชญากรรม นอกจากนี้ทั้งคนขับและรถจะต้องมีการจดทะเบียนกับขนส่งของมาเลเซีย (SPAD) และผู้ให้บริการจะต้องจัดให้มีการประกันภัยสำหรับคนขับ ผู้โดยสาร ตัวรถ และบุคคลที่สามในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ

เกี่ยวกับคุณลักษณะของรถที่จะนำมาใช้จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด โดยหลักการแล้วรถยนต์จำนวนที่นั่ง 4 – 11 ที่นั่ง (รวมคนขับ) รูปแบบใดก็ได้ที่ได้มาตรฐาน 3 ดาวตามโครงการประเมินรถยนต์ใหม่ กล่าวคือ เป็นรถยนต์ใหม่หรือมีอายุไม่เกินห้าปีนับจากวันที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกของมาเลเซีย ก็สามารถนำมาให้บริการได้ โดยยังคงมีสถานะเป็นรถยนต์ส่วนบุคคล ไม่ต้องจดทะเบียนเป็นรถสาธารณะ แตกต่างกับกรณีรถแท็กซี่ในประเทศมาเลเซียที่มีกำหนดเพดานการใช้งานอยู่ที่ไม่เกินสิบปี

ภายหลังจากที่มีการจดทะเบียนรถเพื่อให้บริการ e-hailing แล้วสามปี รถที่นำมาให้บริการจะต้องผ่านการตรวจสภาพรถเป็นประจำทุกปีเพื่อความปลอดภัย

ทั้งนี้ บริษัทที่ประกอบธุรกิจให้บริการ e-hailing อยู่ก่อนวันที่กฎหมายนี้มีผลใช้บังคับได้รับการผ่อนผัน (Grace Period) เป็นระยะเวลาหนึ่งปี ซึ่งขณะนี้ก็ใกล้จะครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ต่อไปในอีกไม่ช้าเราก็จะได้เห็นบริษัทที่ให้บริการดังกล่าวเข้าสู่ระบบตามกฎหมายใหม่ของมาเลเซียอย่างเต็มตัว

การแก้ไขกฎหมายคมนาคมดังกล่าวของมาเลเซียเป็นไปตามแผนของรัฐบาลมาเลเซียในการปฏิรูปอุตสาหกรรมแท็กซี่ (Taxi Industry Transformation Plan – TITP) ซึ่งมีเป้าหมายและเจตนารมณ์ให้บริการ e-hailing และแท็กซี่ สามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยมีหลัก 4 ประการคือ การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี กระตุ้นการแข่งขันที่เป็นธรรม สร้างความเสมอภาคในการประกอบธุรกิจ และการสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันให้กับคนขับรถแท็กซี่

แล้วพบกันใหม่คราวหน้าค่ะ

โดย... วิภานันท์ ประสมปลื้ม

บริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด

[email protected]

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่]