นายห้างป่าไม้สี่แผ่นดิน : ประวัติศาสตร์จุลทรรศน์

นายห้างป่าไม้สี่แผ่นดิน : ประวัติศาสตร์จุลทรรศน์

ผมได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ ดร.กิตติชัย วัฒนานิกร ให้เขียนคำนำให้แก่หนังสือเรื่องหนายห้างป่าไม้สี่แผ่นดิน เล่มนี้

ซึ่งผมคิดว่าเป็นหนังสือที่มีความพิเศษสุด เพราะผู้เขียนคือศาสตราจารย์เกียรติคุณนักฟิสิกส์แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่ท่านกลับสามารถเขียนหนังสือ “ประวัติศาสตร์” ที่ดีเลิศเล่มหนึ่งขึ้นมา จึงขอนุญาตเสนอในที่นี้

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. กิตติชัย วัฒนานิกร ได้เล่าเรื่องราวความเป็นมาและชีวิตของบรรพบุรุษของท่านเอง คือ วิลเลี่ยม เรจินัล ดิบบ์ ชาวอังกฤษ ที่ได้เข้ามาเป็นนายห้างป่าไม้ในสยามตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 

อย่างไรก็ตาม นายห้างป่าไม้สี่แผ่นดิน ไม่ใช่หนังสือประวัติบุคคล หรือประวัติตระกูลธรรมดาๆ ที่พบเห็นได้ทั่วไป แต่เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่งต่อสังคมไทย ด้วยเหตุผลอย่างน้อยที่สุดใน 2 ข้อด้วยกัน 

ข้อแรก หนังสือนี้ทำให้เรามอง “อดีต” ในมุมมองใหม่ที่เอื้ออำนวยให้สังคมไทยพลิกความเข้าใจที่มีต่อความรู้ทางประวัติศาสตร์ กล่าวคือทำให้มองอดีตของสังคมไทยด้วยมุมมองที่กว้างขวางและลุ่มลึกมากขึ้น 

ข้อสอง อดีตที่โลดแล่นอยู่ในหนังสือเล่มนี้ ทำให้เรารับรู้และรู้สึกได้ชัดเจนถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนในแต่ละช่วงเวลาที่แตกต่างกันออกไป คุณค่าทั้งสองประการนี้มีความสำคัญอย่างมากต่อคนไทยและสังคมไทยในปัจจุบัน ซึ่งจะต้องปรับตัวในหลายด้านโดยอาศัยความรู้ความเข้าใจอดีตแบบใหม่เป็นรากฐาน

แนวคิด “ประวัติศาสตร์จุลทรรศน์” (Microhistory )ที่แฝงฝังอยู่ในงานเขียนเรื่องนี้ เป็นแนวการศึกษาประวัติศาสตร์ที่มุ่ง “ตั้งคำถามใหญ่ๆ ต่อสิ่งเล็กๆ ในสังคม” (large questions in small places) และได้เชื่อมต่อ “สิ่งเล็กๆ” เข้ากับบริบทของสังคมในแต่ละช่วงเวลา 

การสร้างความรู้ทางประวัติศาสตร์แบบนี้ย่อมมอบตำแหน่งแห่งที่อันสำคัญให้แก่คนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม ทำให้ตระหนักว่าพวกเราทุกคนล้วนแต่มีบทบาท และมีส่วนร่วมอยู่ในกระแสความเปลี่ยนแปลงของสังคมทั้งสิ้น

การที่ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. กิตติชัย วัฒนานิกร วางเรื่องราวชีวิตของนายห้างป่าไม้คนหนึ่งไว้ในบริบททางสังคม และวัฒนธรรมของท้องถิ่น จึงไม่เพียงแต่จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจถึงกระบวนการการตัดสินใจมายังสยาม การปรับตัวและการต่อสู้ของคนๆ หนึ่งว่า ได้กำหนดทางเดินของชีวิตตนเองอย่างไรเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นภาพชีวิตของคนอื่นๆ ในสังคมท้องถิ่นอีกด้วย 

แม้แต่การตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ของนายห้างป่าไม้เองก็ไม่ได้เกิดขึ้นในสุญญากาศ หากแต่เป็นการตัดสินใจเยี่ยงมนุษย์ในเงื่อนไขของสังคมที่แวดล้อมเขาอยู่ เราจึงไม่เพียงแต่จะรับรู้ชีวิตของชายชาวอังกฤษคนหนึ่งในต่างแดนที่ห่างไกลจากบ้านเกิด หากแต่เราได้เข้าใจสังคมที่เขาใช้ชีวิตในแต่ละช่วงเวลาอย่างชัดเจน

การศึกษา “ประวัติศาสตร์จุลทรรศน์” เช่นที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ นอกจากจะสร้างความทรงจำร่วมที่สามัญชนมีความสำคัญในการกำหนดวิถีประวัติศาสตร์ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังเปิดมิติที่น่าสนใจในการมองโลกและชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุค “เสรีนิยมใหม่”ซึ่งได้ทำให้ชีวิตของเราสูญเสียทุกสิ่งที่เคยมีคุณค่าที่ช่วยยึดโยงให้ชีวิตของเรามีความหมาย

ในขณะที่ “อำนาจรัฐ” กลับบีบบังคับให้เรายอมจำนนต่อเงื่อนไขแวดล้อมต่างๆ จนกระทั่งเราไม่อาจตัดสินใจด้วยสติปัญญาของตัวเราเอง

เพราะ“ประวัติศาสตร์จุลทรรศน์” ทำให้เราได้ฉุกคิดว่าชีวิตหนึ่งมีความหมายต่อผู้คนรอบข้างและต่อสังคมตลอดจนคนรุ่นหลังมากมายเพียงใด อาจกล่าวได้ว่าหนังสือเล่มนี้มีส่วนช่วยปูทางให้แก่ “การคืนการตัดสินใจ” เยี่ยง “มนุษย์” ให้แก่เรา เพื่อที่เราจะได้ใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย

นอกจากนี้ หากเรานิยาม “ประวัติศาสตร์” ว่าเป็นการศึกษาความเปลี่ยนแปลงของระบบความสัมพันธ์ของมนุษย์ในแต่ละพื้นที่และแต่ละช่วงเวลา หนังสือเล่มนี้ก็ทำให้เราได้มองเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของระบบความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการเมืองและสังคมได้อย่างมีอรรถรส

ความพิเศษสุดอีกอย่างหนึ่งของ นายห้างป่าไม้สี่แผ่นดิน ที่ควรกล่าวไว้ ณ ที่นี้ ก็คือ หนังสือนี้ช่วยให้ผู้อ่านเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกแห่งยุคสมัย กล่าวคือ ในแต่ละช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ที่แวดล้อมมนุษย์อยู่นั้น มนุษย์สัมพันธ์กับคนอื่นๆ โดยมีระบอบอารมณ์ความรู้สึกแห่งยุคสมัย (regime of emotion) กำกับอยู่ พฤติกรรมทางสังคมทั้งหลายจึงมิได้เกิดขึ้นตามอำเภอใจ

หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เพียงแค่ตอบคำถามว่าอะไรเกิดขึ้นเพราะอะไร หากแต่ต้องการให้เกิดความเข้าใจลึกลงไปสู่อารมณ์ความรู้สึกในการตัดสินใจ เช่น การบรรยายถึงความขัดแย้งระหว่างอารมณ์ความรู้สึกของชาวฮินดูกับชาวคริสต์ในช่วงเวลาของจอห์น โทมัส การกล่าวถึงน้ำใจไมตรีอันงามของชาวบ้านป่าล้านนากับการมองภาพลักษณ์ของชาวบ้านป่า การหวนระลึกถึงพ่อของมาลีในเพลงที่เธอจดจำรำลึกถึงอยู่ในใจตลอดชีวิตของเธอ ฯลฯ

การสรุปท้ายบทของ นายห้างป่าไม่สี่แผ่นดิน เป็นไปอย่างกระชับรัดกุม ทำให้เราเห็น “ทั้งหมด” ของประวัติศาสตร์จุลทัศน์ซึ่งสัมพันธ์ลึกลงไนความรู้สึกของมนุษย์

อย่างไรก็ตามสิ่งที่เป็นความจริงไม่ต้องอาศัยการตีความใดๆ คือ วิลเลียม เรจินัลด์ ดิบบ์ เป็นตัวแทนชนชั้นกลางชาวอังกฤษคนหนึ่ง ซึ่งเกิดในสมัยพระนางเจ้าวิคตอเรียที่ถูกหล่อหลอมตั้งแต่วัยเด็กด้วยสภาพแวดล้อมของสังคมชนชั้นกลางในประเทศอังกฤษ ประเทศที่ถือตัวว่าศิวิไลซ์กว่าใคร มีดินแดนและผู้คนที่ประเทศน้ันเข้าไปยึดครองเพื่อนำมาเป็นอาณานิคมของตนเองทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อมอยู่ทั่วทุกมุมโลก 

แต่ในที่สุด ตัวเขาก็ต้องมาจบชีวิตในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามของผู้ศิวิไลซ์ที่หฤโหดเหนือคำบรรยาย สงครามที่มีผู้กล่าวไว้ในภายหลังว่า ‘ไม่จำเป็น!’

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. กิตติชัย วัฒนานิกร เขียนหนังสือเล่มนี้ได้อย่างมีพลังและเปี่ยมล้มด้วยเสน่ห์แห่งตัวอักษร ทั้งๆ ที่เป็นนักฟิสิกส์ซึ่งเป็นบิดาของวิทยาศาสตร์ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะแรงปรารถนาที่จะเข้าใจเงื่อนไขและความเป็นมาและความเป็นไปของครอบครัวของท่าน ท่านได้ค้นเอกสารชั้นต้น ชั้นรอง จำนวนมากเพื่อประกอบภาพแห่งอดีตอย่างรอบคอบและเคร่งครัด และถึงกับเดินทางไปประเทศอังกฤษเพื่อสืบเสาะหาญาติพี่น้อง จนกระทั่งได้พบปะพูดคุยกับญาติๆ ทั้งหลาย และเติมเต็มความปรารถนาอันแรงกล้าที่มีอยู่ในใจได้สำเร็จสมประสงค์

ในฐานะนักศึกษาประวัติศาสตร์คนหนึ่ง ขอแสดงความคารวะต่อท่านอาจารย์กิตติชัย วัฒนานิกร ด้วยความรู้สึกขอบคุณอย่างยิ่ง เพราะท่านได้เขียนหนังสือที่ทำให้รู้สึกปลื้มปิติต่อ “อดีต” อย่างลึกซึ้ง