น้ำมันขาขึ้น...จะกระทบเอเชียอย่างไร

น้ำมันขาขึ้น...จะกระทบเอเชียอย่างไร

น้ำมันขาขึ้น...จะกระทบเอเชียอย่างไร

ตั้งแต่กลางปีที่แล้ว เราเห็นทิศทางราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจนแตะระดับที่ 64 ดอลลาร์/บาร์เรลในปัจจุบัน  เมื่อเทียบกับ 47 ดอลลาร์/บาร์เรล ในเดือนมิถุนายน 2560 และราคาเฉลี่ยทั้งปี 2560 ที่ 51 ดอลลาร์/บาร์เรล ถือว่าเป็นสัญญาณที่สดใสขึ้นหลังจากโลกประสบปัญหาราคาน้ำมันร่วงลงแรงในปี 2557 จากความกังวลเรื่องน้ำมันล้นตลาด (Oversupply) อันสืบเนื่องมาจากการค้นพบการขุดน้ำมันในชั้นหินดินดานของสหรัฐฯ หรือที่รู้จักกันในนาม Shale Oil ซึ่งมีผลให้ราคาน้ำมันดิบร่วงลงกว่า 75% จากระดับ 107 ดอลลาร์/บาร์เรล เมื่อกลางปี 2557 สู่ราคาต่ำสุดในประวัติศาสตร์ที่ 26 ดอลลาร์/บาร์เรล ภายในระยะเวลาเพียง 1 ปีกว่า ทั้งนี้ ณ ระดับราคาน้ำมันปัจจุบันที่ทรงตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการจำกัดปริมาณการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC  เพื่อพยุงราคาน้ำมันโลกไว้นั่นเอง

แม้ว่าราคาน้ำมันที่มีเสถียรภาพจะทำให้ความผันผวนของตลาดทุนโลกลดต่ำลงเป็นประวัติการณ์ แต่เมื่อมีผู้ได้ก็ย่อมมีผู้เสียเสมอในทุกสถานการณ์ โดยกลุ่มประเทศที่นำเข้าน้ำมันสูงสุดเป็นอันดับต้นๆของโลก คงหนีไม่พ้นภูมิภาคเอเชีย ที่อาจได้รับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และส่งผลลบต่อเศรษฐกิจโดยรวมได้

สำหรับผู้ที่ได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยในเอเชีย คือ มาเลเซียซึ่งส่งออกน้ำมันเป็นปริมาณ 0.8% ของน้ำมันโลก อย่างไรก็ดี รายได้ที่สูงขึ้นนั้นล้วนแต่เป็นรายได้ของภาครัฐฯ กอปรกับนโยบายปัจจุบันของรัฐบาลมาเลเซียที่ต้องการลดระดับงบประมาณขาดดุลลง จึงแปลว่าการส่งต่อรายได้ที่สูงขึ้นเหล่านั้นอาจไม่ได้ตกถึงภาคเอกชน หรือภาคครัวเรือน และก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมแต่อย่างใด

ข้ามมาที่ฝั่งประเทศนำเข้าน้ำมันอย่างอินเดีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และประเทศไทยเราเองที่อาจได้รับผลกระทบด้านลบจากสัดส่วนการนำเข้าน้ำมันโลกในปี 2559 ที่ 9%, 7%, 2% และ 2% ตามลำดับ อย่างไรก็ดี เราไม่ได้มีความกังวลว่าราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะทำให้เศรษฐกิจเอเชียชะลอตัวลงแต่อย่างใด จริงอยู่ที่ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะหมายถึงรายจ่ายที่สูงขึ้น และรายได้แท้จริงที่ลดลง แต่หากจะวัดถึงผลกระทบที่ถูกต้องแล้วนั้น เราควรวัดว่า ประเทศเหล่านั้นจะมีการจับจ่ายใช้สอย หรือพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากรายได้ที่ลดลงนั้นจริงหรือไม่ ดังนั้น ด้วยระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจเอเชียในปัจจุบันที่แข็งแกร่ง จะยังคงสนับสนุนการบริโภคภายในภูมิภาคต่อ นอกจากนี้ รายได้จากการส่งออกสินค้าประเภทอื่นๆของประเทศเหล่านั้นยังคงเติบโตสูง ยกตัวอย่างเช่น ประเทศไทยที่อาจมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นจากการนำเข้าน้ำมัน แต่ราคาสินค้าส่งออกสำคัญอย่างผลิตภัณฑ์ยาง (สินค้าส่งออกอันดับ 4 ของไทยในปี 2560 ที่มูลค่ากว่า 3.5 แสนล้านบาท) และน้ำมันสำเร็จรูป (สินค้าส่งออกอันดับ 9 ของไทยในปี 2560 ที่มูลค่ากว่า 2.4 แสนล้านบาท) ก็ขยับตัวขึ้นไปพร้อมๆกัน

นอกเหนือจากจะไม่มีผลกระทบด้านเศรษฐกิจแล้ว เรามองว่าราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะไม่ส่งผลต่อนโยบายการเงินของเอเชียด้วยเช่นกัน แม้ว่าราคาน้ำมันจะดันให้อัตราเงินเฟ้อมีโอกาสปรับสูงขึ้น แต่นโยบายการเงินในเอเชียจะยังคงเป็นแบบผ่อนคลายต่อไป เพราะธนาคารกลางต่างๆล้วนตระหนักว่าเงินเฟ้อจะกระตุกขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น และผลกระทบจะค่อยๆจางหายไปจากฐานที่สูงขึ้นเมื่อเทียบปีต่อปี  

โดยสรุปเรามองว่าสิ่งสำคัญที่ท่านนักลงทุนควรพิจารณา ก่อนตื่นตระหนกต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมัน ซึ่งถือว่ามีความผันผวนสูงเป็นลักษณะเฉพาะตัวอยู่แล้วนั้นก็คือ “ลักษณะและเหตุผลของการขึ้นของน้ำมัน” เพราะหากราคาเร่งตัวขึ้นแรงจากสภาวะน้ำมันขาดตลาดอย่างกะทันหันคงไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศนำเข้าน้ำมันหลักๆเป็นแน่ เพราะนั่นหมายถึงกิจกรรมทางธุรกิจที่จะชะงักลง อย่างไรก็ดี การปรับตั้วขึ้นในช่วงหลังมานี้เกิดขึ้นท่ามกลางทิศทางดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง และเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดี ดังนั้น ประเทศนำเข้าน้ำมันหลักๆล้วนได้รับผลประโยชน์ทางใดก็ทางหนึ่ง ทั้งนี้ เศรษฐกิจเอเชียจะได้รับผลกระทบด้านลบที่จำกัด หากราคาน้ำมันโลกเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 65-75 ดอลลาร์/บาร์เรล และระดับที่เริ่มน่าเป็นห่วง คือ ราคาน้ำมันที่ 80 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยอินเดียอาจได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะดุลบัญชีเดินสะพัดจะขาดดุลมากขึ้นไปอีก

เอเชียในฐานะผู้นำเข้าน้ำมันหลักของโลก

น้ำมันขาขึ้น...จะกระทบเอเชียอย่างไร