โอกาสและความท้าทายในสินค้าโภคภัณฑ์

โอกาสและความท้าทายในสินค้าโภคภัณฑ์

โอกาสและความท้าทายในสินค้าโภคภัณฑ์

ในช่วงสิ้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา TFEX ได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนาประจำปีของ Association of Futures Market ซึ่งเป็นสมาคมตลาดอนุพันธ์นานาชาติ หรือเรียกอีกชื่อว่างาน AFM Annual Conference 2018 โดยการสัมมนานี้จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างตลาดอนุพันธ์และองค์กรที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมที่เป็นสมาชิก และเป็นเวทีที่ผู้นำในอุตสาหกรรมตลาดอนุพันธ์จากทั่วโลก มาร่วมแสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับพัฒนาการของตลาดอนุพันธ์ รวมถึงโอกาสและความท้าทายของอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมอนุพันธ์ให้เติบโตเพิ่มมากขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจาก 22 ประเทศ เป็นจำนวนกว่า 100 คน ซึ่งหนึ่งในหัวข้อที่ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือกันอย่างน่าสนใจ คือ ปัจจัยที่จะช่วยส่งเสริมให้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาตลาด Commodity ของประเทศ

ปัจจุบัน เริ่มมีความนิยมซื้อขาย Commodity ผ่านตลาดอนุพันธ์ (Derivatives Exchange) มากกว่าในอดีต ด้วยเป็นศูนย์กลางการซื้อขายที่มีผู้ร่วมตลาดจำนวนมากและมีการเผยแพร่ข้อมูลอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อหรือผู้ขายสามารถส่งมอบและรับมอบสินค้า (Physical Delivery) ซึ่งช่วยเสริมกับการดำเนินธุรกิจปกติ รวมทั้งลดความเสี่ยงด้านการผิดนัดชำระราคา (Counterparty Risk) จะเห็นได้ว่าการซื้อขาย Commodity ในตลาดอนุพันธ์มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการซื้อขายอนุพันธ์ที่อ้างอิงกับหุ้นหรือตราสารทางการเงิน เนื่องจากราคาซื้อขาย Commodity สามารถนำมาใช้เป็นราคาอ้างอิงในการประกอบธุรกิจ รวมถึงสามารถพัฒนาเป็นศูนย์กลางการซื้อขายของประเทศและระดับภูมิภาคได้ ดังนั้น ภาครัฐในแต่ละประเทศจึงมักมีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ตัวอย่างเช่น การพัฒนาตลาดทองคำในประเทศจีน การพัฒนาสินค้า Palm Oil ในตลาดมาเลเซีย รวมไปถึงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรล่วงหน้าในประเทศไทย

ระหว่างการสัมมนา ได้มีการพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ในการพัฒนาตลาด Commodity และปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งสามารถสรุปสั้นๆ แบ่งเป็น 2 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ การพัฒนา Ecosystem ในองค์รวมอย่างครบถ้วน และการได้รับความสนับสนุนจากผู้ร่วมตลาด ทั้งนี้ Ecosystem ของสินค้าโภคภัณฑ์จะมีขอบเขตที่ต้องพิจารณากว้างกว่าสินค้าทางการเงิน (หุ้น พันธบัตร อัตราดอกเบี้ย) เนื่องจากการซื้อขายสินค้า Commodity ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตร ทองคำ น้ำมัน ส่วนใหญ่จะมีการรับมอบส่งมอบ (Physical Delivery) มาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้น การพัฒนา Ecosystem ของตลาด Commodity จะไม่จำกัดเฉพาะในส่วนของระบบซื้อขายและชำระราคาเท่านั้น แต่จะต้องพัฒนาครอบคลุมไปถึงการกำหนดและตรวจสอบคุณภาพสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล กระบวนการรับมอบส่งมอบสินค้า ระบบ Warehouse เพื่อรองรับการจัดเก็บสินค้า รวมถึง การโอนถ่ายกรรมสิทธิ์ของสินค้า ซึ่งกระบวนการดังกล่าวทั้งหมดรวมถึงการออกแบบสินค้าจะต้องสอดคล้องกับรูปแบบการดำเนินธุรกิจจริง (Industry Standard) ของ Commodity ประเภทนั้นๆ เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้แก่ผู้ประกอบการและสามารถใช้ตลาดอนุพันธ์เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการบริหารความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจได้

ในส่วนของผู้ร่วมตลาดนั้น นอกเหนือจากผู้ลงทุนที่เข้ามาหาผลกำไรจากการซื้อขายแล้ว กลุ่มที่มีความสำคัญอีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มผู้ประกอบการและผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากราคาของสินค้า Commodity จะถูกกำหนดจากระดับอุปสงค์และอุปทาน หรือ Demand-Supply ของสินค้าเป็นหลัก กล่าวคือ การเคลื่อนไหวของราคา Commodity จะได้รับอิทธิพลจากกลุ่มผู้บริโภคและผู้ผลิตทั้งในระดับประเทศและตลาดโลกที่อยู่ในฐานะผู้ที่ต้องบริหารความเสี่ยง (Hedger) ดังนั้น การสนับสนุนจากกลุ่ม Hedger จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ตลาด Commodity ประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม กลุ่ม Hedger ส่วนใหญ่มักคุ้นชินกับการซื้อขาย Commodity ผ่านช่องทาง OTC (Over The Counter) ซึ่งสามารถทำได้โดยสะดวกและมีต้นทุนต่ำภายใต้เทคโนโลยีปัจจุบัน เช่น การติดต่อกันผ่าน email หรือการซื้อขายผ่านการ Chat ทำให้การจูงใจกลุ่ม Hedger ให้ความสนใจกับการซื้อขายผ่าน Derivatives Exchange เป็นความท้าทายที่ผู้พัฒนาตลาดจะต้องเผชิญ ซึ่งอาจจะต้องอาศัยการสนับสนุนด้านนโยบายจากภาครัฐ ในมาตรการภาษี หรือการผ่อนปรนกฎระเบียบในการดำเนินธุรกิจหากทำการซื้อขายผ่านตลาด Derivatives Exchange มาช่วยในการจูงใจกลุ่ม Hedger

นอกจากนี้ การพัฒนาความรู้ให้แก่บุคลากรของ Broker ที่เป็นนายหน้าซื้อขายซึ่งส่วนใหญ่จะขาดความเชี่ยวชาญในสินค้า Commodity รวมไปถึงการเตรียม Infrastructure ด้านการเข้าถึงตลาด (Access to Market) และเครื่องมือบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน สำหรับผู้ประกอบการและผู้ลงทุนต่างชาติ ต่างก็เป็นปัจจัยที่ช่วยเสริมการพัฒนาตลาด Commodity ให้สามารถประสบความสำเร็จได้

จะเห็นได้ว่าการพัฒนาตลาด Commodity มีความซับซ้อนมากกว่าการพัฒนาตลาดอนุพันธ์ประเภทอื่น และในหลายประเทศพบว่าไม่มีความคุ้มค่าเชิงพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของตลาด Commodity นั้น ไม่ได้อยู่เฉพาะในรูปตัวเงิน หรือให้ประโยชน์เฉพาะแก่ผู้ลงทุนเท่านั้น แต่ยังให้ประโยชน์เชิงสังคม (Social Benefit) ในด้านการสร้างเครื่องมือบริหารความเสี่ยงให้แก่ผู้ประกอบการและเกษตรกร การพัฒนาราคาอ้างอิง (Reference Price) ที่มีความโปร่งใส่และได้รับการยอมรับ  สำหรับไทยนั้น TFEX ได้ผลักดันการพัฒนาตลาดซื้อขายทองคำ และตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าโดยมีจุดประสงค์หลักในการสร้างเครื่องมือบริหารความเสี่ยงแก่ผู้ประกอบการ และสร้างราคาอ้างอิงสำหรับการทำธุรกรรม ที่มีความโปร่งใส เชื่อถือได้ และเป็นปัจจัยหนึ่งในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยให้พัฒนาต่อไป