มุมมองการลงทุนในปี 2561

มุมมองการลงทุนในปี 2561

มุมมองการลงทุนในปี 2561

ตั้งแต่เปิดปีใหม่เป็นต้นมา ตลาดหุ้นหลายตลาดปรับตัวขึ้นมาได้ค่อนข้างดี เรียกว่าดีจนทำให้หลายๆ ท่านอาจเริ่มมีความกังวลว่าตลาดหุ้น “แพง” เกินไปหรือไม่ และอาจเริ่มมีความกังวลต่อภาพการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงโดยรวม ครั้นจะหันหาสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างตราสารหนี้ก็เห็นทีจะรับกับผลตอบแทนที่ต่ำไม่ไหว แล้วจะมีแนวคิดในจัดพอรต์การลงทุนอย่างไรดี ผมจึงขอนำเสนอมุมมองการลงทุนในปี 2561 ของเรามา ณ ที่นี้นะครับ

เรายอมรับว่าตลาดหุ้นส่วนใหญ่มีราคาที่ค่อนข้าง “แพง” และจริงๆ แล้วอาจมองว่าราคาของสินทรัพย์ทางการเงินส่วนใหญ่มีราคา “แพง” ด้วยกันทั้งสิ้น เรียกว่า “แพง” ราวกับอยู่ในช่วง “ปลาย” ของวัฎจักรเศรษฐกิจแล้ว แต่เรายังไม่ได้แนะนำให้นักลงทุนออกหนีจากตลาด เนื่องจากเรามองว่าปัจจัยพื้นฐานยังสนับสนุนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ เรามองว่าภาะเศรษฐกิจอยู่ในช่วง “กลาง” ของวัฎจักรเท่านั้น และเมื่อปัจจัยพื้นฐานยังสนับสนุนอยู่เราก็คาดว่าราคาสินทรัพย์ส่วนใหญ่จะยังมีราคา “แพง” เช่นนี้ได้ต่อเนื่อง โดยเรามองถึงธีมในการลงทุน 3 ประเด็นหลักด้วยกัน

หนึ่ง คือ การเติบโตไปด้วยกัน (Growing Together) เรามองว่าเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยยังน่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง เห็นได้จากล่าสุด IMF ได้ปรับประมาณการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นเป็น 3.9% ทั้งในปี 2561 และปี 2562 จากเดิมที่ 3.7% โดยส่วนใหญ่เป็นการปรับประมาณการขึ้นกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว จากกฎหมายการปฏิรูปภาษีของสหรัฐฯ, การฟื้นตัวของอุปสงค์ในยูโรโซน และการกระตุ้นด้านการคลังของญี่ปุ่น ขณะที่เศรษฐกิจกลุ่มประเทศเกิดใหม่ก็ยังคงมีการเติบโตในระดับสูงเช่นเดิม และการที่เศรษฐกิจต่างๆ เติบโตไปพร้อมๆ กันเช่นนี้ (หรือที่บางคนเรียกว่า Synchronized Growth) ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยิ่งมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ส่งผลดีต่อการค้าระหว่างประเทศ และน่าจะทำให้เงินเฟ้อค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่นโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักๆ ของโลกมีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น แต่เราคาดว่าการปรับขึ้นของดอกเบี้ยนั้นจะเป็นไปแบบค่อยเป็นไปค่อยไป และยังไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในขณะนี้ ทั้งนี้ ธนาคารกลางโลกที่ออกรายงานเมื่อปลายปีก่อนได้ระบุว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกนั้นกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพแล้ว หรือในภาษาเทคนิคจะบอกว่า Output Gap ที่เคยเป็นลบ (คือภาวะเศรษฐกิจอยู่ต่ำว่าศักยภาพ) ได้กลับมาเป็นบวกแล้ว แปลว่าเราเพิ่งอยู่ในช่วง “กลาง” ของวัฎจักรเศรษฐกิจในขาขึ้นเท่านั้นเอง และยังไม่น่าจะเกิดภาวะถดถอยขึ้นในเวลาอันใกล้ๆ ซึ่งทำให้การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงยังมีปัจจัยพื้นฐานที่รองรับอยู่

สอง คือ ช่วงเวลาที่ลำบากของผู้ชอบของถูก (Tough Time for Bargain Hunters) ดังที่กล่าวข้างต้น สินทรัพย์ต่างๆ ล้วนแต่มีราคา “แพง” ในปัจจุบัน ซึ่งต่างจากในอดีตที่จะมีช่วงเวลาที่หุ้น “ถูก” และบอนด์ “แพง” อย่างเช่นช่วงภายหลังที่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและวิกฤติต่างๆ ซึ่งหากลงทุนหุ้นในช่วงนั้นก็จะให้ผลตอบแทนที่ดี หรือมีช่วงเวลาที่บอนด์ “ถูก” และหุ้น “แพง” อย่างเช่นช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีมากจนเกิดเป็นภาวะฟองสบู่ และธนาคารกลางต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อชะลอการขยายตัวนั้น ซึ่งทำให้บอนด์ช่วงนั้นจะให้ดอกเบี้ยที่น่าจะสนใจเลยทีเดียว แต่ในปัจจุบัน เรามองว่าทั้งหุ้นและบอนด์มีราคา “แพง” ด้วยกันทั้งคู่ ดังนั้น ผลตอบแทนของสินทรัพย์ต่างๆ และพอร์ตการลงทุนจากนี้ไปน่าจะต่ำกว่าในอดีตที่ผ่านมา แต่เรายังคงมองว่าสินทรัพย์เสี่ยงอย่างเช่น หุ้น มีความน่าสนใจมากกว่า จากที่เศรษฐกิจยังคงขยายตัวต่อเนื่องและดอกเบี้ยมีทิศทางเป็นขาขึ้นด้วย แต่ในการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงนั้น  เราแนะนำให้เน้นไปในสินทรัพย์ที่มีการเติบโตที่ดี อย่างเช่น หุ้นจีน, หุ้นอินเดีย หรือหุ้นเวียดนาม เป็นต้น ซึ่งมีการเติบโตของกำไรสุทธิคาดการณ์ที่ประมาณ 12-15% แม้ว่าตลาดจะไม่ได้ “แพง” มากขึ้น แต่ดัชนีของตลาดนั้นๆ น่าจะเติบโตได้ตามกำไรสุทธิที่สูงกว่าตลาดอื่นๆ

สาม คือ การยอมรับความเสี่ยงอย่างชาญฉลาด (Smart Risk-Taking) จากการที่สินทรัพย์ต่างๆ มีราคา “แพง” นั้น อาจทำให้เกิดความผันผวนของราคาได้ และอาจทำให้นักลงทุนไม่ได้รู้สึก “สบายใจ” นัก อย่างไรก็ตาม ภาพเศรษฐกิจและปัจจัยพื้นฐานอื่นๆ ที่ยังคงดีอยู่นั้น ทำให้เรามองว่านักลงทุนยังไม่จำเป็นต้องหนีออกจากตลาด และยังน่าจะมีการลงทุนต่อเนื่อง (Stay Invested) โดยเฉพาะเมื่อผลตอบแทนจากสินทรัพย์ปลอดภัยต่ำเช่นนี้ กลับเป็นสถานการณ์ที่ทำให้นักลงทุนจำต้องรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แต่ในการรับความเสี่ยงนั้น นักลงทุนเองก็ควรมีรับความเสี่ยงอย่าง “ชาญฉลาด” เช่น การลงทุนแบบกระจายความเสี่ยง (Diversification) ในหลายสินทรัพย์หรือหลายตลาด เป็นต้น เผื่อผลตอบแทนของสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งหรือตลาดใดตลาดหนึ่งไม่เป็นไปตามที่คาด ก็ยังมีผลตอบแทนของสินทรัพย์อื่นหรือตลาดอื่นเข้ามาช่วยชดเชยได้ นอกจากนี้ การถือครองทองคำไว้บ้างก็ช่วยทำให้พอร์ตมีเสถียรภาพมากขึ้นในช่วงที่สินทรัพย์เสี่ยงปรับตัวลงแรง และในช่วงนี้อาจได้ประโยชน์จากดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลงในปัจจุบันนี้ด้วย

โดยรวมแล้ว เราเองก็มองว่าสินทรัพย์หลายประเภทมีราคาที่ค่อนข้าง “แพง” แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตได้ต่อเนื่อง และเป็นการเติบโตไปด้วยทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีความแข็งแกร่งขึ้น เรามองภาวะเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงกลางของวัฎจักรเท่านั้น ซึ่งทำให้สินทรัพย์ต่างๆ ยังน่าจะอยู่ในระดับที่ “แพง” เช่นนี้ได้ต่อเนื่อง โดยเรายังคงแนะนำให้เน้นลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นอยู่ เนื่องจากน่าจะมีผลตอบแทนที่ดีกว่าบอนด์ และอาจต้องเน้นไปที่ตลาดหุ้นที่มีการเติบโตที่ดี อย่าง จีน, อินเดีย หรือเวียดนาม เป็นต้น แต่เรามองผลตอบแทนโดยรวมอาจไม่ได้ดีเท่ากับในอดีต และนักลงทุนต้องให้ความสนใจเกี่ยวกับการกระจายการลงทุนมากขึ้น เพื่อช่วยลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนนะครับ