เล่า ... เรื่องเล่า

เล่า ... เรื่องเล่า

'เรื่องเล่า' เป็นสิ่งที่สำคัญมากในการสื่อสารเพราะการ 'เล่า' 'เรื่องเล่า'

การตั้งชื่อบริษัทว่า Microsoft โดย Paul Allen และ Bill Gates ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทนั้นมีเรื่องเล่าว่าเดิมทั้งสองใช้ชื่อบริษัทว่า Allen & Gates ตามนามสกุลของผู้ก่อตั้ง ซึ่งบริษัทในวงการคอมพิวเตอร์หลายแห่งก็ทำอย่างนี้ เช่น Hewlett-Packard (ของ Bill Hewlett และ David Packard) และ Dell (ของ Michael Dell) แต่เกิดมีคนมาทักว่าชื่อ Allen & Gates ทำให้เข้าใจว่าเป็นสำนักงานกฎหมาย ทั้งสองคนจึงได้ทำการเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Microsoft และใช้ชื่อนี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน (จากหนังสือ The Power of Storytelling เขียนโดย Jim Holtje)

ผมเองก็ต้องใช้ความคิดตรึกตรองอยู่นานในการตั้งชื่อสำนักงานกฎหมายวีระวงค์, ชินวัฒน์ และเพียงพนอ (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น วีระวงค์, ชินวัฒน์ และพาร์ทเนอร์ส) ที่ผมก่อตั้งขึ้นโดยการนำสำนักงานกฎหมาย White & Case (Thailand) มาเปลี่ยนชื่อ ซึ่งสำนักงานกฎหมายแห่งนี้ผมเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 ในฐานะที่ผมเป็นหุ้นส่วน (Equity Partner) ของ White & Case สำนักงานกฎหมายอเมริกันที่มีสาขา 30 กว่าแห่งอยู่ในหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วย (ถือเป็น Global Law Firm) จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2552 เมื่อผมตัดสินใจแยกตัวเองและทีมงานของ White & Case (Thailand) ออกจาก White & Case ในปี พ.ศ. 2552 โดยการซื้อหุ้นที่ White & Case ถืออยู่ใน White & Case (Thailand) และรับโอนกิจการรวมทั้งทนายความและพนักงานอื่นๆ มาทั้งหมด ซึ่งในการตั้งชื่อใหม่ให้กับ White & Case (Thailand) นั้นผมนึกถึง “เรื่องเล่า” Microsoft และ Allen & Gates ขึ้นมาเลยทำให้คิดได้ว่าการนำชื่อคนที่เป็นผู้ก่อตั้งมาใช้เป็นชื่อสำนักงานกฎหมายนั้นถือได้ว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ได้รับความนิยมกันทั่วโลก ผมจึงนำชื่อผมและรุ่นน้องอีก 2 คนที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง คือ
คุณชินวัฒน์ ชินแสงอร่าม และคุณเพียงพนอ บุญกล่ำ มาใช้เป็นชื่อใหม่ของสำนักงานกฎหมาย White & Case (Thailand) เพียงแต่ผมต้องใช้ชื่อพวกเราแทนที่จะใช้นามสกุลเพื่อไม่ให้ชื่อของสำนักงานกินพื้นที่เป็นบรรทัด

นั่นก็คือ 'เรื่องเล่า' เกี่ยวกับการตั้งชื่อบริษัท ซึ่งผมเชื่อว่า 'เรื่องเล่า' เป็นสิ่งที่สำคัญมากในการสื่อสารเพราะการ 'เล่า' 'เรื่องเล่า' ประกอบเนื้อหาที่ต้องการสื่อสารจะทำให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังเกิดความสนใจมากกว่าการฟังเนื้อหาแต่เพียงอย่างเดียวและสามารถทำความเข้าใจเนื้อหาที่สื่อสารกันนั้นได้ง่ายขึ้นรวมทั้งจดจำไปได้ด้วย เช่น การที่ผมอ้างตัวบทกฎหมายและคำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้องย่อมจะไม่ทำให้ลูกความเกิดความเข้าใจหรือถึงขนาดจดจำได้เท่ากับการ 'เล่า' 'เรื่องเล่า' ซึ่งก็คือข้อเท็จจริงในคำพิพากษาฎีกาว่าใครทำอะไรกับใครที่ไหนอย่างไร และศาลฎีกาตัดสินเรื่องนั้นว่าอย่างไรโดยใช้กฎหมายอะไรและด้วยหลักคิดอย่างไร แล้วค่อยสรุปว่า 'เรื่องเล่า' นั้นเหมือนหรือต่างจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในกรณีของลูกความหรือไม่เพียงใด และผลลัพธ์เมื่อนำกฎหมายมาปรับใช้กับกรณีของลูกความตามแนวคำพิพากษาฎีกานั้นควรจะเป็นอย่างไร

การว่าความในศาลซึ่งก็คือการนำข้อเท็จจริงเข้าสู่การพิจารณาของศาลนั้น ก็ต้องอาศัยความสามารถของทนายความในการ 'เล่า' 'เรื่องเล่า' ให้ศาลเข้าใจว่าข้อเท็จจริงที่พิพาทกันนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไรผ่านคำฟ้อง คำให้การ และการนำพยานมาพิสูจน์หักล้างกัน ซึ่งถ้าฝ่ายใด 'เล่า' ไม่ดีศาลก็จะไม่เข้าใจ 'เรื่องเล่า' เพียงพอที่จะตัดสินให้เป็นคุณแก่ฝ่ายนั้นตามความน่าจะเป็นเมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

การใช้ 'เรื่องเล่า' ประกอบเนื้อหาที่ต้องการสื่อสารได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นเทคนิคที่ทำให้การสื่อสารในทุกเรื่องมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผมพบว่า คุณกานต์ ตระกูลฮุน อดีต CEO ของบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCG) และปัจจุบันทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการบริษัท แอดวานซ์อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS) รวมทั้งเป็นกรรมการในบริษัทชั้นนำอีกหลายแห่ง ซึ่งเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงมากและได้รับการยกย่องเป็นอย่างสูงในฐานะผู้บริหารมืออาชีพชั้นแนวหน้านั้น เป็นผู้ที่ใช้ 'เรื่องเล่า' ในการสื่อสารอยู่เป็นประจำและทำได้ดีมาก ผมมีโอกาสได้ทำงานร่วมกับคุณกานต์เป็นครั้งแรกเมื่อผมไปให้คำปรึกษาแก่ SCG ในเรื่อง 'หุ้นหาย' ที่เป็นข่าวครึกโครมเมื่อหลายปีก่อน และได้มีโอกาสทำงานร่วมกับคุณกานต์มากขึ้นในช่วงที่ผ่านมาจากการที่คุณกานต์และผมได้ทำหน้าที่เป็นกรรมการในบริษัทเดียวกัน ผมสังเกตว่าในการซักถามหรือแสดงความคิดเห็นนั้น คุณกานต์จะมี 'เรื่องเล่า' จากประสบการณ์ส่วนตัวประกอบเสมอเพื่อทำให้ผู้ฟังเห็นภาพและคล้อยตาม ซึ่งคุณกานต์ก็ทำได้สำเร็จเสมอจนทำให้ผมนึกถึงคำกล่าวที่ว่า Listeners grasp your ideas more easily and retain them longer - if you 'show' them what you mean, not just 'tell' them. (จากหนังสือ How to Speak So People Listen - Real Leaders Don’t Do PowerPoint เขียนโดย Christopher Witt)