มองกันไปมา ยางพาราไทย – อินเดีย

มองกันไปมา ยางพาราไทย – อินเดีย

ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ปัญหาราคายางพาราตกต่ำเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจ และรัฐบาลให้ความสำคัญยิ่งในการแก้ปัญหาดังกล่าวผ่านมาตรการต่างๆ

บทความ Inside India ประจำเดือนนี้จึงขอหยิบยกข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับตลาดยางพาราในอินเดีย เพื่อให้ผู้อ่านใช้ประกอบการพิจารณา หากสนใจจะส่งออกยางพารา มาค้าขายกับประเทศอินเดียในอนาคตต่อไป

อินเดียและความต้องการยางพารา

เมื่อคิดถึงอินเดีย คนไทยส่วนใหญ่อาจยังมองไม่เห็นถึงอุตสาหกรรมระดับโลกจำนวนมากที่เจริญเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอินเดีย หนึ่งในอุตสาหกรรมระดับโลกเหล่านั้นคือ “อุตสาหกรรมการผลิตยางล้อรถยนต์” นั่นเอง เนื่องจากอินเดียเองก็มีอุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ขนาดใหญ่อยู่แล้ว 

ข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตยางล้อประเทศอินเดีย (Automotive Tyre Manufacturers Association: ATMA) เมื่อปี 2560 ระบุว่า อินเดียมีผู้ผลิตยางล้อในประเทศทั้งหมด 39 บริษัท เป็นบริษัทระดับโลกถึง 4 บริษัท คือ MRF Apollo JKTyre และ CEAT อีกทั้งยังมีโรงงานผลิตยางล้ออีกถึง 60 แห่งทั่วประเทศ

วัตถุดิบตั้งต้นที่สำคัญของการผลิตยางล้อในอินเดียคือ “ยางธรรมชาติ” โดยจะใช้ยางธรรมชาติถึงร้อยละ 44 ของส่วนประกอบทั้งหมด จึงทำให้อินเดียมีความต้องการใช้ยางธรรมชาติจำนวนมาก กล่าวคือ มีความต้องการยางพาราประมาณ 900,000 – 1,000,000 ตันต่อปี (ข้อมูลระหว่างปี 2552 – 2558) 

ปัจจุบัน อินเดียประสบปัญหาขาดแคลนยางธรรมชาติ และต้องการนำเข้ายางธรรมชาติจากต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากต้นยางพาราในอินเดียเริ่มมีอายุมาก และมีผลผลิตน้อยลง ทำให้ปริมาณการผลิตยางในอินเดียมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

ส่งออกยางพาราไทยมายังอินเดีย: ไม่ยาก และไม่ง่าย

การส่งออกยางพาราไทยไปยังอินเดียไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะจากข้อมูลสถิติการส่งออกยางของสำนักงานเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมได้แสดงให้เห็นว่า ไทยได้ส่งออกยางไปขายที่อินเดียมาแล้วกว่าสิบปี 

อย่างไรก็ตาม จากแหล่งข้อมูลเดียวกันนี้เองได้แสดงให้เห็นว่า ปริมาณยางพาราที่ไทยส่งออกไปยังอินเดีย ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 – 6 ปีที่ผ่านมาก จากที่มีมูลค่าการส่งออกยางจากไทยไปอินเดียสูงถึง 7,565.83 ล้านบาทในปี 2555 กลับลดลงเหลือเพียง 4,226.98 ล้านบาท ในปี 2560

เกิดอะไรขึ้นกับการค้ายางพาราไทย-อินเดีย

ในมุมของคนไทย ผู้ประกอบการยางพาราไทยที่ส่งสินค้าไปยังอินเดีย อาจรับทราบดีว่ารัฐบาลอินเดียกำหนดนโยบายเรื่องยางโดยมิได้คำนึงถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ยังใช้ประโยชน์จากนโยบายทางการเมืองด้วย กล่าวคือ มีการปกป้องชาวสวนยางอินเดีย ด้วยการตั้งกำแพงภาษีต่อสินค้ายางพาราที่นำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ราคาสินค้ายางจากไทยเมื่อรวมภาษีแล้ว สูงขึ้นจนยากลำบากในการแข่งขัน  

กระทรวงพาณิชย์เองเคยยกเรื่องนี้ขึ้นหารือกับทางการอินเดียบ้างเพื่อขอให้ลดภาษีลง แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะการตั้งกำแพงภาษีนี้ เป็นนโยบายสำคัญทางการเมืองนโยบายหนึ่งของรัฐบาลที่จะช่วยเหลือเกษตรกรอินเดีย

แม้กำแพงภาษีจะเป็นอุปสรรคสำคัญที่ผู้ส่งออกไทยเอือมระอา แต่ผู้ประกอบการจากประเทศอื่น ๆ ก็ยังคงส่งยางพาราเข้าไปขายในอินเดียได้อย่างต่อเนื่อง 

ข้อมูลที่น่าสนใจอีกประการจึงเป็นประเด็นที่ว่า “คนอินเดียคิดอย่างไรบ้าง กับยางพาราของไทย”

ในมุมมองคนอินเดีย สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี เคยดำเนินโครงการส่งเสริมยางพาราไทยในตลาดอินเดีย นำคณะผู้ประกอบการชาวอินเดียที่มีศักยภาพ ที่จะซื้อสินค้ายางจากไทยได้ เดินทางไปพบกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และผู้ประกอบกิจการยางพาราไทยที่ จ.สงขลา และ จ.บึงกาฬ เมื่อเดือนก.ย. 2559 (หลังจากนั้น สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไนก็ได้นำคณะจากไทยไปเยือนอินเดียด้วย) ทำให้สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ทราบมุมมองความเห็นจากฝ่ายอินเดีย

อินเดียเคยนำเข้ายางพาราจากไทยเป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันนิยมนำเข้าจากเวียดนาม และอินโดนีเซียมากกว่า เพราะสองประเทศดังกล่าวได้พัฒนาคุณภาพยางให้ดีขึ้นกว่าของไทย และยางไทยมีราคาสูงกว่าจึงไม่อาจแข่งขันได้ 

นอกจากนี้ ยังเห็นว่าโรงงานยางพาราไทยบางแห่งยังเก็บรักษายางไม่ได้มาตรฐาน (ขณะที่ผู้ประกอบการไทยชี้แจงว่าดำเนินการตามมาตรฐานแล้ว จนสามารถส่งออกไปยังจีนได้จำนวนมาก) พร้อมทั้งยังแนะนำให้ไทยกำหนดมาตรฐานการตรวจสอบวัดคุณภาพในรูปแบบ STR หรือ Standard Thai Rubber ต่อสินค้ายางอัดแท่ง เพื่อควบคุมความน่าเชื่อถือของสินค้าให้ทัดเทียมกับประเทศคู่แข่งอื่น ๆ ได้ (แม้ผู้ประกอบการไทยจะชี้แจงว่ามีการกำหนด STR อยู่แล้ว แต่ฝ่ายอินเดียยังยืนยันว่าควรมีการปรับปรุงมาตรฐานดังกล่าวให้ได้ “มาตรฐานสากล”ตามที่ฝ่ายอินเดียยึดถือ)

ติเพื่อก่อ ... รับฟังเพื่อการพัฒนา

ความคิดเห็นที่ผู้ประกอบการอินเดียสะท้อนไว้ให้ฝ่ายไทย แม้จะเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจรื่นหูนัก แต่การรับฟังข้อมูลด้วยใจที่เปิดกว้างอาจจะทำให้ไทยสามารถพัฒนา และแก้ปัญหาราคายางพาราได้อย่างสร้างสรรค์ และมีประสิทธิภาพต่อไปได้

การพัฒนามาตรฐานคุณภาพยางนั้นเป็นเรื่องเทคนิคเกินกว่าที่เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ อย่างผู้เขียนจะเข้าใจ แต่อย่างน้อยผู้อ่านทุกท่านก็คงเห็นตรงกันว่า การให้ความรู้และการพัฒนาสินค้ายางให้มีคุณภาพตามที่ตลาดระดับโลกต้องการ ยังคงเป็นความท้าทายที่ กยท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องผลักดันอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป 

ในมุมมองของสถานเอกอัครราชทูตฯ เห็นว่าการเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือเชิงองค์กร หรือสถาบันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยและอินเดีย ก็อาจเป็นหนทางหนึ่งที่จะสามารถเพิ่มโอกาสของไทยในตลาดอินเดียได้บ้าง โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่าง กยท. กับสมาคมผู้ผลิตยางล้อประเทศอินเดีย (Automotive Tyre Manufacturers Association-ATMA และสมาคมอุตสาหกรรมยางพาราของอินเดีย (All India Rubber Industries Association-AIRIA) 

สถานเอกอัครราชทูตฯ จะยังคงศึกษาโอกาสของยางไทยในตลาดอินเดียต่อไป และจะนำข้อมูลที่น่าสนใจมาเล่าให้ท่านผู้อ่านได้ทราบในโอกาสหน้านะคะ

 โดย...

เชษฐ์ธิดา กิตติ์ชัยวัชร์

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี