การเมืองหลังเลือกตั้ง

การเมืองหลังเลือกตั้ง

การได้นายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้งเกิดขึ้นได้ในหลายวิธี

วิธีแรกคือ บุคคลที่พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งได้เสนอชื่อไว้กับ กกต. ตอนไปสมัครรับเลือกตั้ง ได้รับคะแนนเสียง 376 เสียง บุคคลนั้นก็จะได้รับเสนอชื่อต่อประมุขของรัฐให้เป็นนายกรัฐมนตรี

ขั้นตอนแรกนี้ อาจเกิดขึ้นได้ 2 แบบ แบบแรกคือ เสียง 376 เสียงมาจาก ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎรล้วนๆ โดยไม่ต้องง้อเสียง ส.ว.ซึ่งมี 250 เสียง

แต่การได้นายกรัฐมนตรีแบบนี้ พรรคการเมืองทุกพรรคจะต้องมี “วิธีคิดแบบเดียวกัน” ก่อน นั่นคือ ไม่เอาคนนอก ไม่สนใจเสียง ส.ว. แม้อาจจะมี ส.ว. บางคนบางกลุ่มมาเสนอว่า หากพรรคใดสนใจที่จะสนับสนุน “คนนอก” ตามที่ ส.ว. หมายมั่นแล้ว จะได้โน่นได้นี่

การได้นายกรัฐมนตรีตามวิธีนี้ มีข้อดีคือ ประชาชนจะรู้ตั้งแต่ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งแล้วว่า พรรคใดเสนอชื่อใครให้เป็นนายกรัฐมนตรี ถ้าประชาชนชอบชื่อที่เสนอ ก็ไปลงคะแนนให้ ไม่ชอบก็ไม่ให้

อีกทั้งกฎหมายอนุญาตให้เสนอชื่อได้ถึง 3 ชื่อ ดังนั้น หากใครเป็นอะไรไป หรือพ้นจากตำแหน่งไป สังคมก็รู้ว่า ใครน่าจะเป็นคนต่อมา

ข้อดีอีกประการหนึ่ง คือ เมื่อประชาชนรู้และลงคะแนนให้ ก็หมายความว่า คนๆ นั้น (ถึงแม้ว่ากฎหมายจะไม่ได้กำหนดให้คนที่ถูกเสนอชื่อจะต้องลงสมัครรับเลือกตั้งหรือเป็น ส.ส.) ก็เหมือนได้รับเลือกตั้งอยู่กลายๆ

ขณะเดียวกัน ถ้า “คน” ของ คสช. ที่ถูกวางตัวไว้ให้เป็นนายกรัฐมนตรี มีความใจถึงพอที่จะยอมให้พรรคการเมืองใดเอาชื่อไปลงทะเบียนไว้ และหากประชาชนส่วนใหญ่อยากได้คนผู้นั้นเป็นนายกรัฐมนตรี ผลก็คือ พรรคนั้นอาจจะได้เสียงถล่มทลาย และสามารถได้เสียง 376 เสียงได้ไม่ยาก เพราะนอกจากเสียงในสภาผู้แทนฯ จะมากแล้ว ยังมีเสียง 250 เสียงของ ส.ว. สมทบเข้าไปอีกด้วย แต่ถ้าประชาชนเกิดไม่ชอบ ก็ถือว่าจบกันไปเลย  

สูตรนี้เรียกได้ว่า “ลงทุนสูง เสี่ยงสูง ถ้าได้ก็ได้เลย ถ้าเสียก็หมดรูปไปเลย”

ข้อดีประการสุดท้ายจากการที่พรรคการเมืองทั้งหลายมี “วิธีคิดแบบเดียวกันนี้” คือ การปรองดองกันประมาณหนึ่งในหมู่นักการเมือง

แต่ถ้าพรรคการเมืองไม่มี “วิธีคิดแบบเดียวกัน” ก็ยากที่จะได้นายกรัฐมนตรี “คนใน” (ยกเว้น คนของ คสช. จะกล้าได้กล้าเสียอย่างที่ว่าไป)

เมื่อไม่สามารถได้ “คนใน” รัฐธรรมนูญก็เปิดช่องให้หาจาก “คนนอก” ได้ ที่เรียกกันว่า “ปลดล็อก” คนที่จะเสนอให้มีการปลดล็อก คือ ส.ส. เท่านั้น และต้องมีจำนวน 250 คนขึ้นไป

ภายใต้ระบบเลือกตั้งแบบนี้ โอกาสที่พรรคใดพรรคหนึ่งจะได้เก้าอี้ ส.ส. 250 คนเป็นเรื่องยาก แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นไปไม่ได้เลย  

ดังนั้น การปลดล็อกน่าจะเกิดขึ้นจากการที่มีพรรคการเมืองตั้งแต่ 2 พรรคขึ้นไปเห็นพ้องต้องกันที่จะปลดล็อก เมื่อได้ 250 ขึ้นไป ก็เอาชื่อทั้งหลายนี้ไปเสนอกับ ส.ว. เพื่อขอเปิดประชุมญัตติให้หานายกฯจาก “คนนอก” ได้ เมื่อประชุม 2 สภาได้ แต่การจะให้ญัตตินี้ผ่าน ต้องมีคะแนนเสียง 500 ซึ่งในกรณีนี้ เสียง 250 ของ ส.ส. ที่รวบรวมมาได้เพื่อจะเอาคนนอกนั้น 250 ส.ส. ก็น่าจะมีชื่อ “คนนอก” ที่ตรงกันในใจอยู่แล้ว มิฉะนั้น ก็คงจะไม่ยอมมารวมกัน 250 หรอก

แต่ชื่อในใจของ 250 ส.ส. จะตรงกับชื่อในใจของ 250 ส.ว. หรือไม่นั้น ช่วงนี้ก็คงจะต้องเจรจากันอีรุงตุงนังพอสมควร ถ้าปรับความถี่ไม่ตรงกัน แม้ว่าจะเปิดประชุมได้ แต่เมื่อลงมติ ก็จะไม่ผ่าน เรื่องก็ต้องกลับไปหา “คนใน” ในสภาผู้แทนฯอีก ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะตกลงกันยังไงได้ นอกเสียจากพรรคการเมืองจะต้องหาทางประนีประนอมต่อรองกันเองไป

อีกสูตรหนึ่งคือ มีเพียง 2 พรรคใหญ่เท่านั้นที่มีวิธีคิดแบบเดียวกัน 2 พรรคนี้ก็อาจจะลงเอยได้เป็นพรรคฝ่ายค้านร่วมกัน ความปรองดองก็จะเกิดขึ้นประมาณหนึ่ง

แต่ถ้าเกิดตัวเลข ส.ส. หลังเลือกตั้ง มันชุลมุนชุลเกจนยากที่จะมีการรวมกันได้เกิน 250 เพราะมีพรรคหนึ่งได้ 250 และพรรคนี้ไม่เห็นด้วยที่จะปลดล็อก หรือมี 2 พรรคที่รวมกันแล้วเกิน 250 ไม่ต้องการปลดล็อก ขณะเดียวกัน ก็ได้คะแนนไม่ถึง 376 ด้วย ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็ถือว่าเป็น ทางตันทางการเมือง นั่นคือ เลือกนายกรัฐมนตรีคนในก็ไม่ได้ จะปลดล็อกเอาคนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้

อีกทั้งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ไม่ได้กำหนดเงื่อนเวลาว่า จะต้องจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ภายในกี่วันเหมือนที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ทางตันนี้ก็จะอยู่ยาว

ส่วนรัฐบาลลุงตู่และ คสช. ก็จะต้องเป็นรัฐบาลไปพลางๆ หรือเรื่อยๆ แต่ถ้าว่าตามประเพณีการปกครองแบบรัฐสภาแล้ว เมื่อถึงทางตันที่จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นมีได้ 2 อย่าง อย่างแรกคือ ยุบสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ เผื่อตัวเลข ส.ส. ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะช่วยให้ไม่เกิดทางตัน

อย่างที่ 2 คือ เสนอชื่อ คนที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด (แม้ว่าจะไม่ถึง 376 เสียง ก็ตาม ซึ่งกรณีนี้เป็น “คนใน”) ต่อประมุขของรัฐเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีเสียงข้างน้อย

การยุบสภาก็ดี หรือ การให้คนที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดแต่ไม่ถึงเกณฑ์ก็ดีเป็นนายกรัฐมนตรี คือหนทางที่จะทำให้การเมืองเดินหน้าต่อไป ไม่ใช่อุดตันค้างท่ออยู่ ตั้งรัฐบาลใหม่ก็ไม่ได้ รัฐบาลเก่าก็อยู่ยากเพราะปะติดปะต่อไม่ติดกับสภาที่เพิ่งเลือกตั้งเข้ามา ด้วยรัฐบาลเก่าไม่ต้องรับผิดชอบต่อสภาที่มาจากเลือกตั้ง เพราะรัฐบาลเก่ามาจากรัฐประหารและสภาที่ตัวเองแต่งตั้งเข้ามา

แต่ใครจะเป็นผู้มีอำนาจในการยุบสภา และใครมีอำนาจในการเสนอคนที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดแต่ไม่ถึงเกณฑ์  อาจต้องลงเอยที่ มาตรา 5 ที่ว่า หากไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ให้ว่าตามประเพณีการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข