“ทำเล” นั้นสำคัญไฉน

“ทำเล” นั้นสำคัญไฉน

“ทำเล” นั้นสำคัญไฉน

ทำเลที่ดีในอดีตนั้น มักจะให้ความสำคัญกับการเป็นศูนย์กลางการสัญจรของผู้คน มีคนแวะเวียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การทำมาค้าขึ้น ซึ่งถ้าเป็นสมัยเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนการมีร้านรวงอยู่ริมถนนสายหลักของกรุงเทพฯถือว่ามีมูลค่ามาก แต่เมื่อมีรถไฟฟ้าเกิดขึ้น กลายเป็นว่าร้านค้าที่อยู่ตามแนวรถไฟฟ้า (แต่ไม่ได้อยู่ตรงทางขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้า หรือวินมอเตอร์ไซค์) กลับประสบภาวะลำบากขึ้นมาทันใด เพราะคนส่วนใหญ่มักนั่งรถมอเตอร์ไซค์ หรือรถรับจ้างผ่านร้านไปเลย

ประเทศอื่นๆในโลกต่างก็ประสบกับปัญหานี้เช่นเดียวกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกระแสอีคอมเมิร์ซเกิดขึ้น โดยเมื่อปีที่แล้วเพียงปีเดียวมีร้านค้าปลีกในประเทศสหรัฐอเมริกาปิดตัวลงเกือบ 6,985 แห่ง (มากกว่า 50% ของการปิดตัวในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2551) นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ประสบกับภาวะล้มละลายมากถึง 15 บริษัทด้วยกัน

แต่การเข้ามามีบทบาทของอีคอมเมิร์ซก็ใช่ว่าจะส่งผลร้ายกับร้านค้าดั้งเดิมเสมอไป แอพ Line Man ที่ช่วยให้การสั่งซื้ออาหารเจ้าเด็ดเจ้าดังไม่ว่าจะอยู่ริมถนน หรือในตรอกซอกซอยสามารถทำได้โดยง่าย หรือ UberEATs ซึ่งทำให้การสั่งก๋วยเตี๋ยว 2 ห่อโดยมีคนมาส่งให้ถึงบ้านภายในครึ่งชั่วโมงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ เทคโนโลยีเหล่านี้ไม่เพียงเข้ากับวิถีชีวิตของคนธรรมดาๆ แต่ยังช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่ได้มีหน้าร้านใหญ่โตสามารถเพิ่มรายได้โดยไม่ต้องลงทุนเป็นจำนวนมากอีกด้วย

การมาของกระแสอีคอมเมิร์ซสนั้น แต่เดิมเป็นที่หวั่นเกรงกันว่าอาจจะทำให้ร้านค้าปลีกถึงกับล้มหายตายจากกันไปเลยทีเดียว แต่ในความเป็นจริงแล้วอาจมิใช่อย่างนั้นเสมอไป โดยแจ๊ค หม่า ผู้ก่อตั้ง Alibaba ได้นิยาม “การค้าปลีกแนวใหม่” (New Retail) ไว้ว่า คือ การผสมผสานระหว่างการค้าออนไลน์และการค้าแบบดั้งเดิม โดยจากข้อมูลของ FGRT และ CELECT พบว่าบริษัทค้าปลีกออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯอย่าง Amazon และ บริษัทค้าปลีกออนไลน์ขนาดใหญ่เป็นอันดับหนึ่ง และสองของจีนอย่าง Alibaba และ JD.com ต่างมีแผนเปิดร้านค้า (ที่เป็นร้านค้าจริงๆ ที่ลูกค้าเดินเข้าร้านไปหยิบจับซื้อของได้) โดย JD.com มีแผนที่จะเปิดร้านสะดวกซื้อมากกว่า 1 ล้านสาขาทั่วประเทศจีนในอีก 5 ปีข้างหน้า ในขณะที่ Alibaba ประกาศเปิดร้านค้าปลีกประเภท Omni-channel จำนวน 2,000 สาขาในประเทศจีนในอีก 3 – 5 ปีข้างหน้า โดย Omni-channel คือร้านค้าปลีกที่หลอมรวมประสบการณ์เดียวกันให้กับผู้บริโภคในทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟนแล้วให้ส่งมาที่บ้าน หรือหาข้อมูลทางแอพก่อนแล้วมาดูเพิ่มที่ร้าน หรือซื้อในแอพแล้วมารับของที่ร้าน หรือเลือกที่ร้านแล้วกลับมาซื้อในแอพ ฯลฯ โดยลูกค้าจะเสมือนเจอคนขายคนเดิมคนเดียวตลอดกระบวนการการซื้อนั่นเอง

นอกจากจะขยายสาขาที่มีพนักงานประจำอยู่ในร้านแล้ว ยังมีร้านสะดวกซื้อปราศจากผู้ขายอีกด้วย โดย BingoBox ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่ 200 สาขาทั่วประเทศจีนและกำลังมีแผนที่จะขยายสาขาไปยังฮ่องกง เกาหลีใต้ มาเลเซีย และยุโรป ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และการเรียนรู้โดยเครื่องจักร (AI and Machine Learning) ในการบริหารสินค้าคงคลังให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด รวมถึงใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้า (Facial Recognition) ในการคิดเงินลูกค้า โดยลูกค้ามีเพียงสมาร์ทโฟน และโมบายเพย์เมนท์ แอพพลิเคชั่น อย่าง WeChat หรือ AliPay ก็สามารถซื้อสินค้าจากร้านได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 ส่วนบริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่เองก็เริ่มปรับตัวโดยการส่งสินค้าฟรีและให้รวดเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เช่น การจัดส่งสินค้าภายใน 1 วันของ Target และภายใน 1 ชั่วโมงในบางพื้นที่ของจีนโดย Walmart เป็นต้น

ตัวอย่างการต่อสู้ในสมรภูมิการค้าปลีกที่เห็นข้างต้น แสดงให้เห็นว่า “ทำเล” ของร้านค้าอาจยังมีความสำคัญ แม้ไม่มากเท่าในอดีต แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่า คือ การเตรียมตัวรองรับกับศักยภาพการการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่และการเรียนรู้ด้วยตนเองของเครื่องจักร ที่จะเข้าถึงความต้องการของลูกค้าก่อนที่ลูกค้าจะรู้ตัวว่าตนเองต้องการอะไรด้วยซ้ำ

ช่างน่ากลัวจริงๆ…….