ดุลยภาพที่ต้องรักษา ในตะวันออกกลาง

ดุลยภาพที่ต้องรักษา ในตะวันออกกลาง

นักวิเคราะห์แทบทุกรายต่างเป็นห่วงว่า สถานการณ์ตะวันออกกลางปีนี้จะรุนแรงกว่าทุกปี แม้ว่าไอเอสจะอ่อนกำลังลงสูญสิ้นทุกที่มั่นใหญ่ไปแล้ว

ก็ไม่มีใครโล่งอก เพราะไม่เพียงแต่เงื่อนไขอื่นยังอยู่กันครบ เช่น รัฐบาลซีเรียก็ยังคงกินอิ่มนอนหลับภายใต้การปกปักของกรงเล็บหมีขาวที่ยิ่งฝังรากลึกในภูมิภาค หรือกลุ่มฮูตีในเยเมนยังคงแข็งแกร่งต่อเนื่องอย่างเหลือเชื่อ ท้าทายซาอุดีอาระเบีย ที่ 3 ปีแล้วก็กดพวกเขาไม่ลงเสียที

แต่เงื่อนไขใหม่ที่ทำให้หนักใจยังมีมาอย่างต่อเนื่อง

การย้ายสถานทูตสหรัฐ ไปเยรูซาเล็ม ทำให้แทบทุกสำนักชี้ไปว่าอิสราเอลหนักหน่วงแน่ การประกาศเอกราชของรัฐเคิร์ดอาจทำให้อิรักแตกเป็นเสี่ยง และล่าสุดคืออิหร่านจะซวนเซขนาดไหนด้วยการประท้วงครั้งใหญ่สุดในรอบหลายปี ที่มุ่งเป้าทิ่มแทงระบอบนักบวช (Mullah) ผู้ปกครองประเทศตัวจริง

แต่ช้าก่อน สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเวลานี้ยังไม่มีตัวไหนที่ชี้ได้ว่าสถานการณ์ในตะวันออกกลางจะพลิกผันไปกว่าปีที่ผ่านมาอย่างคาดไม่ถึง  

คำว่า “ไม่” นั้นหมายถึงอิสราเอลไม่น่าจะถูกกินโต๊ะจากชาติอาหรับจนเจียนอยู่เจียนไปได้เหมือนยุค 70 อีกแล้ว ระบอบปฏิวัติอิสลามอิหร่านแบบที่เป็นอยู่นี้ก็ไม่น่าที่จะล่มสลายเหมือนหลายระบอบเผด็จการช่วง Arab Spring ปี 2554 ขณะที่การมีเคอร์ดิสถานในอิรักนั้นก็ไม่ทำให้อิรักแย่ไปกว่านี้สักเท่าไหร่

ที่เป็นเช่นนี้เพราะการเมืองในตะวันออกกลางตั้งอยู่บนดุลยภาพของหลายขั้วอำนาจทั้งในระดับระหว่างประเทศและในประเทศเอง การเปลี่ยนแปลงอย่างน่าตกใจในจุดใดจุดหนึ่ง จะต้องถูกทดแทนในทันทีด้วยการสร้างดุลยภาพใหม่ขึ้นทดแทน เช่น เมื่อตอนอาหรับสปริง อียิปต์ต้องสงบอย่างรวดเร็วจนได้ ลิเบียกับเยเมนนั้นไม่สามารถเอาลงได้นิ่งเหมือนอย่างอียิปต์ ผลคือความวุ่นวายที่ลามเข้าไปในยุโรปและซาอุดีอาระเบีย

ส่วนซีเรียนั้นสงครามตัวแทนที่เกิดขึ้นก็เป็นการมุ่งหน้าสู่ดุลยภาพแบบหนึ่ง การสู้กันแบบสามก๊กระหว่างฝ่าย Assad ฝ่ายต่อต้าน และฝ่ายไอเอส นั้นทำให้ไม่มีใครได้ชัยอย่างเต็มที่ แต่ก็มีคนได้ประโยชน์ในฐานะพ่อค้าสงครามเช่นกัน

สหรัฐมีนโยบายเช่นนี้อยู่แล้ว แต่ไหนแต่ไรรัฐบาลวอชิงตันไม่ต้องการครองภูมิภาคนี้แบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งรังแต่จะเจอการต่อต้านมากมายแบบที่อังกฤษกับฝรั่งเศสเคยเจอ แต่ยุทธศาสตร์ผู้ครอบงำตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คือ ให้พื้นที่เป้าหมายเกิดความระส่ำระสายอยู่บ้างในระดับพอควบคุมได้ โดยที่ทุกฝ่ายต้องพึ่งพิงสหรัฐ

การแทรกเข้ามาอยู่ท่ามกลางวงล้อมอาหรับของยิวกลายเป็นปัจจัยเกื้อกูลยุทธศาสตร์นี้ของสหรัฐ ขณะเดียวกันตัวเล่นที่เป็นศัตรูกันก็ต้องฝีมือก้ำกึ่งกัน ใครด้อยไปสักหน่อยจนทำท่าจะล้มก็อย่าให้ลาโรง ยิ่งในยุคนี้ที่รัฐบาล Donald Trump ต้องการให้ชาติใหญ่ในภูมิภาคมีบทบาทรักษาสันติภาพแทนสหรัฐ มากขึ้น ดุลยภาพยิ่งจำเป็น

อิหร่านเป็นไม้เบื่อไม้เมากับทั้งสหรัฐ และซาอุดีอาระเบียก็จริง แต่อิหร่านก็เป็นปีศาจตัวใหญ่ที่ปล่อยให้ล้มไม่ได้

ถ้าอิหร่านสามารถขยายระบอบปฏิวัติอิสลามได้จริงตามที่ Ayatollah Khomeini เคยฝัน นั่นสิน่ากลัว แต่มันไม่ใช่ อิหร่านวันนี้เป็นเครื่องมือไว้ขู่ยิวขู่สุหนี่ด้วยขีดความสามารถอันจำกัดของอิหร่านเอง โดยที่สหรัฐ ก็เกาะเกี่ยวให้อิหร่านกลายเป็นประชาธิปไตยอย่างช้าๆ จะมีนิวเคลียร์เกินไปก็ไม่ได้ จะล่มสลายก็จะกลายเป็นสูญญากาศสร้างความวุ่นวาย ไม่ได้อีก

การย้ายสถานทูตสหรัฐ จากกรุงเทลอาวีฟไปนครเยรูซาเล็มสร้างความไม่พอใจทั่วโลกก็จริง แต่ถ้ามองไปทั่วว่าชาติไหนจะกล้าทำสงครามกับอิสราเอล ก็ยังมองไม่เห็น

แม้ว่าโลกอิสลามและอาหรับมีองค์กรความร่วมมือระดับโลกที่กระชับกว่าในอดีต แต่ผู้นำแนวเผด็จการกลับไม่มากเหมือนก่อน สมองของพวกเขายังคงสั่งให้โอบล้อมอิสราเอลต่อไป แต่ไม่กล้าสั่งให้บดขยี้ด้วยกำลัง ยิ่งแต่ละชาติต่างมีสงครามติดบ้านยุ่งไปหมด ปาเลสไตน์ก็ได้แต่คำหวานต่อไปก็แล้วกัน

การปรากฏตัวของเคอร์ดิสถานอิรักนั้นไม่แตกต่างจากการมียูเครนตะวันออกที่เป็นเอกราชสักเท่าไร นั่นเพราะตามพฤตินัยก็เป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว

สงครามระหว่างรัฐบาลกลางกับเคิร์ดนั้นที่จะเกิดหรือไม่นั้นยังสงสัยว่ารัฐบาลกลางจะกล้าขนาดไหน แต่ต่อให้เกิดขึ้นก็ไม่น่าที่จะขยายกลายเป็นปัญหาขนาดใหญ่ข้ามประเทศได้ แม้ว่าขบวนการแบ่งแยกดินแดนเคิร์ดนั้นมีทั้งในซีเรียและตุรกีด้วย แต่ไม่สามารถร่วมผลประโยชน์กับเคิร์ดอิรักได้

ยิ่งไม่ต้องพูดถึงโอกาสจะอยู่รอดเดี่ยวๆ อย่างแข็งแกร่ง โอกาสของ Greater Kurdistan ไม่มีเลย

ความแข็งแกร่งของกลุ่มฮูตีในเยเมนที่ทำให้ซาอุดีอาระเบียและรัฐอ่าวต้องวิตกนั้นอาจเรื้อรังต่อไป การที่รัฐบาลริยาดห์ติดหล่มเช่นนี้อาจเป็นผลดีกับสหรัฐ ก็ได้ที่ให้ซาอุฯ ถลำลงมาเล่นบทรักษาสันติภาพในอ่าวมากขึ้น

ที่น่าสนใจคือกลุ่มก่อการร้ายจริงๆ อย่างไอเอสนั้นจะทำอย่างไรต่อไป

ถ้าพวกนี้ไม่เป็นภัยแบบยกกำลังเข้ารบในตะวันออกกลางแล้ว สหรัฐอาจโยกกำลังไปเล่นเรื่องอื่นได้มากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม ตะวันออกกลางยังเป็นใจกลางโลกที่นักยุทธศาสตร์ตะวันตกลุ่มหลง ทิ้งไปไม่ได้และพร้อมที่จะแสวงประโยชน์อยู่เสมอ