ราชนีติ : วิถีพระราชามรรคาผู้นำ (5)

ราชนีติ : วิถีพระราชามรรคาผู้นำ (5)

ตอนที่แล้ว กล่าวถึงคาถาราชนีติบทที่ 9-21 ซึ่งเป็นคำแนะนำการเลือกคนมาทำงานในตำแหน่งต่างๆ สรุปเป็นหลักการได้ว่า การเลือกคนมาทำงานนั้น

ต้องเลือกเอาคนที่มีความสามารถตรงกับตำแหน่งงานที่ให้รับผิดชอบ ฝรั่งว่า put the right man on the right job หรือไทยว่า “ใช้คนให้ถูกกับงาน” จึงจะทำให้งานของพระราชา หรือผู้นำประเทศ ผู้นำองค์กร ผู้นำทางสังคม ที่นำหลักการนี้ไปใช้ดำเนินไปในทิศทางที่กำหนดไว้จนบรรลุเป้าหมายในที่สุด

ตอนนี้ จะได้กล่าวถึงคาถาบทต่อไป ดังนี้

คาถาบทที่ 22 พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใด มีข้าเฝ้าที่มีปัญญาฉลาดเอาใจใส่ในราชกิจ แกล้วกล้าสามารถ เหมาะแก่ตำแหน่งมนตรี ราชกิจในพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้น ย่อมสำเร็จได้โดยตลอด

คาถาบทที่ 23 ผู้ที่ดำรงอยู่ในตำแหน่งแล้ว เป็นคนไม่ล่อลวง มีความสนิทสนมกับพระเจ้าอยู่หัวของตน แม้ด้วยเหตุของตน มีความสามารถด้วยกำลังกาย และบริวารยศ เพราะเหตุนี้ เขาควรจะพิดทูลความดี หรือมิดี ซึ่งเป็นประโยชน์ใหญ่ เป็นที่ปลาบปลื้มใจอันเป็นของหาได้ดีได้ยาก

คาถาบทที่ 24 ชนะคนที่ต่ำกว่า ไม่จัดเป็นชนะที่ดี ข่มเหงคนที่อ่อนกำลังกว่า ไม่จัดว่าเป็นลูกผู้ชาย ชนะคนที่มีกำลังมาก จัดว่าเป็นคนพิเศษ แต่เจ้าชนะทาสก็ไม่ชื่อว่าชนะดี คนที่เบียดเบียนคนยอมแพ้ ไม่เชื่อว่าคนดีเลย

คาถาบทที่ 25 เจ้า 1 ข้าเฝ้าที่คล้อยตามเจ้า 1 ประเทศมีคนดี 1 คูมีลักษณะข้ามยาก 1 ลงโทษตามโทษานุโทษ 1 คลังมีทรัพย์สมบัติมิรู้สิ้น 1 มิตรที่เป็นเพื่อนในยามวิบัติ 1 นี้นักปราชญ์ฝ่ายนิติศาสตร์กล่าวว่าเป็นความสงบ 7 อย่าง

คาถาบทที่ 26 เจ้า 1 ข้าเฝ้า 1 รัฐมณฑล 1 คูข้ามยาก 1 คลัง 1 พล 1 ราชสัมพันธ์ไมตรีที่มั่นคง 1 นี้นักปราชญ์กล่าวว่าเป็นองค์แห่งราชัย 7 อย่าง

คาถาบทที่ 27 ถึงแม้ขาดแคลนไปเพียงข้อเดียวก็ตาม แต่ความเรียบร้อยหาเป็นไปเฉพาะพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้นไม่ ข้าเฝ้าต้องประพฤติให้ครบองค์นั้นๆ อย่าให้ขาดได้

คาถาบทที่ 28 พระเจ้าอยู่หัวต้องทรงปรารถนารักษาคุณธรรม ทรงทำพระองค์ตามคุณธรรมก่อน แต่นั้นจึงทรงพระวิจารณ์ส่วนที่เหลือ

คาถาบทที่ 29 พระเจ้าอยู่หัวต้องทรงพระปรีชา ต้องมีความรู้ ทรงเว้นคำกล่าวของคนเลวทราม ทรงขยัน ทรงอดทน มีพระทัยซื่อตรง ทรงธรรม ไม่มีความริษยา

คาถาบทที่ 30 พระเจ้าอยู่หัวต้องทรงแต่ดี ประกอบด้วยคุณมีสัมพันธมิตรเป็นต้น ทรงมีสติ รู้จักย่ำยีข้าศึกให้พินาศ องอาจสามารถ ทรงพระปรีชา หนักแน่น ทรงทราบความเสื่อมความเจริญ

คาถาบทที่ 31 พระเจ้าอยู่หัวต้องทรงรู้จักผู้มีคุณ ทรงแกล้วกล้า ทรงสมาคมคบหาผู้มีความรู้ ไม่ใฝ่ความพินาศ ทรงใคร่ครวญตระหนักแล้วจึงทำ ไม่ทรงนินทาใคร มีพระดำรัสตรัสแล้วไม่คืนคำ

(คัดจากฉบับแปลของ นายทอง หงส์ลดารมภ์)

สรุปความจากคาถาบทที่ 22-27 เป็นเรื่องการเตรียมคน/การหาคนมาเป็นผู้ปฏิบัติงานระดับต่างๆ ของพระราชาและผู้นำทั้งหลาย รวมถึงหลักการปฏิบัติตนของผู้นำที่มีต่อผู้ใต้บังคับบัญชา และการเตรียมพร้อมสำหรับการพิทักษ์รักษาอาณาจักรหรือองค์กรของตน ส่วนคาถาบทที่ 28-31 มุ่งเฉพาะเจาะจงไปที่พระราชาโดยตรง

เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว จะเห็นได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงปฏิบัติตามแนวทางในพระคาถาบทที่ 28-30 อย่างประจักษ์ชัด โดยเฉพาะคาถาบทที่ 30 ที่ว่า “พระเจ้าอยู่หัวต้องทรงแต่ดี ประกอบด้วยคุณมีสัมพันธมิตรเป็นต้น ทรงมีสติ รู้จักย่ำยีข้าศึกให้พินาศ องอาจสามารถ ทรงพระปรีชา หนักแน่น ทรงทราบความเสื่อมความเจริญ”

คำสำคัญในคาถาบทนี้คือ “รู้จักย่ำยีข้าศึกให้พินาศ” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรง “ย่ำยีข้าศึกให้พินาศ” มาแล้ว

ข้าศึกที่พระองค์ทรงย่ำยีคืออะไร ก็คือความยากจนของพสกนิกรทั่วประเทศนั่นเอง

หลักฐานที่ปรากฏ ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานสัมภาษณ์แก่นักข่าวต่างประเทศ เมื่อครั้งที่รัฐบาลไทยต่อสู้กับกองทัพปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งนักข่าวต่างประเทศกราบทูลถามเรื่องพระราชกรณียกิจของพระองค์ที่ทรงทำเพื่อราษฎร สรุปความได้ว่า เพื่อเอาชนะสงครามกับคอมมิวนิสต์หรือไม่ ทรงตอบสรุปความได้ว่า เพื่อเอาชนะความยากจน เพราะศัตรูที่แท้จริงคือความยากจนของราษฎรนั่นเอง

นั่นย่อมหมายความว่าพระองค์ “ทรงมีสติ องอาจสามารถ ทรงพระปรีชา หนักแน่น ทรงทราบความเสื่อมความเจริญ” ทำให้ทรง “รู้จักย่ำยีข้าศึกให้พินาศ” โดยใช้การพัฒนาให้ประชาชนอยู่ดีกินดีเป็นเครื่องมือในการย่ำยีข้าศึกคือความยากจนของราษฎรให้พินาศไป

จากคำพระราชทานสัมภาษณ์นั้น ยังเห็นสิ่งที่คาถากล่าวไว้ว่า “พระเจ้าอยู่หัวต้องทรงแต่ดี ประกอบด้วยคุณมีสัมพันธมิตรเป็นต้น” นั่นคือ ไม่ทรงกล่าวร้ายลัทธิคอมมิวนิสต์ว่าเป็นศัตรู ซึ่งมีประเทศเล็กประเทศใหญ่ปกครองด้วยระบอบนี้อยู่ครึ่งโลกในสมัยนั้น หากกล่าวร้ายย่อมกระทบกระเทือนถึงประเทศเหล่านั้น ซึ่งไม่เกิดผลดีแต่อย่างใด

การเว้นที่จะกล่าวถึงในทางไม่ดีย่อมเป็นวิธีการรักษาไมตรีอย่างหนึ่ง กาลต่อมาประจักษ์ชัดว่า เมื่อความขัดแย้งทางด้านลัทธิการปกครองผ่อนคลายลง สงครามเย็นของโลกสงบลง ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ได้กลายมาเป็นมิตรที่ดีต่อกันในที่สุด

ราชนีติไม่เพียงใช้กับเฉพาะแต่พระราชาเท่านั้น ผู้นำหมู่คนทั้งหลาย ได้แก่ ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ประธานบริษัท ซีอีโอ ไล่ลงมามาจนถึง ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ก็ล้วนแต่สามารถศึกษาหาประโยชน์จากคาถาทั้ง 6 บทนี้ได้เช่นเดียวกัน