แนวโน้มการลงทุนปี 2561

แนวโน้มการลงทุนปี 2561

แนวโน้มการลงทุนปี 2561

ตลาดหุ้นไทยเริ่มต้นปี 2561 อย่างสดใส โดยปรับขึ้นเหนือสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ทำไว้เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2537 ที่ 1,753.73 จุด หรือผ่านมาแล้ว 24 ปีพอดี ตั้งแต่วันแรกที่เปิดทำการซื้อขายของปี และขณะที่นักเขียนบทความนี้ (8 มกราคม 2561) ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยพยายามทดสอบแนวต้านที่ 1,800 จุด

จุดที่แตกต่างกันอย่างมากระหว่างการทำสถิติสูงสุดในอดีตกับในปัจจุบันก็คือ ในปี 2536 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว (+28.47% ในเดือนธันวาคม 2536 และตลอดปีเพิ่มขึ้น 88.36%) ทั้งจากแรงเก็งกำไรและความคาดหวังเกี่ยวกับเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่มีความร้อนแรงในขณะนั้น ก่อนที่ไทยจะประสบวิกฤตต้มยำกุ้งในอีกราว 3 ปีต่อมา ในขณะที่ในปัจจุบัน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับตัวขึ้นอย่างระมัดระวัง ส่งผลให้ความผันผวนของดัชนีในช่วงหลังๆนี้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าในอดีต และส่งผลให้เมื่อนำผลตอบแทนของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยมาเทียบกับความเสี่ยง (ความผันผวน) จะพบว่าตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจอย่างมาก ในแง่ของแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน มีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ดี จากแรงหนุนของหลายปัจจัย เช่น การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งส่งผลดีต่อภาคการส่งออก การอุปโภคบริโภคภายในประเทศที่อยู่ในระดับที่ดี การท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง การลงทุนภาครัฐที่มีต่อเนื่อง และการลงทุนภาคเอกชนที่ค่อยๆฟื้นตัว

ในส่วนของต่างประเทศ จากการประเมินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯในปี 2561 จะขยายตัวราว 2.5% เท่ากับในปีนี้ ซึ่งเป็นการขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าคาดการณ์ระยะยาวของเฟดที่ 1.8% โดยที่ถึงแม้มีแนวโน้มที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีหน้า แต่นโยบายการเงินยังคงอยู่ในภาวะผ่อนคลาย และนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 30 ปี ซึ่งจะช่วยให้บริษัทต่างๆในสหรัฐฯมีกำไรสุทธิมากขึ้น โดยจากผลสำรวจระบุว่า บริษัทจะนำรายได้ที่เพิ่มขึ้นนี้ไปลงทุนเพิ่มหรือจ่ายโบนัสให้แก่พนักงาน ซึ่งจะเกิดผลดีต่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งมีสัดส่วนราว 70% ของจีดีพีสหรัฐฯ

ทางด้านยุโรป เศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีที่สุดในรอบหลายปี โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของเดือนธันวาคมขยายตัวมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่ดัชนีภาคบริการขยายตัวมากที่สุดในรอบ 6 ปี และธนาคารกลางยุโรปยังคงยืนยันที่จะใช้นโยบายผ่อนคลายต่อไป

สำหรับญี่ปุ่น ธนาคารกลางมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจมากขึ้น โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะได้แรงหนุนจากการเติบโตของการส่งออก และการบริโภคภายในประเทศ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำจะช่วยให้ธนาคารกลางยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป

ส่วนเศรษฐกิจจีน รัฐบาลยังคงใช้ความพยายามในการลดปัญหานี้สินที่อยู่ในระดับสูง ลดปัญหาการผลิตส่วนเกิน และลดปัญหามลพิษ  ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีนอยู่บ้าง แต่อย่างไรก็ดี การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะในโครงการเส้นทางสายไหมทางบกและทางทะเล (One Belt One Road) และการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กอปรกับการเติบโตของการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนยังคงมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นการเติบโตในอัตราที่ต่ำกว่าในอดีต แต่มีแนวโน้มที่จะเป็นการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น

จากภาพการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจหลัก ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ และนโยบายการเงินยังคงอยู่ในภาวะผ่อนคลาย การลงทุนในหุ้นจึงยังมีความน่าสนใจ ถึงแม้ตลาดหุ้นหลายๆประเทศปรับตัวขึ้นมาต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดยข้อมูลจาก Bloomberg ล่าสุดบ่งชี้ว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่าตลาดหุ้นในประเทศเศรษฐกิจหลักจะปรับตัวขึ้น ตามแนวโน้มเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลายๆประเทศที่ให้มุมมองเชิงบวกต่อภาวะเศรษฐกิจ

สำหรับตลาดหุ้นไทยก็น่าจะมีแนวโน้มที่ดีเช่นกัน ตามภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ดีกว่าในปี 2560 จากแรงหนุนของการเติบโตของการบริโภคภาคเอกชน การส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนภาครัฐ และการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงบรรยากาศเชิงบวกของเศรษฐกิจโลกและการเลือกตั้งที่จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้แก่นักลงทุนมากขึ้น

สำหรับความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องติดตาม ได้แก่ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจมีการขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด โดยมีเจ้าหน้าที่เฟดบางท่านสนับสนุนให้มีการขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้  ในขณะที่ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะในคาบสมุทรเกาหลี และตะวันออกกลาง จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลลบต่อบรรยากาศการลงทุนเป็นระยะ