Transformative Startup

 ไม่เปลี่ยนไม่ได้แล้ว โลกทุกวันนี้หมุนเร็วหายใจเฮือกเดียวหันมาอีกทีคนอื่นเขาขยับไปถึงไหนก็ไม่รู้

     การทำแบบเดียวอยู่ที่เดิมโดยไม่ยอมปรับตัวจึงเท่ากับการซอยเท้าอยู่ในสนามที่เต็มไปด้วยคนวิ่งห้อกันอยู่  นอกจากนั้นข้อมูลสถิติผลประกอบการของ Startup ทั่วโลกยังตอกย้ำด้วยจำนวน Startup ที่ประสบความสำเร็จมีเพียงประมาณ 10% ของทั้งหมดเท่านั้น ส่งท้ายปีเก่านี้เลยถือโอกาสชวน Start up ไทยมามองถึงการเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อไปสู่ปีใหม่ที่ดียิ่งกว่า โดยจะขอนำหลักการ Transformative Action Learning  ที่ทางสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ
ศศินทร์ฯ ทำการศึกษาไว้ว่าเป็นวิธีการเรียนรู้และการทำงานของธุรกิจในโลกยุคใหม่ มาช่วยประกอบแนวคิดไปพร้อมกัน

  1. Challenge Assumption ในทางหลักการเรียนรู้แล้วการที่มนุษย์คิดและตัดสินใจทำบางสิ่งบางอย่างมักจะมีที่มาจากสมมติฐานที่เขามีอยู่ ในโลกธุรกิจและ Business School ก็มีการพัฒนาแนวคิดทฤษฎีเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้โดยอยู่บนสมมุติฐานบางประการที่ระบุไว้ แต่สำหรับโลกยุคใหม่แล้วสมมุติฐานดังกล่าวนับเป็นตัวอันตรายที่สุดเพราะโลกหมุนเปลี่ยนไปไว การคิดจากข้อสังเกตในอดีตเพื่อใช้ตัดสินใจอนาคตจึงอาจกลายเป็นการฆ่าตัวตายหรือถ้าเบาหน่อยก็เป็นการเก็บกักตัวเองไว้ไม่ให้หมุนไปสู่การพัฒนา การศึกษาของศศินทร์ฯ พบว่านักธุรกิจปัจจุบันต้องรู้จักท้าทายสมมุติฐานของตัวเองอยู่เสมอแบบ Transformative Action Learning  ซึ่งแท้จริงแล้วต้องบอกว่าเป็นตัวตนของธุรกิจ Startup ที่เกิดขึ้นด้วยความพยายามจะ Disrupt สถานการณ์หรือโมเดลธุรกิจปรกติในตลาด ตัวอย่างแนวคิดที่อาจถูกท้าทายก็เช่น ในอดีตก่อนจะลงมือทำธุรกิจเรามักทำ  SWOT Analysis แล้วเริ่มมองหาทางจับเอาจุดแข็ง(S) ของเราไป ใช้งานกับโอกาส (O) ธุรกิจที่ปรากฏอยู่ แต่หากทุกคนทำเช่นนี้ก็ยากที่จะหลุดไปจากกรอบที่ใกล้เคียงกัน  คนที่รู้จักคิดให้แปลกต่าง เช่น เอาจุดแข็งไปจัดการอุปสรรค (T) จึงอาจสร้างนวัตกรรมได้ก่อนคนอื่น
  2. Refocus your goal เมื่อประเมินสถานการณ์แล้วก็กำหนดเป้าหมายของธุรกิจ Startup หลายรายด้วยความที่เป็นหน้าใหม่เพิ่งเปิดตัว อาจกำหนดเป้าหมายไว้เพียงคร่าวๆ ว่าตั้งตัวได้ไม่ล้มหายไปก่อนแล้วค่อยว่ากัน ซึ่งแม้จะทำให้ไม่ยึดติดเกินไปกับเป้าหมายยากๆ จนไม่กล้าลงมือทำแต่ก็อาจทำให้ขาดโฟกัสได้ อีกประเภทได้แก่ Startup ที่ตั้งเป้าเป็นเรื่องการระดมทุนให้ได้มากๆ เป็นหลัก ซึ่งแม้เงินลงทุนจะมีความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจแต่ ก็ไม่อาจตอบโจทย์ที่เป็นแกนหลักให้ยั่งยืนได้  โดยเฉพาะมี Startup หลายรายที่ระดมทุนมาได้มากมายแต่ไม่อาจนำไปลงทุนสร้างรายได้ต่อให้กับธุรกิจ การศึกษาที่ศศินทร์ฯ พบความสำคัญของการกำหนดเป้าหมายแบบมองยาวๆ หวังความยั่งยืนโดยอาจแบ่งเป้าออกเป็นช่วงๆ หากเป็น Startup เกิดใหม่เป้าช่วงแรกอาจต้องซอยถี่หน่อย เพื่อพร้อมปรับตัวไปตามสถานการณ์ แต่ที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งคือเป้าที่ไปฝากกับตัวชี้วัดชนิดอื่น เช่น ยอมขาดทุนเลือดออกเพื่อดึงคนเข้ามาเยอะๆ ก่อนแล้วค่อยคิดอีกทีว่าจะผันเอาคนเหล่านี้ไปต่อยอดธุรกิจอย่างไรดี  แบบนี้มีความเสี่ยงเกินไปหากไม่สร้างจังหวะให้ดี เพราะอาจลงเอยเสียเงินไปและเสียคนเหล่านี้ไปให้กับรายอื่นที่ทำตามแต่ทำได้ดีกว่าทีหลัง
  3. 3. Change of Plan ว่าด้วยการปรับเปลี่ยนแผนและกลยุทธ์การทำงาน ที่ศศินทร์ฯ พบจากเครือข่ายผู้ประกอบการว่าต้องระบุถึงความสำคัญของการปรับตัวนำเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนตัวเองแทบทั้งสิ้น ในอดีตเรื่องเหล่านี้อาจพอมีเวลาดูท่าทีก่อนได้ แต่ปัจจุบันด้วยการเติบโตของ AI พบว่ามีหลายธุรกิจที่อาจล้มละลายแบบชั่วข้ามคืนได้หากไม่รีบนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้เร็ว ซึ่งเรื่องนี้มองอีกแง่ก็นับเป็นโอกาสของ Startup ที่มักมีจุดแข็งเชิงเทคโนโลยี แต่ที่ต้องเปลี่ยนหรือปรับก็คือการไม่มองเพียงการนำเทคโนโลยีมาทำงานเฉพาะด้านเฉพาะส่วน  แต่ต้องมองต่อไปถึงการเชื่อมห่วงโซ่คุณค่าเพื่อให้ธุรกิจแบบดั้งเดิมเคลื่อนตัวตามไปด้วยได้  แบบนี้จึงจะเกิดเสกลขยายตัวไม่กระจุกแค่ในกลุ่มเล็กๆ  อีกด้านคือการเปลี่ยนแผนการทำตลาดจากเดิมที่เน้นพื้นที่ที่คุ้นเคย เช่น ตลาดในประเทศ  แต่ปัจจุบันตลาดไร้พรมแดนแล้ว การวางแผนจึงต้องมองไปถึงการหาธุรกิจบุกตลาดโลกไปพร้อมกัน  ซึ่งส่งผลต้องการวางโครงสร้างบางประการเช่น เรื่องภาษา และกฎระเบียบการค้า เป็นต้น
  4. 4. Recenter Action ตามสภาวะคนรุ่นใหม่ที่นิยมทำอะไรหลายๆอย่างไปพร้อมกัน ที่ศศินทร์ฯ พบว่าการเรียนรู้และทำงานในแบบดังกล่าวแม้จะมีข้อจำกัดเรื่องการจดจ่อสร้างสมาธิยาวๆ แต่ก็มีโอกาสเกิดจากความสามารถปรับตัวรับความหลากหลาย ประเด็นสำคัญอยู่ที่การ Center ความสนใจในการลงมือปฏิบัติมากกว่า หรือเรียกว่าเป็นการทุ่มเททำอย่างมีวินัยและ Commitment กับงานแต่ละชิ้น ไม่สลับไปสลับมาจนไม่ได้ไม่ดีเสียทั้งหมด  การ Recenter Action นี้เป็นการเปลี่ยนแปลงชนิดที่เริ่มทำได้ระดับส่วนตัว เช่นฝึกการทำงานใดงานหนึ่งให้ต่อเนื่องไม่ว่อกแว่กไปเช็คอีเมล์ ดูไลน์ สำหรับ Startup ก็เช่นกัน พบว่ามักปลุกปั้นงานมากกว่า 1 ชิ้นเสมอจนอาจทำให้หัวปั่นไปมา หากได้ลอง Recenter ตัวเองเสียใหม่ก็น่าจะดี
  5. 5. Review Evaluation มีคำกล่าวกันในหมู่ Startup ว่าให้ Fail Fast คือลงมือทำเพื่อการเรียนรู้ถูกผิดหรือรู้จักล้มให้เร็วจะได้รู้ว่าจะต้องไปยังไงต่อ ที่ศศินทร์ฯ ทำ Transformative Action Learning ก็พบความสำคัญของการได้ลงมือโดยไม่กลัวความผิดพลาด และพร้อมจะแบ่งปันกับคนอื่นเพื่อช่วยกันหาทางออกที่ดีกว่า  แต่ภาวะดังกล่าวควรอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มั่นคงปลอดภัยพอระดับหนึ่ง พูดง่ายๆ คือต้องรู้จักประเมินความเสี่ยงไปพร้อมกันไม่ใช่ว่า Fail Fast ทุกสถานการณ์ไปเรื่อย เพราะบางครั้งอาจไม่ได้มีโอกาสลุกกลับขึ้นมาใหม่ก็ได้  หนึ่งในเงื่อนไขช่วยได้คือการอยู่ในระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ที่เอื้อเฟื้อกันอยู่ในทางธุรกิจ  ทำให้พร้อมจะมีคนคอยหนุนพยุงในช่วงที่มีการทดลองโมเดลการทำงาน แล้วจึงผลัดกันหนุนผลัดกันส่งไปต่อ

          ทั้ง  5  ข้อที่กล่าวมาเป็นประเด็นชวน Startup ปรับตัวเพื่อเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ดีกว่าจะได้เป็น Transformative Startup รับปีใหม่ที่จะมาถึง ส่งใจเชียร์ทุกคนพร้อมบุกปีจอไปด้วยกันนะคะ