หากตลาดหุ้นปรับฐานแรง... พร้อมไหม ถามใจเธอ (นักลงทุน) ดู

หากตลาดหุ้นปรับฐานแรง... พร้อมไหม ถามใจเธอ (นักลงทุน) ดู

หากตลาดหุ้นปรับฐานแรง... พร้อมไหม ถามใจเธอ (นักลงทุน) ดู

นับเป็นเวลาเกือบ 9 ปีแล้วที่นักลงทุนทั่วโลก ต่างมีความสุขกับผลตอบแทนการลงทุนที่เป็นบวก ดังจะเห็นได้จากการที่ตลาดหุ้นทั่วโลกต่างปรับตัวขึ้นอย่างน้อย 2 เท่า (อ้างอิง ดัชนี MSCI World All Country Index) นับตั้งแต่ ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด และธนาคารกลางหลักอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ตลาดการเงิน ผ่านการซื้อสินทรัพย์ หรือ คิวอี  ทว่า เมื่อเฟด ส่งสัญญาณพร้อมที่จะย้อนศรการอัดสภาพคล่อง ด้วยการลดขนาดงบดุลต่อเนื่อง และธนาคารกลางยุโรปก็เริ่มลดคิวอีลง นักลงทุนพร้อมแล้วหรือยัง ถ้าหากวันหนึ่งสินทรัพย์เสี่ยงยอดนิยม อย่าง หุ้น ปรับตัวลดลงแรง 

เมื่อพิจารณาผลกระทบจากโครงการซื้อสินทรัพย์ หรือคิวอี ขนานใหญ่ โดยธนาคารกลางหลัก อาทิ เฟด ธนาคารกลางยุโรป ธนาคารกลางอังกฤษ และ ธนาคารกลางญี่ปุ่น พบว่า สภาพคล่องดังกล่าว มีผลช่วยให้ เศรษฐกิจในภูมิภาคดังกล่าว มีการฟื้นตัวที่ดีขึ้นจริง ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ ภาคธุรกิจสามารถกู้ยืมเงินได้จากสถาบันการเงินในระดับต่ำเป็นประวัติการ  อย่างไรก็ดี สภาพคล่องที่ล้นเหลือในตลาดการเงินนั้นก็ได้ไหลเข้าสู่ สินทรัพย์เสี่ยง เพื่อหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น

ในขณะที่ผลตอบแทนจากสินทรัพย์ปลอดภัย อย่างพันธบัตรรัฐบาลนั้น อยู่ในระดับต่ำติดดิน เกิดเป็น พฤติกรรม Search for yields  พฤติกรรมดังกล่าวของนักลงทุน ส่งผลให้ตลาดหุ้นดูสินทรัพย์ที่ได้รับความนิยม ดังจะเห็นได้จากการที่ ตลาดหุ้นทั่วโลกต่างอยู่ในภาวะตลาดกระทิง (Bull market) เป็นเวลาอย่างน้อยถึง 8 ปีกว่าด้วยกัน  การปรับตัวขึ้นรุนแรงของหุ้นทั่วโลก ส่งผลให้นักลงทุนบางส่วน เริ่มเกิดคำถามว่า ตลาดหุ้นขึ้นสูงเกินความเป็นจริงหรือไม่ และ ณ ตอนนี้ ตลาดหุ้นได้เข้าสู่สภาวะฟองสบู่แล้วหรือยัง

หากนักลงทุน มองภาพตลาดการเงินปัจจุบัน หลายท่าน อาจจะมีความรู้สึกเหมือนกับว่า กำลังนั่งไทม์แมชชีน ย้อนเวลาไปอยู่ในช่วงยุค Dotcom ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี มีการปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรง  โดยถ้าเปรียบเทียบผ่าน หุ้นเทคโนโลยียอดฮิตในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ อย่าง FAANG (Facebook, Apple, Amazon, Netflix และ Google) พบว่าในปี 2560 หุ้นกลุ่ม FAANG ทะยานขึ้นราว 50% 

และเมื่อย้อนมามองหุ้นเทคโนโลยีในตลาดเอเชีย หุ้น Tencent  ซึ่งเป็นเจ้าของแอปยอดฮิต อย่าง WeChat ก็ให้ผลตอบแทนที่ร้อนแรงถึงกว่า 120% ซึ่งผลตอบแทนที่สูงดังกล่าวในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ก็เคยเกิดขึ้น ในช่วงปี 2542 แห่งยุค Dotcom เช่นกัน ที่ ดัชนี Nasdaq ปรับตัวขึ้น 85% ในขณะที่ดัชนีกลุ่มเทคโนโลยีในเอเชีย (MSCI Asia ex. Japan information technology index) ทะยานขึ้นไปถึง 150% นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงนโยบายการเงินของเฟด พบว่า ในช่วงยุค Dotcom ยังพบว่าเฟดก็ได้มีการขึ้นดอกเบี้ยถึง 4 ครั้ง ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในยุคหลังวิกฤตการเงินปี 2008 อย่างน่าอัศจรรย์ 

ความคล้ายคลึงของตลาดการเงินและนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลัก ยังผลให้นักลงทุนบางส่วนเริ่มมีความกังวลว่า สุดท้ายแล้ว ตลาดกระทิงรอบปัจจุบันนี้ อาจจะจบลงด้วยการพังทลายของหุ้นเทคโนโลยี ดังเช่นสมัยฟองสบู่ Dotcom แตก

อย่างไรก็ดี แม้ว่านักลงทุนบางส่วนจะมองว่า ตลาดการเงินในปัจจุบันอาจจะพบจุดจบเช่น Dotcom bubble ขณะเดียวกัน ยังมีอีกมุมมองหนึ่ง ที่มองว่า จุดจบของตลาดหุ้นขาขึ้น อาจจะรุนแรง หรือ คล้ายคลึงกับ วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกยังไม่ฟื้นคืนเต็มที่จนกระทั่งปัจจุบัน 

ดังนั้นแล้ว แทนที่นักลงทุนจะมาคาดการณ์ว่า สุดท้ายแล้วตลาดหุ้น ณ ตอนนี้จะจบเช่นไร นักลงทุนควรที่จะมานั่งวิเคราะห์บทเรียนจากอดีต ไม่ว่าจะเป็น วิกฤตต้มยำกุ้ง ฟองสบู่ Dotcom และ วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เพื่อที่จะหากลยุทธ์รับมือกับความเสี่ยงของการปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงของราคาหุ้นและสามารถนำพาพอร์ตการลงทุนให้อยู่รอดตลอดช่วงเกิดวิกฤตการเงิน