ปีใหม่ : ความเปลี่ยนแปลงความหมายของ “เวลา“ ( จบ)

ปีใหม่ : ความเปลี่ยนแปลงความหมายของ “เวลา“ ( จบ)

ความเปลี่ยนแปลงความคิดทาง “เวลา” ที่สำคัญเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475

กล่าวคือ เมื่อสามัญชนคนธรรมดา สามารถที่จะเลื่อนชนชั้นในระบบราชการได้ ด้วยศักยภาพส่วนตัวของตน ทำให้พวกเขาเกิดสำนึกในความสามารถส่วนตัว

เมื่อผูกพันเข้ากับการเร้าสำนึกความเป็น “ชาติ” และการทำให้เกิดความ “ก้าวหน้า” ให้แก่ชาติ ส่งผลทำให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง พร้อมไปกับความพยายามจะผลักดันให้เกิด ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม

ปรีดี พนมยงค์ ได้เสนอความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจไทยให้ “รัฐ” เข้ามามีส่วนในการกำกับดูแลกระบวนการผลิตทุกระดับ (ในเอกสารเค้าโครงเศรษฐกิจ) แต่ถูกต่อต้านจนทำให้ต้องหลบหนีไปต่างประเทศช่วงเวลาหนึ่ง เมื่อท่านกลับมาได้ก็จำเป็นต้องยุติโครงการของท่าน

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำให้เกิดกระบวนการระดมผู้คน ให้เข้าร่วมสร้างกิจกรรมเพื่อชาติหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการทำให้การใช้ภาษาไทยไม่มี “ชนชั้น” (เสนอในช่วงระหว่างสงครามโลก) หรือการทำให้เกิดระบบความหมาย หรือ วัฒนธรรมที่เท่าเทียมกันของการใช้ชีวิตประจำวัน

ที่สำคัญ จอมพล ป. ได้เปลี่ยน “วันปีใหม่” ให้เป็นวันที่ 1 ม.ค. คำประกาศในราชกิจจานุเบกษาความว่า

"ขอให้ปีใหม่วันเริ่มขึ้นในวันที่ 1 ม.ค. พุทธศักราช 2484 นี้ จงเป็นเวลารุ่งอรุณแห่งชีวิต ให้ชาติไทยได้รับความเจริญและก้าวหน้าขึ้นสู่ความรุ่งโรจน์ใหญ่หลวง ให้อาณาประชาราษฎร์ทั้งปวงได้รับความร่มเย็นเป็นสุขทั่วกันเทอญ ประกาศมา ณ วันที่  24 ธ.ค. 2483 พุทธศักราช 2483 “

การปรับเปลี่ยนมาสู่วันปีใหม่มาเป็นวันที่ 1 ม.ค. นอกจากจะเน้นให้เป็นช่วงเวลารุ่งอรุณแห่งชีวิตให้ชาติไทยได้ก้าวหน้าแล้ว รัฐบาลในสมัยนั้นได้สนับสนุนให้เกิดงานเฉลิมฉลองปีใหม่ในทุกพื้นที่จังหวัด

การสร้างงานเฉลิมฉลองนี้เป็นกระบวนการสร้าง “พื้นที่ร่วมกัน” ให้เกิดกิจกรรมรวมหมู่ที่สำคัญยิ่ง เพราะก่อให้เกิดสำนึกร่วมกันที่ซึมลึกและกว้างขวางมากขึ้น (เอาเข้าจริงๆ แล้ว ความรู้สึกถึง “ชาติ” ของผู้คนส่วนหนึ่งก็เกิดขึ้นจากกิจกรรมรวมหมู่เช่นนี้ )

“เวลา” ของสังคมกับ “เวลา” ของปัจเจกชนจึงอยู่รวมกันเป็นเนื้อเดียวกัน เพราะคนในฐานะปัจเจกบุคคลจะได้รับความเจริญก้าวหน้าได้ก็ต่อเมื่อสังคมเจริญก้าวหน้า

ในทางกลับกัน สังคมจะเจริญก้าวหน้าก็ต่อเมื่อปัจเจกบุคคลอุทิศตนให้เกิดความก้าวหน้าต่อสังคม

ความเปลี่ยนแปลงของความคิดทาง “เวลา” ชุดใหม่ได้ค่อยๆ เกิดขึ้น อันเป็นผลจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นภายหลังจากการพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพราะความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้ค่อยๆปลดจินตนาการสายสัมพันธ์แบบเดิมระหว่างคน ออกจากสังคมไป

ช่วงปี 2510 เกิดขบวนการนักศึกษาที่ได้พยายามต่อสู้เพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมชุดใหม่ขึ้นมาแทนที่สายสัมพันธ์แบบเดิม แต่ไม่สำเร็จอย่างที่ขบวนการนักศึกษาปรารถนา ผลพวงทางเศรษฐกิจจึงดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งก่อให้เกิดความสำนึกเชิงปัจเจกบุคคลรูปแบบใหม่ขึ้นมา

ความสำนึกปัจเจกชนรูปแบบใหม่ได้ก่อให้เกิดความคิดทาง “เวลา” ลักษณะใหม่ขึ้นมา เพราะความสำนึกเชิงปัจเจกชนใหม่นี้ เป็นความคิดที่เน้นจากตนเองเป็นหลัก ผลโดยตรงจากระบบเศรษฐกิจที่เน้นความสามารถส่วนตัว

ดังนั้น “เวลา” ของกลุ่มทางสังคมที่มีสำนึกปัจเจกชนใหม่ทีนี้ มีลักษณะที่แตกต่างไปจากเดิม กล่าวคือ “เวลา” ซ้อนทับกันหลายมิติมากขึ้น

“เวลา” ของบุคคลเป็นเวลาที่เน้นความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดเพื่อตอบสนองความปรารถนาส่วนตัวที่แรงกล้ามากขึ้น การอดทนต่อการทำงานแบบเดินไปข้างหน้าทีละก้าว ทีละขั้น เป็นสิ่งที่น่าเบื่อ และไม่สามารถจะทนได้

ขณะเดียวกัน “เวลา” ของสังคมกลับเป็น “เวลา” ที่เป็นระนาบเดียวกันที่ไม่มีความเปลี่ยนแปลงอะไรสลักสำคัญ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง “เวลา” ของสังคมอยู่นอกความปรารถนาของการสร้าง “เวลา” ส่วนตัว/ส่วนบุคคล

“เวลา" ที่ซ้อนทับกันเช่นนี้ ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้คนในสังคมอย่างลึกซึ้ง

คนจำนวนมากในสังคมไทย เริ่มมองไม่เห็นบทบาทของตน ในการทำให้สังคมก้าวหน้า เพราะจะมองเห็นว่าอย่างไรก็ตามสังคมก็จะเดินของมันไปเรื่อยๆ ตัวของเขานั้นไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรด้วย หรืออย่างมากที่สุดก็เป็นในระดับการคิดว่าตนเองทำให้ตนเองดีที่สุดก็เพียงพอต่อสังคมแล้ว ไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องอุทิศตนเองให้แก่สังคม

“เวลา” ที่สัมพันธ์กับกลุ่มคนที่มีสำนึกปัจเจกชนใหม่นี้ ก็เป็นเพียง “เวลา” แบบนับถอยหลัง (countdown time )เพื่อไปร่วมกับความสุขที่คนอื่นจัดทำขึ้น เท่านั้น เช่น การเฉลิมฉลองต่างๆ ที่เกิดถี่มากขึ้นทั้งในชีวิตประจำวันและสังคม

“เวลาของสังคม” ที่ถูกจินตนาการให้เป็นระนาบเดียว ซึ่งไม่มีอะไรที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนความหมายของ “สังคม” แบบใหม่ๆ ซึ่งทำให้เกิดสภาวะหยุดนิ่งของจินตนาการทางด้าน “สังคมอุดมคติ” จนกล่าวได้ว่าสังคมไทยปัจจุบันจึงเป็นสังคมที่แห้งแล้งอุดมคติ

การต่อสู้ทางการเมืองอย่างเข้มข้นในช่วง 10 ที่ผ่านมา จึงเป็นการต่อสู้ของกลุ่มคนที่มีอายุมากกว่า 40  เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เติบโตมาในกรอบความคิดทาง “เวลา” ที่เชื่อมต่อระหว่างปัจเจกชนกับสังคม

ในความเป็นจริงแล้ว คนกลุ่มนี้ก็จะเริ่มทะยอยไปจากสังคมในเวลาอีกไม่นานนัก

เมื่อหลายเดือนก่อน ผมเคยเขียนถึงคนกลุ่มใหญ่ในสังคมปัจจุบันว่า มีความคิดเรื่องปัจเจกชนนิยมแบบใหม่ ( New Individualism ) แต่ติดค้างอยู่ว่า จะเข้าใจว่าพวกเขามีระบบอารมณ์ความรู้สึกร่วมกันอย่างไร และคิดว่าหากสามารถถอดความคิดทาง “เวลา” ของกลุ่มคนทางสังคมกลุ่มนี้ออกมาได้ ก็อาจจะทำให้เข้าใจอะไรมากขึ้น

ผมเสนอว่าหากท่านผู้อ่านกังวลกับปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นในหลายรูปแบบหลายลักษณะและหลายมิติ ก็ลองเชิญชวนพรรคพวกเพื่อนฝูงให้มาร่วมกันคิดว่าเราจะทำความเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ให้ลึกที่สุดอันอย่างไร และที่สำคัญ เราจะมองหาแนวทางแก้ไขหรือหาทางออกให้แก่สังคมอย่างไร