“กลยุทธ์ลงทุนต้อนรับปีจอ”

“กลยุทธ์ลงทุนต้อนรับปีจอ”

“กลยุทธ์ลงทุนต้อนรับปีจอ”

สวัสดีปีใหม่ท่านผู้อ่านทุกท่านค่ะ          

หลังจากฉบับเดือน ธ.ค.ปีก่อน ดิฉันได้สรุปภาวะตลาดการเงินการลงทุนทั่วโลกในปี 2017 ให้ทุกท่านได้ทราบกันไปแล้ว สำหรับฉบับต้อนรับปีจอ ในเดือน ม.ค.นี้ ดิฉันจึงจะมาพูดถึง กลยุทธ์การลงทุนในปี 2018 เพื่อให้ทุกท่านได้เตรียมจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนกันได้อย่างเหมาะสม และสามารถสร้างผลตอบแทนให้กับพอร์ตการลงทุนต่อไปค่ะ

เมื่อกล่าวถึงกลยุทธ์การลงทุน ดิฉันขออ้างถึง มุมมองการลงทุนของ SCB หน่วยงาน CIO Office, Investment Advisory นำโดยคุณศรชัย สุเนต์ตา ซึ่งได้ให้มุมมองการลงทุนแก่ลูกค้ากลุ่ม Wealth Segment ต่างๆ ไว้ดังต่อไปนี้

ประเด็นหลักที่จะส่งผลต่อทิศทางตลาดการเงินทั่วโลกในปี 2018 ได้แก่

  1. ธนาคารกลางหลักๆ ทั่วโลก ส่งสัญญาณการดึงสภาพคล่องออกจากระบบอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่เริ่มทยอยลดขนาดงบดุล ด้วยการเริ่มจากการหยุดซื้อพันธบัตรเพื่อทดแทนพันธบัตรเดิมที่หมดอายุลง (reinvest) ทั้งพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยค้ำประกัน (Mortgage-Backed Securities: MBS) รวม 1 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ.ต่อเดือน ตั้งแต่เดือน ต.ค.2017 และจะทยอยเพิ่มปริมาณการหยุด reinvest จนกระทั่งลดงบดุลทั้งสิ้น 5 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ.ต่อเดือน ในขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะเริ่มลดวงเงินในการเข้าซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการ QE ในเดือน ม.ค.ปีนี้ ซึ่งการลดลงของสภาพคล่องดังกล่าวจะส่งผลต่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่มีการปรับเพิ่มขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา
  2. อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้นจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ แต่มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากอัตราการว่างงานที่ลดลง ทำให้ค่าจ้างแรงงานตึงตัวมากขึ้น โดย Fed มีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งในปี 2018 ประกอบกับความไม่แน่นอนจากการแต่งตั้งสมาชิก Fed ที่ว่างอยู่ 4 ตำแหน่ง ซึ่งมีความเสี่ยงที่ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งคนใหม่ อาจสนับสนุนให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่คาดการณ์ในปัจจุบัน ขณะที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปี เมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ส่วน ECB มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยประมาณปลายปี 2018 ถึงต้นปี 2019 หลังมาตรการ QE สิ้นสุดลง หรืออัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นสู่เป้าหมายที่ ECB กำหนดไว้
  3. Valuation ของสินทรัพย์ทั้งตลาดหุ้น และตราสารหนี้ ในหลายๆประเทศตึงตัว เช่น มูลค่าพื้นฐานของตลาดหุ้นส่วนใหญ่อยู่ในระดับแพงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยระยะยาวในอดีต และมีความเสี่ยงต่อการถูกขายทำกำไรค่อนข้างมาก ในส่วนของตราสารหนี้นั้น ส่วนต่าง (Spread) ระหว่างพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ลดลงอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้มูลค่าของตราสารหนี้ภาคเอกชนอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแพง โดยเฉพาะ High Yield Bond ซึ่งอาจทำให้เกิดขายทำกำไรได้ตลอดช่วงเวลาของการปรับลดสภาพคล่องและการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ในส่วนของการลงทุนในรายภูมิภาคนั้น การลงทุนในตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชียยังคงมีความน่าสนใจ เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตได้ดี โดยเฉพาะประเทศจีน และไทย โดยเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเติบโตจากภาคบริการ สินค้า High Technology และการบริโภคภายในประเทศ ประกอบกับเสถียรภาพทางการเมืองที่ดีขึ้น หลังประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มีแนวโน้มดำรงตำแหน่งประธานาธิบดียาวนานกว่าปี 2022 ในส่วนของประเทศไทย เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ตามการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่เริ่มมีความคืบหน้ามากขึ้น ด้านการลงทุนภาครัฐฯ ก็มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อน

ประเด็นความเสี่ยงที่อาจสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินทั่วโลกในปี 2018 ได้แก่ ความไม่สงบในคาบสมุทรเกาหลี และประเด็นความขัดแย้งในตะวันออกกลาง หลังประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศยอมรับเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล ซึ่งส่งผลให้สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งการประท้วง และก่อความไม่สงบในฉนวนกาซา เวสต์แบงก์ และเยรูซาเลมตะวันออก ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ ถือเป็น Tail Risks ที่ยากต่อการคาดการณ์ล่วงหน้า แต่สามารถก่อให้เกิดความผันผวนต่อการลงทุนในตลาดเงินและตลาดทุนเป็นอย่างมาก

Thematic Themes

Valuation ของสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ที่ตึงตัว ทำให้การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต้องมีความระมัดระวัง ซึ่งในปีนี้ Themes ที่น่าสนใจในการลงทุน มีดังนี้

  1. การลงทุนในหุ้นกลุ่มสถาบันการเงิน (Banking Sector) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จากมุมมองการเติบโตของสินเชื่อตามแนวโน้มเศรษฐกิจและการส่งออก ตลอดจนโครงการลงทุนภาครัฐฯและภาคเอกชน ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา หุ้นในกลุ่มนี้ยังถือว่าปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ (laggard)
  2. การลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร (Demography) โดยเฉพาะหุ้นของอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าของกลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลาง และกลุ่มผู้สูงอายุ เช่น อสังหาริมทรัพย์ที่เน้นการเติบโตชองการขยายตัวสังคมเมือง urbanization กลุ่ม telecom และสินค้า High tech การลงทุนในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย แฟชั่น เป็นต้น
  3. การลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี (Technology) เช่น Robotic & AI และ Digital technology จากการเปลี่ยนแปลงการใช้เทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดทั้ง Technology disruption ธุรกิจเดิมที่ปรับตัวไม่ทันและก่อให้เกิดโอกาสในการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ๆ

สุดท้ายนี้ ดิฉันขออัญเชิญคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ได้โปรดดลบันดาลให้ท่านผู้อ่าน และครอบครัวประสบแต่ความศุภสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูลผลในสิ่งอันพึงปรารถนา ตลอดจนประสบความสำเร็จในการลงทุนทุกประการ สวัสดีปีใหม่นะคะ