เศรษฐกิจโตย้อนแย้ง ความเหลื่อมล้ำเลยยิ่งถ่าง!

 เศรษฐกิจโตย้อนแย้ง  ความเหลื่อมล้ำเลยยิ่งถ่าง!

ผ่านไปด้วยดีหรือจะบอกว่า “ดีกว่าคาด” ก็คงไม่ผิด สำหรับ “เศรษฐกิจไทย” ปี 2560 ซึ่งเป็นปีที่เชื่อกันว่า

ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) อาจโตได้ถึง 4% เป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี นับจากปี 2555

เพียงแต่การเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2560 ต้องยอมรับว่า มีความ “ย้อนแย้ง” ในหลายๆ จุด โดยเฉพาะคนในระดับ “ฐานราก” รวมทั้งผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี) ซึ่งถือเป็น “คนกลุ่มใหญ่” ของประเทศ โดยคนกลุ่มนี้ยังไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้นเลย

การที่คนกลุ่มฐานรากและเอสเอ็มอี มองว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ดีนัก ต้องย้ำว่า "ไม่ใช่แค่ความรู้สึก” เพราะมีตัวเลขหลายๆ ตัว เป็นเครื่องยืนยัน

เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปี 2560 เป็นไตรมาสที่เศรษฐกิจเติบโตดีสุด โดย “จีดีพี” ขยายตัวถึง 4.3% ..แต่หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ของธุรกิจเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นแตะระดับ 4.6% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ 4.4%

ข้อมูลเศรษฐกิจไตรมาส 3 ยังบ่งชี้ถึงความย้อนแย้งของการเติบโตในอีกหลายๆ ด้าน เช่น เศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ถึง 4.3% แต่ “การจ้างงาน” กลับ “หดตัว” ราว 1.6% ขณะที่อัตราการว่างงานแม้จะยังอยู่ในระดับต่ำเพียง 1.2% แต่ตัวเลขนี้ถือเป็น “ระดับสูงสุด” ในรอบ 7 ปี นับจากปี 2552 ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 1.5%

ที่สำคัญแรงงานในภาคเกษตร ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของจำนวนแรงงานทั้งหมด เป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ แต่ในไตรมาส 3 คนกลุ่มนี้มีรายได้ลดลงราว 3.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และจากข้อมูลล่าสุดเดือนพ.ย.2560 ก็พบว่า แรงงานกลุ่มนี้ยังคงมีรายได้ลดลง 5.5%

 แล้วเศรษฐกิจไทยเติบโตจากอะไร? ..การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2560 ได้อานิสงส์จากปัจจัยภายนอกประเทศ ทำให้ “การส่งออก” และ “การท่องเที่ยว” เติบโตทุบสถิติใหม่ต่อเนื่อง หนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว “นิวไฮ” รอบ 4 ปี

แต่งานวิจัยของสถาบันวิจัยป๋วยอึ๊งภากรณ์ ชี้ว่า การส่งออกของไทยในสัดส่วน 88% ของการส่งออกทั้งหมด มาจากผู้ส่งออกไทยที่ใหญ่สุด 5% แรกของผู้ส่งออกทั้งหมดเท่านั้น สะท้อนภาพว่า การส่งออกที่เติบโตดี มีคนที่ได้ประโยชน์จริงค่อนข้าง “กระจุกตัว”

หลายคนตั้งความหวังว่า ถ้าการส่งออกดีต่อเนื่อง จะหนุนให้การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกเริ่มกลับมา ทำให้การผลิตและการจ้างงานดีขึ้นตามไปด้วย เศรษฐกิจจะเติบโตกระจายตัวมากขึ้น ...แต่จากข้อมูลของ ธปท. พบว่า แม้การผลิตที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกเริ่มดีขึ้น โดยหลายอุตสาหกรรมเริ่มกลับมาผลิตจนเต็มกำลัง แต่ทว่า การจ้างงานกลับไม่ได้สูงขึ้นตามกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นเลย

สาเหตุเพราะภาคธุรกิจเหล่านี้หันไปใช้ เครื่องจักรกลอัตโนมัติ(ออโตเมชั่น) มาช่วยในการผลิตที่มากขึ้น ตัวเลขการจ้างงานจึงสวนทางกับการเติบโตของเศรษฐกิจ

ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นถึงภาพเศรษฐกิจที่เติบโตแบบย้อนแย้งกับความรู้สึกของคนกลุ่มใหญ่ในประเทศ และสถานการณ์นี้กำลังนำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ถ่างมากขึ้น!