ก่อนจะถึงช่วงสุดท้ายของวงจรธุรกิจ

ก่อนจะถึงช่วงสุดท้ายของวงจรธุรกิจ

ก่อนจะถึงช่วงสุดท้ายของวงจรธุรกิจ

ถ้านับจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008 เป็นต้นมา เรากำลังเข้าสู่ปีที่ 10 ของวัฏจักรขาขึ้นของตลาดหุ้นรอบใหญ่รอบหนึ่งในประวัติศาสตร์ทีเดียวนะครับ พอถอยมามองไกลๆแบบนี้ นักลงทุนหลายคนก็เกิดนึกกลัวขึ้นมา หรือ จริงๆ หลายคนก็อาจกลัวมาแล้วตั้งหลายปีว่า ฟองสบู่ในตลาดหุ้นที่ก่อร่างสร้างตัวมายาวนานจนถึงตอนนี้ จะถึงคราวแตกแล้วหรือยัง

คณะกรรมการการลงทุนของ INFINITI Global Investors ได้ข้อสรุปว่าในปี 2018 นี้ เศรษฐกิจโลกในภาพรวมน่าจะยังขยายตัวอย่างค่อยๆเป็นค่อยๆดี และแน่นอนว่า ยังมีโอกาสในการลงทุนอยู่เช่นเดียวกัน

แต่สิ่งที่ต้องอย่าลืมก็คือ เราใกล้จุดสิ้นสุดของวัฏจักรขาขึ้นของตลาดหุ้นแล้วนะ

เมื่อพูดถึงวัฏจักร หรือ วงจรตลาดหุ้น ซึ่งภาษาอังกฤษมักเรียกว่า Investment Cycle เราก็จะนึกถึงอีกหนึ่งวงจร ก็คือ วงจรธุรกิจ หรือ Business Cycle ซึ่งมีความสัมพันธ์กันค่อนข้างสูง โดย Investment Cycle มักจะนำหน้า Business Cycle อยู่อย่างน้อยๆ 6 เดือน สาเหตุก็เพราะว่า ตลาดทุน ตลาดหุ้น เป็นตลาดแห่งความคาดหวัง และมีการคาดการณ์ไปก่อนล่วงหน้าอยู่แล้ว ดังนั้น ใครที่อ่านภาพรวมของเศรษฐกิจได้ว่า อยู่ในช่วงได้ หรือ วัฏจักรไหน ก็แปลว่านักลงทุนท่านนั้นได้เจอโอกาสการลงทุนเช่นกัน

กลับมาพูดถึงวัฏจักรขาขึ้นของตลาดหุ้น ที่ผมทิ้งไว้ว่า เราอาจจะใกล้จุดสิ้นสุดเร็วๆนี้ ถ้าจะดูว่า ถึงเวลาจบแล้วหรือยัง ก็ต้องไปดูว่า เราเข้าใกล้จุดจบของวงจรธุรกิจแล้วด้วยหรือไม่

และเพื่อให้อุ่นใจ ก็ต้องตอบว่า ในความเห็นผม เรายังไม่ถึงบันไดขั้นสุดท้ายขั้นนั้นครับ

ขั้นที่เหล่าบริษัทเอกชนรีดศักยภาพในการทำกำไรออกมาจนหมด ขั้นที่หนี้สินภาคเอกชนสูงในระดับที่น่ากลัวว่า จะไม่สามารถรับภาะดอกเบี้ยไหว ขั้นที่คนตกงาน การบริโภคหดตัว สิ่งเหล่านี้ ยังไม่เกินใน 1-2 ปีข้างหน้านะครับ

ในตำราทางเศรษฐศาสตร์ก็แบ่งวงจรธุรกิจออกเป็น 4 ระดับคือ 1) Early-cycle Phase 2) Mid-cycle Phase 3) Late-cycle Phase 4) Recession Phase โดย Recession นี่ละครับ คือบันไดขั้นสุดท้าย ที่ยังไงในทุกๆระบบของทุนนิยมก็ต้องเจออยู่ดี

ตอนนี้เราอยู่ในช่วงไหนของวงจรธุรกิจ?

ผมคิดว่า เศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ใน Mid-cycle ปลายๆ ใกล้จะเข้าสู่ Late-cycle นะครับ โดยปกติ Mid-cycle จะกินระยะเวลายาวนานมากที่สุดในบรรดาวงจรทั้ง 4 ขั้น โดยจะมีการเติบโตอย่างช้าๆค่อยๆเป็นค่อยๆไป กำไรบริษัทจดทะเบียนยังเติบโตได้ดีในระดับใกล้เคียงหรือสูงกว่าค่าเฉลี่ย นโยบายการเงินเป็นแบบผ่อนคลาย อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่มีอัตราเงินเฟ้ออ่อนๆ

แต่ก็มีนักวิเคราะห์หลายสำนักเริ่มเชื่อว่า เศรษฐกิจโลก กำลังเข้าสู่ Late-cycle ซึ่งลักษณะของมันคือ เริ่มเห็นการปรับตัวขึ้นของเงินเฟ้อที่เร็วกว่าในอดีต อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจะไม่สามารถขยายตัวได้เร็วขึ้นเหมือนช่วงก่อนหน้า เริ่มใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัว และบริษัทเริ่มทำให้กำไรเติบโตได้ในระดับที่น้อยกว่าในอดีต

เพราะอะไร นักวิเคราะห์ถึงคิดเช่นนั้น?

เมื่อดูองค์ประกอบในภาพรวม ก็จะเห็นว่า มีหลักฐานอยู่พอสมควร ทั้งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งสะท้อนว่า ดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวมากขึ้น การมีความพยายามใช้นโยบายการคลังมากระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการแก้กฎหมาย ลดหย่อนภาษี อัดฉีดงบลงทุนขนาดใหญ่ ใช้กฎหมายในการป้องกัน หรือ กีดกันทางการค้า โดยที่เห็นชัดหน่อย ก็คือ ยกตัวอย่างที่สหรัฐฯมีความต้องการเร่งลงทุนจ ซึ่งอาจทำให้หนี้มีสัดส่วนสูงขึ้น และยังพยายามเสนอร่างกฎหมายฉบับใหม่ปรับลดภาษี ทั้งนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา ซึ่งจะเห็นว่า เป็นการลดรายได้ และเพิ่มรายจ่ายภาครัฐฯไปพร้อมๆกัน ลองคิดง่ายๆว่าเป็นตัวเรา เงินเดือนได้ลดลง แถมต้องมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น เราจะอยู่ได้อย่างปกติเหมือนเดิมจริงหรือ?

ในช่วงเริ่มต้นของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเหล่านี้ คงจะเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนภาคเอกชน ในกลับมาลงทุน และทำธุรกิจกันอย่างคึกคักนะครับ แต่ในระยะยาว ก็ค่อนข้างชัดว่า ทิศทางดังกล่าว นำไปสู่ปัญหาเดิม คือ หนี้สินที่เพิ่มขึ้น

ก่อนจะถึงเวลานั้น สิ่งที่เราควรจะเห็นสัญญาณก่อนก็คือ การปรับตัวขึ้นของเงินเฟ้อที่เร็วกว่าเดิม จนทำให้ธนาคารกลางต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถี่ขึ้น รวมถึงการที่เหล่าธนาคารกลางอย่าง ECB, BOJ, BOE อาจเริ่มเข้าสู่กระบวนการลดขนาดงบดุล เช่นเดียวกับที่เฟดดำเนินการอยู่ ซึ่งเท่ากับว่า จะหมดยุคของนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายทันที เพราะเหล่าธนาคารกลาง เชื่อว่า เศรษฐกิจโลกเติบโตได้โดยไม่ต้องพึ่งพาสารกระตุ้นแล้ว

คำถามที่น่าคิดคือ เศรษฐกิจของประเทศแกนหลักซึ่งได้สารกระตุ้นติดต่อกันมาทุกๆเดือนเป็นเวลานานๆ เมื่อโดยลดขนาด หรือ ยกเลิกการใช้ไปเนี่ย จะสามารถไปต่อได้ด้วยตัวเองจริงหรือ?

ตรงนี้เองมันเลยทำให้หลายคนเชื่อว่า จาก Mid-cycle เข้าสู่ Late-cycle ในรอบนี้ของเศรษฐกิจโลก อาจใช้เวลาไม่นาน และสั้นมากๆ จนไปถึง Recession Phase อย่างรวดเร็วโดยที่นักลงทุนในตลาดทุนอาจไม่ทันตั้งตัว

เอาเป็นว่า ดูกันเป็นขั้นๆไปครับ อย่างแรกคือ เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นเร็วกว่าในอดีตไหม? มาตรการ หรือนโยบายใดๆของภาครัฐฯ เป็นคุณหรือเป็นโทษต่อเศรษฐกิจในระยะยาว

การลงทุนในช่วงสุดท้ายของวจรธุรกิจ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องลงทุนกับบริษัทที่ฐานะการเงินมั่นคง มูลค่าทางปัจจัยพื้นฐานสมเหตุสมผล เป็นผู้นำในตลาด พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง และปรับตัวเองได้ดี เพราะว่า หุ้นเหล่านี้ละครับ ที่จะสามารถกลับมาได้อย่างสวยงามหลังจาก Recession Phase

โชคดีในการลงทุนครับ