ปีใหม่ : ความเปลี่ยนแปลงความหมายของ “เวลา“ (1)

ปีใหม่ : ความเปลี่ยนแปลงความหมายของ “เวลา“ (1)

แม้ว่าจะมีคำถามจากนักปรัชญา นักวิทยาศาสตร์ และนักอื่นๆ มากมายว่า “เวลา” คืออะไร แต่ก็ไม่มีใครมีคำตอบที่ยอมรับได้อย่างเป็นเอกฉันท์

คำตอบล้วนแล้วแค่แตกต่างกันไปตามกรอบความคิดของความรู้แต่ละแขนง 

แต่ไม่ว่าความจริงของ ”เวลา” จะเป็นอะไรก็ตาม ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ (ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ) ความหมายของ “เวลา” ที่ถูกสร้างขึ้นสัมพันธ์กับมนุษย์อย่างลึกซึ้ง และกล่าวได้ว่าเป็นความคิดที่กำหนดชีวิตพวกเรามาโดยตลอด 

ความคิดเรื่อง “เวลา” ในสังคมไทยเปลี่ยนแปลงมาหลายช่วงเวลา และแต่ละช่วงได้ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างไพศาลและลึกซึ้ง 

 เราจะเริ่มต้นเห็นความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ที่พระองค์ได้ทรงปฏิเสธความหมายของ “เวลา” แบบเดิมของสังคมไทย อันได้แก่ คติปัญจอันตรธาน

คติปัญจอันตรธาน เป็น ความคิดวางเอาไว้ว่าสังคมจะเสื่อมลงไปเรื่อยๆ โดยเริ่มจากความเสื่อมทางความรู้ ความเสื่อมในการปฏิบัติ ความเสื่อมในการแสวงหาทางหลุดพ้น ความเสื่อมในระเบียบทางสังคมทั้งหมด และความเสื่อมสลายของธาตุทั้งหมด 

มนุษย์ทุกคนก็จะต้องพบกับความทุกข์ยากมากขึ้นๆ และไม่สามารถที่จะหลุดพ้นไปได้ เพราะความเสื่อมในแต่ละช่วงก็จะปิดกั้นหนทางการหลุดพ้น ความเสื่อมทั้งหมดเป็นความเสื่อมจากมุมมองของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท ที่มีอุดมคติสูงสุด คือ การบรรลุธรรมไปสู่การหลุดพ้นการเวียนว่ายตายเกิด

มนุษย์ทุกผู้ทุกนามที่อยู่ภายใต้กรอบความคิดทาง เวลา นี้จะไม่สามารถหลุดพ้นไปจากการกำหนดความเสื่อมนี้ได้ แต่ก็มีทางออกจาก “เวลา” ที่เสื่อมลง (ทางออกที่ยังมีก่อนที่จะถึงเวลาที่เกิดความเสื่อมจนทำให้ทางออกทั้งหลายนั้นปิดลง) คือ การทำบุญทำทานให้มากที่สุดเพื่อที่จะมีทางออก 3 ทาง ทางแรก ได้แก่ การไปเกิดในยุคพระศรีอาริยเมตไตรย ทางที่ 2 ได้แก่ การไปเกิดในภพภูมิใหม่ และทางที่ 3 ได้แก่ การทำบุญมากจนหลุดพ้นการเวียนว่ายตายเกิด

กรอบความคิดเรื่อง “เวลา” เช่นนี้ครอบคลุมทุกผู้ทุกนาม พระมหากษัตริย์ที่แม้ว่าพระองค์จะทรงเป็นราชาธิราช คือ เป็นจักรพรรดิราชหรือธรรมมิกราชาธิราชก็ไม่ทรงสามารถที่จะเปลี่ยนแปลง “เวลา” ได้ พระมหากษัตริย์ทรงทำได้เพียง “การหลอก” พระกาลด้วยการเปลี่ยน/เขียนศักราชที่ครองราชย์ย้อนหลังไปเท่านั้น

หากจะอธิบายด้วยความคิดทางสังคมศาสตร์หลังสมัยใหม่ ก็พูดได้ว่านี่คือ การปกครองที่จิตใจ (Governmetality) เพราะความคิดนี้จะกำหนดความคิดเกี่ยวกับสถานะทางสังคมและทางอำนาจ พร้อมกับกำกับอารมณ์ความรู้สึกของคนแต่ละคนให้อยู่ภายใต้ระบอบของสังคมการเมืองการปกครองนี้อย่างยินยอมพร้อมใจ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองราชย์ได้ทรงแสดงพระองค์ในการปฏิเสธคติปัญจอัตรธานนี้อย่างชัดเจน เพราะพระองค์ทรงเล็งเห็นว่าความเชื่อเช่นนี้จะทำให้ผู้คนไม่สนใจที่จะทำอะไรให้ออกดอกออกผลทางเศรษฐกิจได้ ดังเราจะอ่านได้จากเอกสารประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 (มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์จัดพิมพ์ สามารถดาวน์โหลดได้ฟรี) เราจะพบว่าพระองค์ทรงได้อธิบายกระบวนการคิดทางการผลิต/การค้าขายด้วยความคิดเรื่องอุปสงค์/อุปทาน ซึ่งหมายความได้ว่าพระองค์ทรงต้องการให้คนไทยคิดในเรื่องของการเข้าสู่ระบบทุนนิยมและต้องทำการผลิต/การค้าขาย ซึ่งต้องการอารมณ์ความรู้สึกอีกลักษณะหนึ่ง ไม่ใช่การสยบยอมอยู่ภายใต้คติปัญจอันตรธานต่อไป

การที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทางปฏิเสธคติความเชื่อเรื่องเวลาที่เสื่อมถอยไปเรื่อยๆ นี้ ก็เพราะพระองค์ทรงสำนึกในศักยภาพของมนุษย์ที่สามารถจะกระทำการใดๆ ที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคม กล่าวได้ว่าความคิดทางเวลาแบบใหม่ได้เกิดขึ้นในสังคม ได้แก่ ความคิดเวลาเรื่อง “ความก้าวหน้า” ( Idea of Progress )

เรามักจะถูกบอกเล่าว่าการเกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นในสังคมไทยช่วงรัชกาลที่ 4 หรือ 5 เป็นเพราะรับอิทธิพลตะวันตก รวมทั้งความคิดทางเวลาเรื่องความก้าวหน้านี้ด้วย แต่หากเราเชื่อเช่นที่ถูกบอกเล่าเช่นนี้ ก็หมายความว่าเราละเลยพระอัจฉริยภาพของพระมหากษัตริย์ไทยในฐานะที่เป็นมนุษย์ไป เพราะในความเป็นจริง ไม่เคยมีสังคมใดรับอะไรจะสังคมอื่นได้โดยที่ปราศจากความพร้อมในการรับ (เสนอว่าเลิกเสียทีเถอะครับ การอ้างอย่างมักง่ายเรื่องรับวัฒนธรรมตะวันตก เลิกในการอ้างทุกเรื่องเลยนะครับ รวมทั้งการประนามวัยรุ่นทั้งหลาย )

ความเปลี่ยนแปลงความคิดเรื่อง “เวลา” ที่แปรเปลี่ยนมาสู่ “เวลา” คือ ความก้าวหน้า เกิดขึ้นพร้อมความสำนึกในศักยภาพของมนุษย์ที่จะนำพาให้สังคมก้าวหน้าไปสู่เป้าหมายที่ถูกวาดหวังไว้ในแต่ละช่วงเวลา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงสร้าง “รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ขึ้นมาโดยทรงวาดหวังที่จะนำพารัฐและสังคมไทยให้ก้าวหน้าทัดเทียมประเทศตะวันตก 

ผมอยากจะชักชวนท่านผู้อ่านให้อ่านหนังสือ “พระราชพิธีสิบสองเดือน” ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าดูนะครับ เพราะท่านผู้อ่านจะรู้สึกได้ถึงความพยายามจะคัดค้านกรอบความคิดปัญจอันตรธานอย่างแข็งขันเพื่อที่พระองค์จะได้ทรงผลักดันความเปลี่ยนแปลงให้เกิดกับสังคมไทย

หลังจากรัชสมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว ความคิดเรื่อง "เวลา” ได้เปลี่ยนแปลงมาอีกหลายครั้ง ซึ่งจะพูดต่อไปในคราวหน้า ในวันนี้ ต้องบอกว่าในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ ซึ่งเป็นกรอบความคิดทาง “เวลา” แบบใหม่ ผมขอให้ท่านผู้อ่านทุกท่านมีความสุขสมหวังในชีวิตปัจจุบันและชีวิตในอนาคตให้มากที่สุดนะครับ