อนาคตของสื่อสิ่งพิมพ์?

อนาคตของสื่อสิ่งพิมพ์?

เห็นข่าวแล้วหน้าใจหายเหมือนกันครับ เมื่อ“คู่สร้างคู่สม” นิตยสารที่อยู่คู่คนไทยมากว่า 38ปี ต้องปิดตัวลง ตามรอยนิตยสารดังๆ ที่ปิดตัวไปก่อนหน้า

เหตุผล ไม่ต้องชี้แจงแถลงไข ก็พอจะเดากันได้ครับ คือ ไม่สามารถทนรับกับผลประกอบการที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในทุกเดือนๆ! หลายคนบ่นเสียดาย ทำไมไม่เปลี่ยนไปทำออนไลน์?

คุณดำรง พุฒตาล ตอบได้อย่างอินดี้มาก! “ไม่ใช่ว่าผมงอนนะ แต่ว่าบทความดีๆ ถูกก๊อปปี้ไปลงออนไลน์หมดเลย แล้วไม่ได้ให้เครดิตเรา ผมเป็นคนที่โง่ในระบบออนไลน์ ผมก็เลยหยุดทำ”

เอาจริงๆ ผมคิดว่าคุณดำรง คิดถูกนะครับ คุณดำรงเหนื่อยมามาก เก็บเงินมาเยอะ ก็น่าจะถือโอกาสได้พักผ่อน ใช้เงินที่หามาบ้าง

การเลือกที่จะไม่ลงสนามที่ตนไม่ถนัด ถือเป็นกลยุทธ์ที่ชาญฉลาดครับ มือที่ว่าเซียนๆ ทำออนไลน์มาหลายปีดีดัก ก็ไม่ใช่ว่า จะสามารถทำกำไรกับธุรกิจ “ออนไลน์ คอนเทนท์” กันได้ง่ายๆครับ

ถ้าไม่เชื่ออยากให้ลองไปเปิดงบกำไร-ขาดทุน ของบริษัทออนไลน์ คอนเทนท์ ชั้นนำของไทย อย่าง Sanook Kapook ดู  พบว่าขาดทุนกันระดับหลายสิบล้าน! ถ้าสายป่านไม่ยาวพอ บอกได้เลยว่าหืดจับ

จะบอกว่าคนไทยหันไปอ่าน“อี-บุ๊ค” ก็คงจะไม่ใช่อีก ผมเคยมีโอกาสได้คุยกับ คุณหมู ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ เจ้าของ Ookbee เมื่อถามถึงยอดขายอี-บุ๊ค คุณหมู ได้แต่หัวเราะ แหะแหะ สไตล์เกาหลี พลางบ่นว่า คนไทยไม่ชอบอ่านอี-บุ๊ค!

ใช่ครับ ….เพราะตอนนี้พวกเราคนไทย พากันไปอ่าน “โซเชียล มีเดีย” กันหมด บทความมีให้อ่านกันมากมาย ไม่หวาดไม่ไหว ซึ่งมีทั้งคุณภาพและไม่คุณภาพ ผสมปนเปกันไป ขึ้นอยู่กับว่าพวกเราจะเลือกอ่านแบบไหน  แต่ที่แน่ๆ คือ พวกเราคิดกันว่า“คอนเทนท”คือของฟรีและไม่คิดว่าจะต้องเสียเงินเพื่อเสพมัน!

หลายคนบอกว่า แบบนี้คนทำนิตยสาร ก็ต้องเปลี่ยนโมเดล มาทำคอนเทนท์ลงโซเชียล มีเดีย แล้วก็หาเงินกับค่าโฆษณาแทนสิ! แต่ประเด็นมัน คือตรงนี้แหล่ะครับ คือค่าโฆษณามันไม่สามารถขายได้เยอะแบบแต่ก่อนครับ แต่เดิมที โฆษณาในนิตยสาร เป็นโฆษณาแบบหน้าขั้น หน้าหนึ่งอาจจะราคาหลายหมื่น จนกระทั่งไปถึงหลักแสน สำหรับนิตยสารดังๆ

แต่พอคอนเทนท์ มันไปอยู่บนโซเชียล มีเดีย แทนที่ผู้ลงโฆษณาจะไปจ่ายเงินให้กับเจ้าของคอนเทนท์ ผู้ลงโฆษณากลับไปจ่ายเงินให้กับเจ้าของแพลตฟอร์ม หรือ เฟซบุ๊ค-กูเกิลแทน เพราะเฟซบุ๊ค-กูเกิล มีระบบลงโฆษณาที่เหนือกว่า ลงได้ตรงกลุ่มเป้าหมายกว่า

เจ้าของคอนเทนท์ อาจจะเลือกวิธีการสมัครเป็น Content Partner กับทางเฟซบุ๊ค-กูเกิล โดยได้รับส่วนแบ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ค่าโฆษณา แต่ทว่าส่วนแบ่งค่าโฆษณามันก็น้อยเกินไปที่จะหล่อเลี้ยงทีมงานที่มีจำนวนมาก และค่าใช้จ่ายๆต่างๆ ที่มีมาตั้งแต่สมัยทำนิตยสารแบบดั้งเดิมได้  นิตยสารต่างๆ จึงทยอยปิดตัวด้วยประการฉะนี้

ถ้าถามผมว่า ต่อจากนี้ไป นิตยสารจะเป็นเช่นไรต่อไป ตอบได้แบบเร็วๆ ก็คือ นิตยสารจะยังคงทยอยปิดตัว อย่างต่อเนื่องต่อไป แบบไม่มีทางเลือก

นิตยสารที่อยู่รอดได้ ต้องปรับตัวมาสู่การทำออนไลน์แบบเต็มรูปแบบ โดยจะต้องลดต้นทุนบริษัทอย่างหนักหน่วงประกอบกันไปด้วย ต้องตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกให้หมด! แถมยังต้องมีการปรับวัฒนธรรมในการทำงานกันพอสมควร เช่น การเน้นเรื่องของความฉับไว มากกว่าคุณภาพ ,การเขียนแบบจับประเด็น รวบรัด ตัดตอน ไม่เวิ่นเว้อ ,การทำรูป ที่เน้นดึงดูดความสนใจ มากกว่าความสวยงาม , การทำวีดิโอที่เดิมที คนทำนิตยสารอาจจะไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ฯลฯ

ดูรวมๆ แล้ว ค่อนข้างยากมาก ที่คนทำสื่อนิตยสารแบบเดิมๆ จะปรับตัวได้ จึงได้แต่ต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอันนี้

ผู้หลักผู้ใหญ่ ในวงการสื่อเริ่มแสดงถึงความห่วงใย ถึงคุณภาพของคอนเทนท์ในสื่อโซเชียล มีเดีย ที่ดูจะไม่ค่อยมีคุณภาพเท่าไรนัก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความคิดของผู้คนในสังคมเรา

แต่ตรงนี้ผมกลับมองมุมต่างครับ หลังจากที่เกิดวิกฤติสื่อสิ่งพิมพ์ นิตยสารล้มหายตายจาก ผมเชื่อว่าผู้ผลิตสื่อคุณภาพ จริงๆ แล้วจะยังไม่ได้หายไปไหนครับ คนเหล่านี้จะกลับเข้าสู่วงการในรูปแบบของ Freelance หรือ ผู้ผลิตสื่ออิสระ

ค่าโฆษณาแบบ Content Partner ที่เฟซบุ๊ค หรือกูเกิล มอบให้กับผู้ผลิตคอนเทนท์ มันอาจจะน้อยเกินไป สำหรับบริษัทใหญ่ๆ ที่มีค่าใช้จ่ายมากๆ  แต่มันอาจจะมีมากพอ ที่จะทำให้ Freelance หรือ ผู้ผลิตสื่ออิสระ ลืมตาอ้าปาก หรือในบางเคส อาจจะได้รับมากกว่าเงินเดือนที่เคยได้รับด้วยซ้ำ

เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป-เกิดใหม่  ดูจะเป็นสัจธรรมของโลกจริงๆครับ

ขอให้กำลังใจสื่อสิ่งพิมพ์ทุกฉบับ โดยเฉพาะกรุงเทพธุรกิจ! เดี๋ยวจะไม่มีที่ให้ “โซวบักท้ง” ได้พร่ำบ่นแฮ่!