ความสำเร็จในนโยบายเศรษฐกิจอินเดีย กับโอกาสทางธุรกิจของไทย

ความสำเร็จในนโยบายเศรษฐกิจอินเดีย  กับโอกาสทางธุรกิจของไทย

ปี 2560 เป็นปีที่ 3 ของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายนเรนทรา โมดี ในโอกาสที่ปี 2560 กำลังจะหมดไป จึงขอถือโอกาสนี้

เขียนเกี่ยวกับความสำเร็จของการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลนายโมดี เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เห็นถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจของอินเดีย ประเทศที่มีประชากรประมาณ 1,300 ล้านคน เป็นสังคมวัยทำงาน โดย 65% ของประชากรมีอายุต่ำกว่า 35 ปี มีอัตราการขยายตัวของจีดีพี 7.5% ในปี 2560 และมี GDP/PPP เป็นอันดับ 2 รองจากจีน

ตัวอย่างความสำเร็จของการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษี และประกาศใช้กฎหมายการจัดเก็บภาษีสินค้าและบริการ (Goods and Services Tax - GST) ซึ่งเพิ่มประสิทธิภาพระบบการจัดเก็บภาษีของประเทศ ขจัดปัญหาการเลี่ยงภาษี รวมทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งระหว่างรัฐและการส่งเสริมการแข่งขันระหว่างรัฐ

โครงการเปิดบัญชีธนาคารสำหรับคนจน (Pradhan Mantri Jan Dhan Yojna) ทำให้มีการเปิดบัญชีใหม่ถึง 290 ล้านบัญชี เป็นการนำเงินเข้าสู่ระบบที่ตรวจสอบได้

การยกเลิกธนบัตรมูลค่า 500 และ 1,000 รูปี (demonitisation) เพื่อปราบปรามปัญหาคอร์รัปชันและเงินนอกระบบ ทำให้คนอินเดียหันมาทำธุรกรรมโดยใช้บัตรเครดิต/เดบิตมากขึ้น ส่งผลให้มีเงินฝากเข้าบัญชี (ในระบบ) ถึง 3 ล้านล้านรูปี และทำให้ประชาชนยื่นแบบภาษี Income Tax Return เพิ่มสูงขึ้นด้วย (ในช่วงวันที่ 1 เม.ย.-5 ส.ค. 2560 มีการยื่นภาษีคืนจำนวน 5.6 ล้านคน ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกับในปีที่ผ่านมา มีเพียง 2.2 ล้านคน)

ภายใต้แผนการพัฒนาไปสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล และ cashless society หน่วยงานภายใต้ความดูแลของธนาคารแห่งชาติอินเดีย (Reserve Bank of India -RBI) ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน ชื่อ “BHIM app” เพื่ออำนวยความสะดวกในการจ่าย e-payment โดยตรงถึงธนาคารทุกแห่ง 

ปัจจุบัน มีคนอินเดียใช้ BHIM app กว่า 125 ล้านคน และรัฐบาลอินเดียมีแผนจะดำเนินอีก 2 โครงการเพื่อสนับสนุนการใช้ BHIM app ได้แก่ Referral Bonus Scheme สำหรับปัจเจกบุคคล และ Cashback Scheme สำหรับผู้ทำการค้า 

รัฐบาลอินเดียยังอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการ “Aadhar Pay” หรือระบบการชำระเงินออนไลน์ผ่านบัตร Aadhar Card หรือบัตรประชาชน ซึ่งหากทำได้สำเร็จ Aadhar Pay จะช่วยส่งเสริมการชำระเงินผ่านบัตรสำหรับประชาชนชาวบ้านทั่วไปที่ไม่มีบัตรเครดิต/บัตรเดบิต

ตัวอย่างความสำเร็จและการดำเนินนโยบายข้างต้นนับเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูประบบเศรษฐกิจอินเดียครั้งใหญ่ และเป็นการเปลี่ยนแปลงก้าวสำคัญของอินเดีย เพื่อเร่งพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาประเทศ 

รายงานการจัดอันดับประเทศที่มีความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจของธนาคารโลกในปีนี้ จัดให้อินเดียอยู่ที่อันดับ 100 ก้าวกระโดดจากปีก่อนในอันดับที่ 130 ซึ่งก็น่าจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติ พร้อมๆ ไปกับช่วยให้รัฐบาลอินเดีย และทีมผู้ปฏิบัติได้ชื่นใจหายเหนื่อยอยู่ไม่น้อย

พัฒนาการในทางที่ดีของการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจของอินเดียตลอด 3 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่นายโมดีเข้ามาบริหารประเทศ ทำให้นักลงทุนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกวิ่งเข้าหาอินเดีย เพื่อแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ อินเดียยังคงเป็น bright spot ในระบบเศรษฐกิจโลกที่ไม่สามารถมองข้ามได้

สาขาธุรกิจที่มีศักยภาพในตลาดอินเดียสำหรับภาคเอกชนไทย ได้แก่ การแปรรูปอาหาร อัญมณีและเครื่องประดับ ชิ้นส่วนยานยนต์ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน e-commerce สิ่งทอ ยา การดูแลสุขภาพ (Healthcare) การบริการด้าน IT และธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว

อีกหนึ่งพื้นที่ที่น่าจับตามอง คือ ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย (North Eastern Region-NER) ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อทางบก (Trilateral Highway เชื่อมอินเดีย เมียนมา และไทย) หรือเป็นประตูสู่อาเซียนของอินเดีย 

ล่าสุดนายกรัฐมนตรีโมดีได้เน้นย้ำความสำคัญของนโยบาย Act East และประกาศยกระดับความสำคัญของ NER ให้เป็นหนึ่งใน new engine growth โดยรัฐบาลอินเดียมีแผนพัฒนา NER ให้เป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงในภูมิภาคกับประเทศภูฏาน เนปาล บังกลาเทศ และอาเซียน ทั้งทางบก ทางอากาศ และทางน้ำ

การที่อินเดียเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ASEAN-India Commemorative Summit ในวันที่ 25 ม.ค. 2561 และการตอบรับคำเชิญเข้าร่วมงานดังกล่าวของหัวหน้ารัฐบาล 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญที่ทั้ง 2 ฝ่ายมีให้แก่กัน ซึ่งการมีเจตนารมณ์ทางการเมือง (political will) ที่ดีของทั้ง 2 ฝ่ายจะช่วยสนับสนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันต่อไป

ความเข้าใจและ การมองอินเดียใหม่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การดำเนินธุรกิจในอินเดียประสบความสำเร็จ 

อินเดียเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีศักยภาพอย่างมาก มีหลายด้านที่อินเดียมีความเชี่ยวชาญมากกว่าไทย เช่น ด้าน IT, ITeS, Fin Tech และยา ทั้งยังมีอีกหลายด้านที่ไทยมีความชำนาญมากกว่า เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว และ hospitality & wellness ทั้งสองฝ่ายสามารถร่วมมือกันและได้ประโยชน์ร่วมกัน 

ขณะเดียวกัน ด้วยขนาดของประเทศที่ใหญ่มาก ทำให้อินเดียมีความแตกต่างและความหลากหลายสูงเช่นกัน ดังนั้น การวางแผนการดำเนินธุรกิจในอินเดียจึงควรศึกษาข้อมูลในระดับรัฐ และเลือกประเภทธุรกิจที่เหมาะสมกับรัฐ เพื่อกำหนดทิศทางให้ชัดเจนและมีโอกาสความสำเร็จที่สูงขึ้น

สุดท้ายนี้ ขอร่วมส่งท้ายปีเก่า และสวัสดีปีใหม่แก่ท่านผู้อ่านทุกคนค่ะ

 

โดย...

จิตราภรณ์ เลิศทวีวิทย์

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี