ปัญญาประดิษฐ์กับการลงทุน

ปัญญาประดิษฐ์กับการลงทุน

ปัญญาประดิษฐ์กับการลงทุน

เรื่องปัญญาประดิษฐ์หรือ Artificial Intelligence (AI) ที่หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆ แล้วมันกำลังเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเราขึ้นเรื่อยๆ และจะเข้าเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเราเร็วกว่าที่ทุกคนคิด เพราะการพัฒนาขีดความสามารถของ AI นั้น เป็นการพัฒนาแบบทวีคูณ หรือ exponential ซึ่งในระยะแรกอาจเห็นการเติบโตไม่เร็วนัก แต่ในระยะยาวมันจะก้าวกระโดดจนเราอาจปรับตัวไม่ทัน

เราใช้เวลาเป็นพันปีในการพัฒนาเครื่องจักรมาใช้แทนแรงงานจากสัตว์  เราใช้เวลาเป็นร้อยปีในการพัฒนาจากยุคน้ำมันมาสู่ยุคพลังงานทดแทน เราใช้เวลาไม่กี่สิบปีนับตั้งแต่มีคอมพิวเตอร์เครื่องแรก (ENIAC 1946) จนเรามีอินเตอร์เน็ต เราใช้เวลาเพียงสิบกว่าปีพัฒนามือถือขนาดเท่ากระติกน้ำกลายเป็น smart phone ที่มีสมรรถนะสูงกว่าคอมพิวเตอร์ในยานอวกาศยุคแรกๆ

Alphabet Inc’s Google DeepMind ใช้เวลาพัฒนาเพียง 3 ปีก็สามารถเล่นหมากโกะ (Go) ชนะมือหนึ่งของโลกอย่าง Lee Sedal จากเกาหลี (2016) และ Ke Jei จากจีน (2017) ซึ่งถือเป็นการทะลุขีดความสามารถไปอีกขั้น เพราะเกมส์โกะมีรูปแบบการเล่นที่เป็นไปได้ทั้งหมดราวๆ 10 ยกกำลัง 700 รูปแบบ (10 ตามด้วย 0 อีกราว 700 ตัว) ซึ่งเยอะจนไม่สามารถโปรแกรมกลยุทธ์ล่วงหน้าได้ แต่ต้องใช้เทคโนโลยี Neural Network  และการสอนให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้ ในการเดินหมากตอบโต้ได้แบบมืออาชีพ ซึ่งเป็นเกมที่ใช้ความคิดซับซ้อนมากจนหลายครั้งมืออาชีพเองยังไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมจึงเดินหมากไปที่ตำแหน่งนั้นๆ

ที่สำคัญ ปัญญาประดิษฐ์ด้วยเทคโนโลยีนี้มีความเป็น General คือนำไปประยุกต์ใช้กับสถานการณ์อื่นๆได้ ซึ่งแม้การมีเครื่องจักรก็ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน (ใช้คนน้อยลง ทำงานได้มากขึ้น) แต่ในขณะเดียวกัน มันก็แย่งงานคนด้วย เครื่องจักรทำให้ความต้องการแรงงานกล้ามเนื้อลดลง คนถูกบังคับให้ผันตัวเข้ามา ภาคบริการและภาคการผลิต ต้องเรียนสูงขึ้น ใช้ความคิดมากขึ้น แรงงานไหลเข้าสู่งานออฟฟิศเพื่อถีบตัวหนีจากการถูกแย่งงานด้วยเครื่องจักร

ที่น่ากลัวคือ ตอนนี้ ปัญญาประดิษฐ์รุ่นใหม่ๆ มีความสามารถในการคิด (Cognitive ability) คือฟังคำพูด อ่านหนังสือ แปลความหมาย หาข้อมูล คิดประมวลผลและตอบสนอง ทำให้งานไหนที่มีรูปแบบ (pattern) ก็จะสามารถถูกแทนที่ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการขับรถอัตโนมัติ การตอบคำถามแบบ call center ไปจนถึงงานออฟฟิศอย่าง ทนายความ นักบัญชี หรือแม้แต่นักวิเคราะห์การเงิน สินเชื่อ และการลงทุน

แม้แต่งานที่ซับซ้อนอย่างการวินิจฉัยโรคของหมอก็กำลังถูกแทนที่ ตัวอย่าง IBM Watson ซึ่งเป็นปัญญาประดิษฐ์ที่เก็บรวบรวมข้อมูลคนไข้โรคมะเร็งวิธีการรักษาและผลการักษา ตลอดจนงานวิจัยใหม่ๆ จากทั่วโลก เมื่อนำมาประมวลผลเทียบกับข้อมูลของคนไข้รายใหม่ๆ จะสามารถให้คำแนะนำว่าควรตรวจอะไรเพิ่มหรือไม่ แล้วสรุปผลพร้อมแนะนำทางเลือกวิธีการรักษาที่น่าจะได้ผลดีที่สุด โดยเราสามารถขอดูได้ด้วยว่า การตัดสินใจดังกล่าวอ้างอิงมาจากข้อมูลไหน ตัวอย่างคนไข้แบบไหน ตลอดจนงานวิจัยที่สนับสนุนคำแนะนำดังกล่าว

แล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อรับมือกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น   เพราะเมื่อเครื่องจักรเข้ามาพร้อม AI จะไม่เพียงแทนที่แรงงานกล้ามเนื้อ แต่จะเข้ามาแทนที่ความคิดวิเคราะห์ได้ด้วย  ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องยากที่จะทำนายว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะพัฒนาออกมาในรูปแบบใด คนจะปรับตัวทันหรือไม่ แต่มีสิ่งหนึ่งที่เราเริ่มทำได้เลยในตอนนี้เพื่อเป็นการเตรียมตัวรับมือ นั่นคือการลงทุน

ในด้านหนึ่ง คือการลงทุนพัฒนาความรู้และทักษะของเรา เพื่อใช้ประโยชน์จาก AI เพราะอย่าลืมว่ามันไม่ใช่แค่คอมพิวเตอร์ล้วนๆ ที่เอาชนะแชมป์โกะหรือทดแทนความสามารถหมอ แต่ความสำเร็จของ AI เกิดจากการทำงานเป็นทีมระหว่าง “คน” กับ “AI” ในการฝึก เรียนรู้ และนำมาใช้งาน ดังนั้น ใครที่สามารถทำงานกับ AI ในการร่วมกันให้บริการกับลูกค้าได้ ย่อมมีที่ยืนในโลกอนาคตโดยมีรายได้สูงขึ้นตามผลิตภาพที่เพิ่มขึ้นด้วย  หมอที่เข้าใจความสามารถและข้อจำกัดของ AI เมื่อทำงานโดยมี AI หนุนหลังและหมอเติมเต็มในสิ่งที่ AI ทำไม่ได้ ย่อมสามารถช่วยเหลือคนไข้ได้มากขึ้นและแม่นยำขึ้นอย่างก้าวกระโดด

ในอีกด้านหนึ่งการลงทุนก็อาจเป็นการป้องกันความเสี่ยง (Hedge) จากผลกระทบจากเทคโนโลยีได้ เพราะหากแบ่งปัจจัยการผลิตออกเป็นสามอย่างตามหลักเศรษฐศาสตร์ ได้แก่ เงินทุน แรงงาน และเทคโนโลยี  หากเรามีรายได้หลักจากแหล่งเดียวคือจากการเป็น “แรงงาน” ซึ่งเสี่ยงจะถูกแทนที่ด้วย “เทคโนโลยี” การลงทุนก็อาจเป็นทางออกในการป้องกันความเสี่ยงได้ เพราะผลตอบแทนจากการเป็นเจ้าของ “เงินทุน” มักสูงขึ้นเมื่อมีการนำเทคโนโลยีมาใช้