ไทยจะทวงแชมป์ ส่งออกข้าวคืนได้หรือไม่

ไทยจะทวงแชมป์ ส่งออกข้าวคืนได้หรือไม่

ไทยเป็นประเทศผู้ปลูกข้าวลำดับที่ 6 ของโลก แต่เป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่เป็นอันดับหนึ่ง มาตั้งแต่ปี 2523 ติดต่อกันมาตลอด

จนถึงปี 2554  เมื่อรัฐบาลที่มีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด โดยให้ราคาสูงกว่าตลาด ก็ทำให้มีปัญหากระทบต่อการส่งออกข้าวไทย เนื่องจากต้นทุนข้าวที่สูงขึ้น และผู้ส่งออกไม่สามารถหาซื้อข้าวในตลาดเพื่อส่งมอบให้ลูกค้าในต่างประเทศได้ตามปกติ เพราะมีการนำข้าวไปจำนำมาก ข้าวเกือบทั้งหมดตกอยู่ในความครอบครองของรัฐ ประกอบกับการรับจำนำข้าวในราคาสูงชาวนาจึงเร่งปลูกข้าวพันธ์ที่ให้ผลเร็ว ไม่มีการคัดพันธ์ข้าวที่ปลูก   เมื่อต้นทุนข้าวสูงขึ้น และไม่มีข้าวส่งมอบตามกำหนดเวลา และมีปัญหาคุณภาพที่ด้อยลง จึงทำให้ผู้ซื้อในต่างประเทศหันไปซื้อจากประเทศผู้ส่งออกรายอื่นที่เป็น คู่แข่งของไทย คือเวียตนาม และอินเดียมาก

                จากการที่ผู้ซื้อในต่างประเทศหันไปซื้อข้าวจากเวียตนามและอินเดียมากขึ้น  มีผลทำให้การส่งออกข้าว ที่ไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่งมาตลอดตกอันดับไป  กล่าวคือตามสถิติการส่งออกข้าวที่กระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริการวบรวมไว้  ปี2555 อินเดียส่งออกได้  10.65 ล้าน ตัน เป็นอันดับหนึ่ง  ไทยส่งออกได้ 6.97  ล้านตันตกมาเป็นอันดับสาม  เวียตนามส่งออกได้7.73  ล้านตัน  เป็นอันดับสอง  ปี2556  อินเดียส่งออกได้10.57ล้านตัน   ไทยส่งออกได้7.05ล้านตัน แซงเวียตนามขึ้นมาเป็นอันดับสอง  เวียตนามส่งอกได้ 6.75 ล้านตัน เป็นอันดับสาม

                ปี2557   อินเดียส่งออกได้11.588ล้านตันเป็นอันดับหนึ่ง  ไทยส่งออกได้10.969ล่านตันเป็นอันดับสอง      เวียตนามส่งออกได้6.325ล้านตันเป็นอันดับสาม

                 ปี 25258 และปี2559   ช่วงกลางปี มีการประเมินกันว่าไทยน่าจะส่งออกได้เป็นอันดับหนึ่ง  แต่เมื่อถึงสิ้นปี ก็ปรากฏว่า อินเดียแซงไปทั้งสองปี  คือ ปี 2558 อินเดียส่งออกได้ 10.040ล้านคัน เป็นอันดับหนึ่ง ไทยส่งออกได้ 9.867ล้านตัน เป็นอันดับสอง เวียตนามส่งออกได้6.605ล้านตันเป็นอันดับสาม  ปี2559 อินเดียส่งออกได้11.600ล้านตันเป็นอันดับหนึ่ง  ไทยส่งออกได้ 11.000ล้านตัน  เป็นอันดับสอง  เวียตนามส่งออกได้ 6.600ล้านตันเป็นอันดับสาม

                 ปี2560  มีการระบายข้าวในสต๊อกที่มีอยู่18 ล้าน ตันเศษ จนเหลือเพียงสองล้านตันเศษ ทำให้ภาวการณ์การผลิตการค้าข้าวของไทยเข้าสู่ภาวะเกือบปกติ    การส่งออกข้าวไทยมีแนวโน้มดีและส่งออกได้มากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา เป็นปีที่คาดว่า การส่งออกข้าวของไทย น่าจะสูงสุดทำลายสถิติของทุกปีที่ผ่านมา  แต่จากสถิติการส่งออกข้าวของกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา ณ วันที่ 21 ธันวาคม 2560  ปรากฏว่าอินเดียยังส่งออกได้เป็นอันดับหนึ่ง  ส่งออกได้11.6 0 ล้านตัน  ไทยยังแซงอินเดียไม่ได้ ส่งออกได้10.20 ล้านตันเป็นอันดับสอง เวียตนามส่งออกได้6.30ล้านตัน เป็นอันดับสาม  อย่างไรก็ตาม จากตัวเลขการส่งออกข้าว ที่มิใช่ข้าวหอมมะลิไทยที่ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานคณะกรรมการตรวจข้าว  สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ณ  วันที่20 ธันวาคม 2560 มีจำนวนรวม  9.018ล้านตัน เมื่อรวมกับการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยตามใบรับรองมาตรฐานสินค้า อีก ประมาณ 2.06 ล้านตัน   ด้งนั้น ณ วันที่ 20 ธันวาคม 2560 ไทยจะสามารถส่งออกข้าวได้รวม 11.07 ล้านตัน ซึ่งตัวเลขสูงกว่าตัวเลขของกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา  จากที่มีการประมาณการกัน     เมื่อถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560  ไทยจะสามารถส่งออกข้าวได้ไม่น้อยกว่า 11. 51 ล้านตัน ทำลายสถิติการส่งออกของทุกปีที่ผ่านมา ซึ่งก็ต้องลุ้นกันว่าจะส่งออกแซงอินเดียและครองอันดับหนึ่งทวงแช้มป์กลับมาได้หรือไม่

                ข้อสังเกต  

                1   การที่อินเดียส่งออกข้าวได้เป็นอันดับหนึ่งแทนไทยมาตั้งแต่ปี 2555  เพราะราคาข้าวของอินเดียถูกกว่าราคาข้าวของไทยประมาณตันละ 20 ถึง 40 เหรียญสหรัฐ

                2 ข้าวขาวที่ไทยส่งออกเกือบทั้งหมดเป็นพันธ์ข้าวที่มีอมิโลส(Amylose )สูงเกินร้อยละ20 ซึ่งหุงแล้วข้าวจะไม่อ่อนนุ่ม เรียกได้ว่าเป็นข้าวแข็ง(อมีโลส คือแป้งชนิดหนึ่งถ้ามีอยู่มากเมื่อหุงแล้วจะทำให้ข้าวแข็ง ถ้ามีน้อยเมื่อหุงข้าวจะอ่อนนุ่ม)  ซึ่งไม่สนองตอบลูกค้าบางส่วน โดยเฉพาะลูกค้าชาวจีนระดับกลาง ที่นิยมบริโภคข้าวนุ่ม  ข้าวไทยที่หอมและเป็นข้าวนุ่ม คือข้าวหอมไทย และข้าวหอมมะลิไทย แต่มีราคาสูงซึ่งไม่สามารถสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้ได้

                3  ปัจจุบัน ทั้งเวียตนามและกัมพูชา มีการพัฒนาพันธ์ข้าวใหม่ฯ เป็นข้าวที่มีอมีโลสไม่เกินร้อยละ20 ซึ่งเป็นข้าวนุ่ม  แม้กลิ่นจะไม่หอม เพื่อการส่งออกในราคาไม่สูงเท่าข้าวหอม  สามารถสนองตอบความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้ได้ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของผู้นำเข้าชาวจีนในขณะนี้

                4 ไทยควรมีการพัฒนาและส่งเสริมการปลูกข้าวขาวพันธ์ที่มีอมีโลสไม่เกินร้อยละ20  เพื่อสนองความต้องการของลูกค้าที่นิยมบริโภคข้าวนุ่มที่มีราคาไม่สูงเกินไปนัก เพื่อให้ได้ส่วนแบ่งตลาดจากลูกค้ากลุ่มนี้  ก็จะช่วยทำให้การส่งออกข้าวไทยมีปริมาณมากขึ้น ซึ่งได้รับทราบข้อมูลจากนักวิชาการด้านพันธ์ข้าว ว่า  ไทยมีพันธ์ข้าวขาวที่มีอมีโลสไม่เกินร้อยละยีสิบอยู่แล้ว สามารถส่งเสริมให้มีการปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตในเชิงพาณิชย์ได้แน่  แต่มีปัญหาคือการส่งเสริมให้ชาวนาปลูกข้าวพันธ์นี้  จะต้องมีแรงจูงใจให้ชาวนาเชื่อมั่นได้ว่า  การปลูกข้าวพันธ์นี้จะได้ผลผลิตและได้ราคาไม่น้อยกว่าข้าวที่ปลูกในปัจจุบัน     ซึ่งเชื่อว่าหาก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย  ร่วมมือกันพิจารณากำหนดมาตรการแนวทางให้ชาวนาเกิดความมั่นใจ  ก็น่าจะแก้ปัญหานี้ได้