การเติบโตก้าวกระโดดของ 'ฟินเทคไทย'

การเติบโตก้าวกระโดดของ 'ฟินเทคไทย'

การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมฟินเทคไทย ด้วย e-KYC และ Digital ID

ในปีหน้า 2018 ผมเชื่อว่าอุตสาหกรรมฟินเทคของประเทศไทย จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดด้วย e-KYC และ Digital ID จากการศึกษาสาเหตุหลักที่ทำให้ฟินเทคเติบโตเป็นอย่างมากทั่วโลก อันดับ 1 นั้นมาจาการเปิดบัญชีที่ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และสาเหตุรองลงมาคือมาจากการที่ค่าธรรมเนียมถูกลง หรือการได้อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น (ที่มา https://www.dealsunny.com/blog/fintech-digitally-disrupting-the-financial-world-infographic)

และในเร็ว ๆ นี้การเกิดขึ้นของ e-KYC (กระบวนการในการรู้จักลูกค้าผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์) ร่วมกับ National Digital ID Platform (ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล) น่าจะเป็นตัวปลดล็อคครั้งสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมการเงินของประเทศไทยให้การใช้เทคโนโลยีสำหรับธุรกรรมทางการเงินเติบโตอย่างก้าวกระโดด

สำหรับ Digital ID ล่าสุดคณะกรรมการพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ได้มีการวางแผนว่าในปีหน้า ครึ่งปีแรกจะมีการพัฒนาระบบ Digital ID platform และครึ่งปีหลัง เริ่มให้มีการยืนยันตัวตนในภาคการเงิน และภาครัฐบางส่วน

โดยขั้นตอนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ได้แบ่งกระบวนการที่สำคัญออกเป็น 2 กระบวนการ ได้แก่ การลงทะเบียนและพิสูจน์ตัวตน (Enrolment and Identity Proofing) และ การยืนยันตัวตน (Authentication and Lifecycle Management) (ที่มา http://www.digitalid.or.th/)

เราไปดในทางปฏิบัติในรายละเอียดกันสักนิดครับ การลงทะเบียนและพิสูจน์ตัวตน ถ้าเราสนใจที่จะเปิดบัญชีบนโลกออนไลน์ ต้องเริ่มด้วยการสมัครใช้งานกับผู้ให้บริการอัตลักษณ์ (Identity Provider: IDP) ซึ่ง IDP จะมีหน้าที่ตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างตัวตนในโลกออนไลน์ และตัวตนในโลกความเป็นจริงของผู้สมัคร ซึ่งเมื่อผู้สมัครผ่านการพิสูจน์ตัวตนเรียบร้อย ผู้สมัครจะมีสถานะเป็นผู้ใช้บริการที่ได้รับการรับรองข้อมูลโดย IDP และได้รับ user name หรือเลขประจำตัวผู้ใช้บริการ และสิ่งที่ใช้ยืนยันตัวตน (credential) เพื่อนำไปใช้ในการยืนยันตัวตนต่อไป

การยืนยันตัวตน (Authentication) เมื่อถึงเวลาใช้งานจริง เช่น เวลาจะเปิดบัญชีเพื่อทำธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ เช่น บัญชีสินเชื่อ บัญชีหุ้น บัญชีกองทุน กรมธรรม์ประกันภัย ผู้ใช้บริการต้องติดต่อไปที่ ผู้ขอใช้อัตลักษณ์ (Relying Party: RP) และทำการยืนยันตัวตนกับผู้ให้บริการอัตลักษณ์ (IDP) ผ่านวิธีการยืนยันตัวตนที่ถูกต้องตามมาตรฐาน ทั้งนี้สิ่งที่ใช้ในการยืนยันตัวตน สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

  1. สิ่งที่คุณรู้ (What you know) เช่น username, password
    2. สิ่งที่คุณมี (What you have) เช่น บัตรประชาชน พาสปอร์ต หรือการใช้ pin code ด้วยโทรศัพท์มือถือ
    3. สิ่งที่คุณเป็น (What you are) เช่น ลายนิ้วมือ การสแกนม่านตา ใบหน้า หรือเสียง เป็นต้น

ซึ่งการยืนยันตัวตนแต่ละระดับอาจใช้ปัจจัยเดียว (Single Factor) หรือถ้าเข้มงวดมากขึ้นอาจต้องใช้หลายปัจจัยประกอบกัน (Multi Factor)


เมื่อกลไกของ Digital ID นำมาใช้ประกอบกับการทำ e-KYC ซึ่งรับรองโดย พระราชบัญญัติส่งเสริมการประกอบธุรกิจด้วยเทคโนโลยีทางการเงิน (พ.ร.บ.ฟินเทค) ที่มีแนวโน้มจะคลอดอย่างเป็นทางการในปี 2018 ที่กำลังจะมาถึงนี้เช่นกัน โดย พ.ร.บ. ได้ระบุรับรองเรื่องการแสดงตัวตน หรือ KYC นั้นสามารถทำด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือแบบไม่ต้องเห็นหน้า (non face to face) ได้ แม้จะไม่ได้ไปแสดงตัวตนด้วยตัวเองต่อหน้าผู้ให้บริการทางการเงิน

ในวันนี้ คนไทยจำนวนมากยังไม่เข้าถึงบริการทางการเงิน ทุกวันนี้ยังต้องกู้เงินจากนายทุนดอกเบี้ยแพง ๆ คนไทยกว่า 90% ยังไม่เริ่มลงทุนเพราะไม่มีความรู้ หรือกลัวเจ๊ง แต่กลไกเรื่อง e-KYC ร่วมกับ Digital ID ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้จะเป็นตัวเปิดโอกาสให้คนไทยสามารถเปิดบัญชีผ่านช่องทางโทรศัพท์มือถือ และออนไลน์ได้ ซึ่งตอบรับกับพฤติกรรมในปัจจุบัน ทำให้คนไทยมีโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้นนับล้าน ๆ คน รวมไปถึงการได้รับความรู้ความเข้าใจในผลิตภัณ์ฑและบริการทางการเงินที่ดีขึ้น เป็นเรื่องที่น่าติดตามมาก ๆ ในปี 2018 ที่กลังจะมาถึงนี้ครับ

FundTalk รายงาน