ห้องประมูลที่เคยคับแคบ

ห้องประมูลที่เคยคับแคบ

ห้องประมูลที่เคยคับแคบ

คุณลองจินตนาการงานประมูลสินค้าในห้องเล็กๆ ที่จุคนได้ 10 คน แต่ละคนพกเงินมาได้ไม่เกิน 1 แสนบาท สินค้าที่ได้จากการประมูลต้องจ่ายทันทีและชำระเป็นเงินสดเท่านั้น ไม่ว่าราคาตั้งต้นในการประมูลของสินค้านี้เป็นเท่าไร แต่เราสามารถสรุปได้ทันทีว่า ราคาประมูลสุดท้ายของสินค้าจะขึ้นไปแพงสุดที่ 1 แสนบาทเท่านั้น และมีวงเงินหมุนเวียนในห้องประมูลสูงสุดแค่ 1 ล้านบาท (10 คน x 1 แสนบาท)

ถ้าอยากให้ราคาประมูลสูงสุดแพงขึ้นไปอีก จึงเปลี่ยนกติกาการประมูล โดยอนุญาติให้ผู้ประมูลไม่จำเป็นต้องจ่ายเป็นเงินสด แต่ให้วงเงินประมูลได้สูงสุด  2 เท่าของเงินสดที่มี กติกาเปลี่ยนไปแบบนี้เราก็คำนวณได้ทันทีว่า ราคาประมูลของสินค้าในห้องนั้นอาจจะมีสัก 1 ชิ้นที่ขึ้นไปได้สูงสุดที่ 2 แสนบาท (2 เท่าของเงินสดที่พกมา 1 แสนบาท) และวงเงินหมุนเวียนในห้องประมูลสูงสุดก็เพิ่ม 2 เท่าตามเป็น 2 ล้านบาท และถ้าจะเพิ่มความคึกคักให้สินค้ามีโอกาสประมูลไปราคาสูงๆหลายๆชิ้น ก็ขยายห้องให้ใหญ่ขึ้นจาก 10 คน ให้เป็นจุได้ 50 คนแทน ถ้าแบบนี้ถึงแม้ราคาประมูลสินค้ายังสูงสุดอยู่ที่ 2 แสนบาท แต่ปริมาณเงินหมุนเวียนสูงสุดในห้องนั้นเพิ่มไปที่ 10 ล้านบาท (50 คน x 2 แสนบาท) การที่ปริมาณวงเงินหมุนเวียนในห้องนั้นเพิ่มขึ้น ทำให้สินค้าในห้องนั้นหลายๆชิ้นมีโอกาสจบราคาประมูลที่ 2 แสนบาทมากขึ้น

สังเกตว่าการประเมินผลลัพธ์ในการประมูลข้างต้นของผมนั้น ไม่ได้ให้ความสำคัญว่าสินค้าที่นำมาประมูลนั้นคืออะไร คุณภาพสินค้านั้นเป็นอย่างไร รู้แต่ว่าถ้าเพิ่มวงเงินต่อคนและจำนวนคนประมูลเข้าไป และสินค้านั้นๆกำลังอยู่ในกระแส โอกาสที่ราคาประมูลของสินค้านั้นจะแพงขึ้นไปเรื่อยๆก็จะมากขึ้นตาม

ตัวอย่างการประมูลที่ผมยกมานี้คือ ภาพทั่วๆ ไปของการเก็งกำไรในตลาดการเงิน การอนุญาติให้ผู้ร่วมประมูลสามารถประมูลมากกว่าเงินสดที่มี ก็คือการกู้เงินหรือการ Leverage ของนักลงทุน การที่ห้องประมูลเปิดรับคนเข้ามามากขึ้น ก็เสมือนกับมวลชนที่เข้ามาประมูลพร้อมๆกันในสภาวะที่ตลาดเป็นบวกมากๆ ทำให้มีเงินหมุนเวียนในตลาดการเงินมากขึ้น มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันก็เพิ่มขึ้นตาม กลไกตรงนี้ถ้ามีการควบคุมและใช้งานที่เหมาะสม ก็จะทำให้เกิดสภาวะสมดุลของราคาสินค้า และเป็นเรื่องที่ดี เช่น ในตลาดหุ้นแต่ละประเทศก็จะมีนักวิเคราะห์ช่วยประเมินมูลค่าราคาสินทรัพย์ มีการควบคุมวงเงินกู้ มีเจ้าหน้าที่การตลาดช่วยดูแลนักลงทุน รวมทั้งกฎเกณฑ์ต่างๆที่มีหน่วยงานกำกับดูแล ทั้งหมดนี่ทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นอยู่ในสภาวะที่มีความสมดุลเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม การเก็งกำไรในตลาดที่ขาดกลไกในการควบคุม และมีคนเข้ามาในห้องประมูลนั้นได้เรื่อยๆไม่จำกัด แทนที่จะทำให้เกิดสภาวะสมดุลราคาสินค้า กลับกลายเป็นความผันผวนที่รุนแรงของราคาสินค้าตามปริมาณมวลชนที่เข้ามา  และเป็นที่มาของปรากฎการณ์การเก็งกำไรใน Bitcoin

การเคลื่อนไหวของราคา Bitcoin ก็เสมือนกับการประมูลสินค้าในกระแส นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนสามารถใช้ Leverage กันได้เต็มที่ และห้องประมูลของ Bitcoin ก็อยู่ในโลกกว้างไร้พรมแดน ไม่จำกัดเชื้อชาติ ไม่จำกัดประสบการณ์การลงทุน ราคา Bitcoin นั้นถูกผลักดันขึ้นลงจากวงเงินหมุนเวียนจากมวลชนนักเก็งกำไรทั่วโลก การประเมินราคาว่า Bitcoin จะขึ้นไปได้สูงสุดขนาดไหนก็ไม่สามารถทำได้ เพราะห้องประมูลห้องนี้ไม่จำกัดเรื่อง Leverage และผู้ประมูลก็หลากหลายเกินที่จะประเมินเงินในกระเป๋าที่พกมาได้

ในอดีตปรากฏการณ์ตรงนี้อาจจะเกิดขึ้นได้ยากมาก เพราะการที่นักลงทุนจากทั่วโลกจะมารวมตัวกันอยู่ในห้องประมูลเดียวกันเพื่อประมูลสินค้าชิ้นเดียวกันแทบจะเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าดูจากปรากฏการณ์ Bitcoin และเทคโนโลยีต่างๆที่ทำให้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็วพร้อมๆกัน การรวมตัวกันนั้นของมวลชนขนาดนี้ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ห้องประมูลที่เคยคับแคบได้เปิดกว้างให้กับทุกคน