กุญแจสู่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

กุญแจสู่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

อะไรคือปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดทิศทางการฟื้นตัวที่ต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลกในปีหน้า และปีถัด ๆ ไป

หากเราย้อนกลับไปถามคำถามเดียวกันนี้เมื่อปลายปี 2559 คำตอบใน 3 ลำดับแรกที่คาดว่าจะได้รับ ณ ขณะนั้น ก็น่าจะเป็นว่า (ก) ต้องขึ้นอยู่กับผลของการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในทิศทางขาขึ้นของคณะกรรมการการเงินสหรัฐ (Fed) ที่จะมีผลต่อท่าทีของธนาคารกลางของประเทศอื่น ๆ 

ตามมาด้วย (ข) ผลของนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ ที่จะเข้ามารับตำแหน่งเมื่อตอนต้นปีที่ผ่านมา และ (ค) ผลการเลือกตั้งผู้นำประเทศของหลายชาติในยุโรป

ซึ่งก็ได้ปรากฏแล้วเป็นที่ประจักษ์ว่า ทั้งสามเรื่องนี้ไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญนักตลอดปี 2560 ที่กำลังจะสิ้นสุดลงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

เศรษฐกิจโลกตลอดหลายปีที่ผ่านมา นับจากวิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งใหญ่เมื่อปี 2551 มีลักษณะการฟื้นตัว ที่ดูออกจะแตกต่าง และ ซับซ้อน กว่าครั้งก่อน ๆ ที่มีวิกฤตการณ์กันมา กล่าวคือในหลายปีผ่านมา ดัชนีราคาในตลาดหุ้นทั่วโลก ปรับขยายตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ แต่กลับไม่อาจเป็นตัวสะท้อนถึงการฟื้นตัวที่ชัดเจนของภาคการผลิตที่แท้จริง  เนื่องจากว่า ดัชนีราคาหุ้นขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากนั้นเป็นเพราะนักลงทุนทั่วไปไม่มีทางเลือกในการลงทุนอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ามากกว่านั่นเอง 

ส่วนสาเหตุสำคัญที่ทำให้ภาคการผลิตที่แท้จริงไม่สามารถขยายตัวได้มากขึ้นเท่าที่ควร ก็เกิดจากการชะลอตัวของอุปสงค์มวลรวมโลก (global aggregate demand) ที่สะท้อนให้เห็นได้จากการที่อัตราเงินเฟ้อของประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วโลกต่างก็มีค่าต่ำกว่าเกณฑ์เป้าหมายที่ตั้งไว้ร้อยละ 2 ต่อปีนั่นเอง

กลับมาที่คำถามที่ได้จั่วไว้ตอนต้นว่า อะไรคือปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดทิศทางการฟื้นตัวที่ต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลกในปีหน้าและปีถัด ๆ ไป ซึ่งคุณผู้อ่านก็คงจะเดาได้ว่า คำตอบน่าจะเกี่ยวกับเรื่อง ทิศทางการปรับตัวของอุปสงค์มวลรวมโลก ในระยะสั้น ซึ่งมีความสำคัญมากกว่า ปัจจัยทางด้านอุปทานมวลรวมทั้งหลาย ซึ่งเป็นเรื่องระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบทบาทของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ A.I. หรือแม้แต่ผลจากนโยบายการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้ของสหรัฐ ที่จะมีต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในระยะยาวของภาคการผลิตในอเมริกา เป็นต้น

ประเด็นสืบเนื่องต่อมาที่ว่า แล้วอะไรจะเป็นตัวกำหนดการเปลี่ยนแปลง ทิศทางของอุปสงค์มวลรวมต่อจากนี้อีกทีหนึ่ง และอย่างไร

การจะตอบคำถามในส่วนนี้ให้ได้ ก็จะต้องย้อนกลับไปดูว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้อุปสงค์มวลรวมโลกเกิดการสะดุดจนมีอาการชะลอตัวตั้งแต่แรก

ในส่วนนี้เอง แม้แต่นักเศรษฐศาสตร์เอง ก็เกิดอาการเสียงแตกจนเห็นต่างกันไปคนละทิศละทาง แต่ก็ยังพอจะแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มความคิดใหญ่ ๆ ด้วยกัน ดังนี้

กลุ่มที่หนึ่ง ประกอบด้วยนักเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อว่า การชะลอตัวของอุปสงค์มวลรวมโลกที่ผ่านมา มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเชิงโครงสร้างพื้นฐาน ของประเทศพัฒนาแล้ว ที่ทยอยกันเข้าสู่การเป็นเศรษฐกิจผู้สูงอายุ ทำให้หลายประเทศมีการเกินดุลการค้า และมีระดับการออมต่อหัวที่สูง อย่างเช่นกรณีของประเทศเยอรมนี หรือประเทศญี่ปุ่น ที่ตกอยู่ในภาวะชะลอตัวติดต่อกันมาเป็นเวลาหลาย ๆ ปี สหรัฐเองที่ดูจะมีการฟื้นตัวที่ชัดเจนจนทำให้เข้าใกล้ภาวะการจ้างงานเต็มที่แล้ว แต่ก็ยังมีอัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้อยู่ดี 

นักเศรษฐศาสตร์ในกลุ่มนี้เชื่อว่า การชะลอตัวของอุปสงค์มวลรวมโลกที่ผ่านมาเกิดจากการเปลี่ยนแปลงในระดับของปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้ ดังนั้น การฟื้นตัวของอุปสงค์มวลรวมในปีหน้าหรือถัด ๆ ไป ก็จะมีลักษณะการขยายตัวช้า ๆ ต่อเนื่อง ไม่มีอะไรหวือหวาไปจากเส้นแนวโน้มในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม หากมีภาวะเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง ที่เกิดขึ้นในระยะสั้น เช่น ปัญหาภาวะหนี้จำนวนมากที่สร้างความตื่นตระหนก หรือสงครามความขัดแย้งระหว่างประเทศและผลจากการก่อการร้ายในที่ต่าง ๆ ก็ย่อมจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกได้เช่นกัน

กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มของนักเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อว่า การชะลอตัวของอุปสงค์มวลรวมที่ผ่านมา มีสาเหตุมาจากความกังวลในปัญหาหนี้จำนวนมาก ที่ก่อตัวขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ ผลจากภาวะวิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งใหญ่ที่ผ่านมา 

ดูเหมือนว่าจะยังไม่มีทางออกอย่างเป็นรูปธรรมในทางปฎิบัติในการจัดการกับปัญหาหนี้ที่เกิดจากการลงทุนที่ไร้ประสิทธิภาพ และอาจก่อปัญหาราคาฟองสบู่ในสินทรัพย์ต่อไปได้ ส่งผลให้ตลาดมีความกังวล และปรับการคาดการณ์เกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกให้อยู่ในระดับต่ำที่ผ่านมา ซึ่งก็ได้ส่งผลต่อเป็นลูกโซ่ทำให้ภาคเอกชนลดหรือเลื่อนการลงทุนออกไปก่อน เป็นต้น

แม้นักเศรษฐศาสตร์เหล่านี้จะเห็นแตกต่างกัน แต่ก็ยังมีจุดเหมือนที่ตรงกันว่า ระบบเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้วกำลังประสบกับปัญหาของ การขาดประสิทธิภาพในเชิงพลวัต ที่ทำให้ภาคเอกชนมีการออมสูงมากเกินไป

วิธีแก้ปัญหานี้ ภาครัฐในประเทศที่พัฒนาแล้วจำเป็นจะต้องใช้มาตรการทางการคลังทั้งในรูปของการขึ้นภาษี หรือการกู้ยืมในรูปของการออกพันธบัตร เพื่อดูดเงินออมส่วนเกินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ของภาคเอกชน เพื่อรัฐจะใช้ลงทุนในการเพิ่มประโยชน์เชิงสังคม (social benefits) แทน ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากบทบาทของภาคเอกชน อาทิ การลงทุนในเรื่องทุนมนุษย์และคุณภาพของเด็กเล็ก โดยอาจทำในรูปของการเพิ่มเงินช่วยเหลือครอบครัวรายได้น้อยที่มีบุตรเกิดใหม่ (child tax credit) หรือให้เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายการดูแลบุตรสำหรับครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง หรือ การลงทุนพัฒนาคุณภาพโรงเรียนสำหรับนักเรียนทั่วไป และการลงทุนพัฒนางานวิจัยพื้นฐาน (basic research) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่ภาคเอกชนไม่สามารถทำได้เอง เพราะไม่มีความคุ้มค่าทางการเงิน (แม้จะมีความคุ้มค่าในเชิงสังคม) 

บทบาทของรัฐที่กล่าวมาเหล่านี้ ไม่เพียงแต่จะช่วยลดปัญหา ช่องว่างความเหลื่อมล้ำ ให้แคบลงได้แล้ว ยังเป็นผลดีต่อการขยายตัว และเพิ่มการแข่งขันทางเศรษฐกิจในระยะยาวอีกด้วย

หลักการหล่านี้ น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยด้วยเช่นกัน จึงเป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องควรจะได้ให้การใส่ใจที่จริงจังกันมากขึ้น เพื่อที่ประเทศไทยจะได้ก้าวข้ามกับดักรายได้ประเทศปานกลาง ไปพร้อม ๆ กับการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำให้ได้อย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว