มองตลาดปีนี้...ก่อนวางกลยุทธ์ลงทุนรับปีจอ

มองตลาดปีนี้...ก่อนวางกลยุทธ์ลงทุนรับปีจอ

มองตลาดปีนี้...ก่อนวางกลยุทธ์ลงทุนรับปีจอ

สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่านทุกท่าน

เราผ่านพ้นปี 2017 กันมา 11 เดือนแล้วนะคะ ดิฉัน คาดว่า การลงทุนของหลายท่านคงประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยเฉพาะท่านผู้ลงทุนที่มีการกระจายการลงทุนไปในหุ้นเป็นส่วนใหญ่ เพราะในปีนี้ผลตอบแทนของตลาดหุ้นหลักๆ ของโลกปรับเพิ่มขึ้นกันอย่างถ้วนหน้า ทั้งตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ นอกจากตลาดหุ้นแล้ว ตลาดตราสารหนี้ ก็สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้เมื่อช่วงต้นปีเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรรัฐบาล หรือ ตราสารหนี้ภาคเอกชน ในขณะที่การลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ก็สามารถสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ลงทุนได้เช่นกัน แม้ว่าผลตอบแทนอาจไม่ได้สูงมากเท่ากับตลาดหุ้นก็ตาม

ผู้ลงทุนหลายท่านอาจมีคำถามว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ผลตอบแทนของสินทรัพย์ต่างๆ ในปีนี้เพิ่มขึ้นมาได้มากขนาดนี้? และ การลงทุนในปีหน้าจะมีทิศทางอย่างไร? ดังนั้น ในคอลัมภ์ ลงทุนสไตล์ Private Bank เดือนนี้ ดิฉันจะสรุปเหตุปัจจัยของการปรับขึ้นของผลตอบแทนในสินทรัพย์ต่างๆ ให้ท่านผู้อ่านทราบก่อน แล้วในฉบับเดือนหน้า ดิฉันจะเขียนถึงทิศทางการลงทุนในปี 2018 เพื่อต้อนรับปีจอกันต่อไปค่ะ

ผลตอบเเทนของตลาดหุ้นปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ (Outperform) มาจากการที่เศรษฐกิจของประเทศหลักๆ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ยุโรป รวมถึงประเทศในโซนเอเชียขยายตัวเเข็งเเกร่งไปในทิศทางเดียวกัน (Synchronized Growth) เเม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะเริ่มดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ทั้งการเริ่มลดขนาดงบดุล เเละการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ต้นปี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ (S&P500) ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 18% อยู่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากเศรษฐกิจเเละตลาดเเรงงานที่ขยายตัวเเข็งเเกร่ง กำไรของบริษัทจดทะเบียนขยายตัวได้ดี นอกจากนี้ นักลงทุนยังคาดหวังเกี่ยวกับร่างกฎหมายปฎิรูปภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์ โดยเฉพาะการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล เเละการปรับลดภาษีการส่งเงินกลับเข้าประเทศ (Repatriation tax rate) ที่น่าจะส่งผลให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนมีเเนวโน้มขยายตัวได้ดี

สำหรับ ตลาดหุ้นยุโรป ได้เริ่มปรับเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นอื่นๆ ทั่วโลก หลังทราบผลการเลือกตั้งฝรั่งเศส รวมทั้งเศรษฐกิจยุโรปส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนขยายตัวได้ดี อย่างไรก็ตาม ดัชนีตลาดหุ้นยุโรป (Stoxx600) เพิ่มขึ้นเพียง 6% น้อยกว่าตลาดหุ้นอื่นๆ เนื่องจาก ความกังวลเกี่ยวกับเรื่อง BREXIT และความล่าช้าในการจัดตั้งพรรคร่วมรัฐบาลของเยอรมัน เป็นต้น สำหรับตลาดหุ้นญี่ปุ่น ปรับเพิ่มขึ้น 18% เนื่องจาก เสถียรภาพทางการเมืองที่เพิ่มมากขึ้น หลังนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ ชนะการเลือกตั้งทั่วไปและได้คะแนนเสียงมากกว่า 2 ใน 3 ด้านตลาดหุ้นโซนเอเชีย โดยเฉพาะตลาดหุ้นจีน เเละอินเดีย ปรับเพิ่มมากกว่า 20% จากปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก โดย ตลาดหุ้นจีน ปรับเพิ่มขึ้นมากก่อนการประชุมเปลี่ยนผ่านผู้นำในเดือน ต.ค. อย่างไรก็ตาม ทางการจีนมีการออกมาตรการเพื่อชะลอความร้อนเเรงเเละควบคุมหนี้ของจีนที่ทรงตัวในระดับสูง จึงส่งผลให้ดัชนีฯ ปรับลดลงเเละอยู่ในช่วงพักฐาน ภายหลังการประชุมเปลี่ยนผ่านผู้นำดังกล่าว ด้าน ตลาดหุ้นอินเดีย ปรับเพิ่มขึ้นจากแรงซื้อในประเทศเป็นหลัก ประกอบกับการใช้นโยบายภาษี GST ที่มีเเนวโน้มเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บภาษีให้กับภาครัฐบาลของอินเดีย

ในส่วนของตราสารหนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2017 นักลงทุนทั่วโลก ต่างระมัดระวังต่อการลงทุนในตลาดตราสารหนี้  เนื่องจาก วิตกกังวลต่อแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed และธนาคารกลางแห่งอื่นๆ เช่น ธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางอังกฤษ ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง (Reflation) จากการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) ของสหรัฐฯ ระยะยาวปรับเพิ่มขึ้น เเต่หากพิจารณาตั้งเเต่ต้นปี Bond Yield สหรัฐฯ อายุ 10 ปี กลับปรับลดลง 9 bps เนื่องจาก นักลงทุนผิดหวังเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ จึงส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นตามที่คาด ขณะที่ Bond Yield ระยะสั้น อายุ 2 ปี ยังคงปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 9 ปี ตามเเนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed

ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าวได้ส่งผลให้ส่วนต่างระหว่าง Bond Yield อายุ 10 ปี เเละ 2 ปี ของสหรัฐฯ ปรับลดลงอยู่ที่ 53 bps ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังที่ 151 bps นอกจากนี้ นับตั้งเเต่ต้นปี ตราสารหนี้ภาคเอกชน ทั้งตราสารหนี้ที่อยู่ในระดับที่ลงทุนได้ (Investment Grade Bond - IG) เเละตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบเเทนสูง (High Yield Bond - HY) กลับให้ผลตอบเเทนได้ค่อนข้างดีที่ 6.8% เเละ 9.9% ตามลำดับ เนื่องจากการแสวงหาผลตอบแทนของนักลงทุน ประกอบกับเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดี ส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทผู้ออกตราสาร (Credit Metrics) ปรับตัวดีขึ้น เเละความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ (Default Rate) ปรับลดลง

ด้านราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวดีขึ้น โดยราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นกว่า 8% ตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว รวมถึงได้รับเเรงหนุนจากการขยายระยะเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศโอเปกเเละนอกโอเปกออกไปอีก 9 เดือน เป็นสิ้นสุดเดือน ธ.ค.2018 ขณะที่ราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นจากเงินสกุลดอลลาร์ สรอ.ที่อ่อนค่าลง และความไม่เเน่นอนในคาบสมุทรเกาหลี หลังในปีนี้เกาหลีเหนือได้มีการทดสอบยิงขีปนาวุธหลายครั้งด้วยกัน

ทั้งนี้ ผลตอบเเทนของสินทรัพย์ที่ปรับเพิ่มขึ้นมากในปีนี้ ได้เป็นปัจจัยที่ท้าทายสำหรับการวางกลยุทธ์การลงทุนในปี 2018 เนื่องจากมูลค่าพื้นฐานที่ค่อนข้างตึงตัวในหลายสินทรัพย์ อาทิ ดัชนีตลาดหุ้นในบางประเทศที่มีการปรับเพิ่มขึ้นเเตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ รวมถึงตราสารหนี้ประเภท IG เเละ HY ที่ Credit Spread อยู่ที่ระดับเกือบต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน ซึ่งท่านผู้อ่านสามารถติดตามทิศทางการลงทุนในปี 2018 จากดิฉันได้ในเดือนหน้านะคะ