เศรษฐกิจฐานราก ยังไร้วี่แววฟื้นตัว

เศรษฐกิจฐานราก ยังไร้วี่แววฟื้นตัว

คงไม่มีใครปฎิเสธว่า เศรษฐกิจไทยเวลานี้อยู่ในวัฎจักร “ขาขึ้น” อย่างชัดเจน เพราะตัวเลขที่

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ประกาศออกมาถือเป็น เครื่องยืนยันว่า เศรษฐกิจไทยหลุดพ้นจากภาวะถดถอยแล้ว

ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุด ของไตรมาส 3 ปี 2560 เติบโตถึง 4.3% เป็นการขยายตัวสูงสุดรอบ 18 ไตรมาส หรือ 4 ปีครึ่ง และทำให้เศรษฐกิจช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ ขยายตัวได้ 3.8% ตอนนี้ “ภาครัฐ” กำลังลุ้นว่า ทั้งปีจะเติบโตได้ถึง 4% หรือไม่

แต่ปัญหาการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ยังคงอยู่ในวงเวียนเดิม คือ เป็นลักษณะกระจุกตัวอยู่ในคนกลุ่มบน ขณะที่คนกลุ่มล่าง หรือ ที่เรียกกันว่า “เศรษฐกิจฐานราก” ยังไร้วี่แววของการฟื้นตัว

สัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) รายงานตัวเลขเศรษฐกิจเดือนต.ค.2560 ข้อมูลที่โชว์ออกมา ชี้ให้เห็นว่า “ภาคเกษตร” ยังคงย่ำแย่ โดยรายได้ภาคเกษตรกลับมา “หดตัว” อีกครั้ง ลดลงถึง 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

รายได้ภาคเกษตรที่ลดลงนี้ ยังฉุดรั้งให้ “ความเชื่อมั่นผู้บริโภค” ในเดือนดังกล่าว “ลดต่ำลง” ด้วย ขณะที่รายได้นอกภาคเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำต่อเนื่อง

สถานการณ์ดังกล่าวมีผลต่อกำลังซื้อโดยปริยาย ซึ่งในเดือนต.ค. พบว่า การบริโภคภาคเอกชนเติบโตชะลอลง เป็นผลจากการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทน และกึ่งคงทน แทบไม่เติบโตขึ้นเลย

การเติบโตของการบริโภคส่วนใหญ่ไปอยู่ในหมวด “สินค้าคงทน” โดยเฉพาะยอดขายรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ข้อมูลนี้ตอกย้ำถึง “เศรษฐกิจกลุ่มบน” ที่ขยายตัวได้ดี และทำให้เศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น

อีกข้อมูลที่น่าสนใจ คือ ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของ บริษัท อเมริกัน เอ็กซ์เพรส (ไทย) จำกัด หรือ “เอเม็กซ์” ซึ่งพบว่า การใช้จ่ายผ่านบัตรระดับบน หรือ “พรีเมียม” เติบโตดีต่อเนื่อง โดยการใช้จ่ายในส่วนของ บัตรแพลทินัมอเมริกัน เอ็กซ์เพรส มียอดการใช้จ่ายเฉลี่ยสูงกว่าตลาดถึง 10 เท่า

ข้อมูลเหล่านี้ “บ่งชี้” ถึงความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างกลุ่มคนระดับบนกับระดับฐานราก และยังให้ภาพของ “ความเหลื่อมล้ำ” ที่นับวันดูจะยิ่งถ่างมากยิ่งขึ้นด้วย

สิ่งเหล่านี้ถือเป็น “โจทย์หลัก” ที่รัฐบาลควรเข้ามาดูแลแก้ไข แม้แต่ระดับ “เจ้าสัว” อย่าง “คุณบัณฑูร ล่ำซำ” ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย ยังตั้งคำถามถึงการเติบโตของเศรษฐกิจไทยว่า กระจายตัวหรือไม่

คุณบัณฑูร บอกว่า หากเศรษฐกิจโตไม่กระจาย คนข้างล่างไม่มีกิน พืชผลขายไม่ได้ ก็คืนความสุขไม่ได้ เขามองว่า การกระจายความมั่งคั่งถือเป็นโจทย์ที่ทุกประเทศต้องทำ

อย่างไรก็ตามเชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้ ทราบถึงปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างดี เพราะถ้าดูนโยบายเป้าหมายในปีหน้า จะเห็นว่ารัฐบาลให้น้ำหนักกับการดูแลเศรษฐกิจท้องถิ่น หรือเศรษฐกิจในระดับฐานรากเป็นหลัก พร้อมกับตั้งเป้าหมายว่า จะทำให้ “คนจน” หมดไปจากประเทศ

ต้องบอกว่า เป้าหมายที่รัฐบาลลั่นวาจาเอาไว้ โดยเฉพาะการจะทำให้คนจนหมดไปจากประเทศ ดูเป็นเป้าหมายเกินเอื้อม ยากที่จะทำได้จริง แต่อย่างน้อยก็เห็นความมุ่งมั่นตั้งใจในการแก้ไขปัญหานี้ ณ จุดนี้จึงต้องบอกว่า ขอเอาใจช่วยครับ!