ถอดบทเรียนสิงคโปร์การก้าวสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

ถอดบทเรียนสิงคโปร์การก้าวสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (ePayment) ในประเทศแถบเอเชียมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นของแอพพลิเคชั่นรับชำระเงินบนสมาร์ทโฟน อัตราการใช้บริการอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง ส่งผลให้ตัวเลขของจำนวนธุรกรรมทางออนไลน์มีโอกาสพุ่งขึ้นสูงเกือบ 30% ภายในปี 2563 แซงหน้ากลุ่มประเทศอื่นๆ อย่างขาดลอย 

ส่วนใหญ่การเติบโตนั้นมาจากจีนและอินเดีย สองประเทศยักษ์ใหญ่ที่แม้ว่าจะมีประชากรรวมกันเกินครึ่งค่อนโลก แต่ก็สามารถเดินหน้าเข้าสู่สังคมไร้เงินสดได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ที่น่าแปลกใจคือประเทศที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีอย่างสิงคโปร์ ที่มีจำนวนประชากรเพียงแค่ 6 ล้านคน ยังไม่มีทีท่าว่าจะเข้าสู่สังคมไร้เงินสดได้เสียที

แม้ว่าทุกอย่างจะดูเพียบพร้อมและเอื้ออำนวยไปเสียหมด ด้วยอัตราการเติบโตของผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือที่พุ่งสูงกว่า 1.5 เท่า มีการรับรู้เรื่องอีเพย์เมนท์อยู่ในระดับสูง ตลอดจนรัฐบาลก็มีการสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการผลักดันสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้ แต่จากผลสำรวจล่าสุดโดยเพย์พาลพบว่าคนสิงคโปร์ยังนิยมใช้เงินสดในการชำระเงินสูงถึง 90% ตามมาด้วยการโอนเงินและอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งที่ 74% และ 61% ตามลำดับ

สาเหตุหลักเนื่องมาจากข้อจำกัดและเงื่อนไขต่างๆ ของระบบ ที่ทำให้ผู้ใช้ต้องดาวน์โหลดหลายแอพพลิเคชั่นหรือพกบัตรหลายใบเพื่อใช้ในจุดประสงค์ที่ต่างกัน มีการกำหนดมูลค่าขั้นต่ำในการชำระเงินเมื่อซื้อสินค้าหรือรับบริการ มีการเก็บค่าธรรมเนียมร้านค้ารายย่อยในอัตราสูง จากการสำรวจยังพบอีกว่าเหตุผลที่คนสิงคโปร์ส่วนใหญ่ยังไม่หันมาใช้การชำระเงินผ่านช่องทางดิจิทัล นอกจากจะกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัย รวมถึงความยุ่งยากในการใช้งานแล้ว พวกเขายังต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับผู้ให้บริการอีกด้วย

ที่น่าสนใจคือ หลังจากที่รับรู้เรื่องปัญหาต่างๆ ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ได้วางแผนลดการใช้เงินสดและเช็คในประเทศ ด้วยการผลักดันให้บรรดาธนาคารพาณิชย์หันไปใช้ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยการใช้ระบบข้อมูลส่วนกลาง เช่น หมายเลขโทรศัพท์หรือเลขบัตรประจำตัวประชาชนแทนการใช้เลขบัญชีธนาคาร และล่าสุดนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ลี เซียนลุง ได้ออกมาประกาศในวันชาติสิงคโปร์ว่าจะเดินหน้าผลักดันนำพาประเทศเข้าสู่สังคมไร้เงินสดอย่างเต็มที่

โดยวางแผนที่จะปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศให้เป็นระบบไร้เงินสดทั้งหมด อย่างไรก็ตามผู้คนอาจต้องใช้เวลากับการปรับตัวกับสิ่งใหม่ๆ เป็นโจทย์ที่ท้าทายและอาจต้องนำบทเรียนจากประเทศที่ประสบความสำเร็จแล้วอย่างจีนมาประยุกต์ หรือจะเป็นการสร้างแรงจูงใจในการใช้ครั้งแรก ที่สำคัญภาครัฐและภาคเอกชนต้องใช้ระบบที่มีความสามารถในการทำงานร่วมกับระบบอื่นๆ กล่าวคือ มีการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างแพลตฟอร์ม กระตุ้นให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายเกิดความมั่นใจและรู้สึกสะดวกสบายในการทำธุรกรรม

เมื่อหันกลับมาดูบ้านเรา แม้ว่าจะมีการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment เพื่อผลักดันการทำธุรกรรมบนช่องทางออนไลน์แทนการชำระด้วยเงินสดไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่นี่ก็ยังเป็นก้าวแรกเท่านั้น เราสามารถนำบทเรียนที่ได้จากความมุ่งมั่นของทั้งฝั่งรัฐบาลของสิงคโปร์ในการแก้ไขปัญหาต่างๆและความร่วมมือของฝั่งเอกชน และนำเอาการบริหารจัดการที่น่าสนใจมาเป็นกรณีศึกษาเพื่อนำพาประเทศไทยให้ขยับเข้าใกล้ความเป็นสังคมไร้เงินสดไปอีกก้าว