ความน่าสนใจของตราสารหนี้ในภูมิภาคเอเชีย

ความน่าสนใจของตราสารหนี้ในภูมิภาคเอเชีย

ความน่าสนใจของตราสารหนี้ในภูมิภาคเอเชีย

แม้จะเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าการลงทุนในตลาดหุ้นนั้นมักจะให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว  แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลานี้ จะพบเห็นว่าตลาดหุ้นส่วนใหญ่ล้วนปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแพงพอสมควร ดังนั้น การใส่เงินลงทุนของเราทั้งหมดลงไปในหุ้นเพียงอย่างเดียวจึงอาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องนัก เนื่องจากจะทำให้พอร์ตการลงทุนมีความเสี่ยงที่สูงเกินไป ฉะนั้น หลักการกระจายความเสี่ยงการลงทุน จึงเป็นหลักการที่นักลงทุนทุกคนควรที่จะต้องตระหนักถึงตลอดเวลา

ทั้งนี้ การจัดสรรเงินลงทุนบางส่วนไปลงทุนในตราสารหนี้ ก็ถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่งสำหรับการกระจายความเสี่ยง ซึ่งการลงทุนในตราสารหนี้นั้น ก็ไม่ได้จำกัดแค่ตราสารหนี้ในประเทศไทยเท่านั้น ณ วันนี้ เราสามารถเลือกลงทุนในตราสารหนี้ได้ทั่วโลก ซึ่งก็ให้ผลตอบแทนที่แตกต่างกันออกไป สำหรับตราสารหนี้ของประเทศในแถบเอเชียในระยะหลังก็เริ่มเป็นที่สนใจของตลาดเพิ่มมากขึ้นจากปัจจัยของมูลค่าตลาดของตราสารหนี้เอเชียที่ขยายใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 0.25 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2007 จนมาเข้าใกล้ระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงสิ้นปี 2016

นอกจากนี้ เศรษฐกิจของเอเชียก็มีบทบาทกับเศรษฐกิจโลกมากขึ้น  นักวิเคราะห์หลายรายประเมินว่าภูมิภาคเอเชียจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP growth คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 50% ของอัตราการเติบโตเศรษฐกิจโลกในปี 2025 และหากมองทางด้านอัตราการเติบโตเศรษฐกิจของเอเชียก็พบว่าสูงกว่าของโลก โดยในช่วงเดือนกรกฎาคม 2017 ธนาคารโลก หรือ World Bank ได้คาดการณ์ถึง GDP growth ของเอเชีย ณ สิ้นปี  2017 ที่ระดับ 6.5% ขณะที่มอง GDP growth ของโลกสำหรับสิ้นปี 2017 ที่ระดับเพียง 3.5%  จึงถือได้ว่าภูมิภาคเอเชียในอนาคตจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลกให้ก้าวหน้าต่อไป

เช่นเดียวกันหากพิจารณาด้านสัดส่วนหนี้สินต่อ GDP ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกสถานะทางการเงินของประเทศ ก็จะพบว่าประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียล้วนแล้วแต่จะมีหนี้สินต่อ GDP ที่ค่อนข้างต่ำ (ยกเว้นญี่ปุ่น) กล่าวคือ เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 41% เปรียบเทียบกับ สหรัฐ และยูโรโซน ที่ระดับ 106% และ 89% ตามลำดับ  ด้วยเหตุนี้ทำให้นักลงทุนเริ่มหันมาให้ความสนใจตราสารหนี้ในเอเชียกันเพิ่มมากขึ้น

ในแง่ผลตอบแทนย้อนหลังนับจากต้นปีจนถึงปัจจุบันและย้อนหลัง 5 ปี โดยเปรียบเทียบ ของ Bloomberg Emerging Market Local Sovereign APAC ซึ่งเป็นดัชนีวัดผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้รัฐบาลเอเชีย ให้ผลตอบแทนเท่ากับ 6.51% และ 12.89% ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่า Bloomberg Global Developed Sovereign Bond Index ซึ่งเป็นดัชนีวัดผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้รัฐบาลของประเทศพัฒนาแล้ว ที่ให้ผลตอบแทนเพียง 6.22% และ 0.42% ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการลงทุนในตราสารหนี้เอเชียนั้น นอกจากความเสี่ยงทางด้านอัตราดอกเบี้ยแล้ว นักลงทุนยังจะมีความเสี่ยงทางด้านอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้น การลงทุนโดยผ่านกองทุนรวมที่มีผู้จัดการกองทุนที่มีความสามารถในการบริหารและป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ตลอดจนมีนโยบายการลงทุนในเชิงรุก ทั้งทางด้านการเลือกตราสารหนี้ และการปรับสัดส่วนการลงทุนในตราสารอายุต่างๆ เพื่อบริหารความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยได้อย่างเหมาะสมในแต่ละสภาวการณ์ จะทำให้พอร์ตการลงทุนให้ผลตอบแทนที่ดีอย่างมั่นคง 

ผลตอบแทนจากดัชนีที่คำนวณโดย Bloomberg จะเห็นว่า APAC ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าประเทศพัฒนาแล้ว ( ณ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2017)

ความน่าสนใจของตราสารหนี้ในภูมิภาคเอเชีย