ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยเดือนตุลาคม

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยเดือนตุลาคม

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยเดือนตุลาคม

ความเคลื่อนไหวของตลาดต่างประเทศสำคัญที่มีอิทธิพลต่อตลาดเงินตลาดทุนของไทยในเดือนนี้ อาทิเช่น สหรัฐอเมริกามีการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของเดือนล่าสุดแสดงถึงการเติบโตต่อเนื่องหลายรายการ เช่น ดัชนีภาคการผลิตและดัชนีภาคบริการของ ISM แตะระดับสูงสุด นับตั้งแต่ช่วงปี 2004-2005,จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงจากเดือนก่อนหน้าและต่ำกว่าที่คาด, การขาดดุลการค้าในเดือนส.ค. ปรับลดลงในขณะที่การส่งออกสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น, GDP ไตรมาสที่ 3 เพิ่มขึ้น 3% มากกว่าที่คาดไว้ที่ 2.6% แม้ว่าจะประสบกับภัยธรรมชาติ เป็นต้น

นอกจากนี้ตลาดยังได้แรงหนุนจากการที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐผ่านร่างงบประมาณปี 2561 ฉบับวุฒิสภาซึ่งจะเป็นการปูทางให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เดินหน้ามาตรการปฏิรูปภาษีต่อไป ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญแข็งค่าขึ้นและ US Treasury Yield ปรับขึ้น อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐคนใหม่ และความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศสเปน กดดันให้ US Treasury Yield ปรับลดลงบ้าง และในช่วงปลายเดือนผลการประชุม FOMC มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.00-1.25% ตามคาด  ทางด้านการผลประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงิน และมีแผนที่จะลดปริมาณ QE ลงครึ่งหนึ่ง คงเหลือ 3 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน นับตั้งแต่เดือนม.ค. ถึงเดือนก.ย. ปีหน้า อย่างไรก็ตามแผนนี้จะถูกประเมินและอาจปรับเปลี่ยนได้  ส่วนผลการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่นก็มีมติคงนโยบายการเงินไว้ดังเดิม กล่าวคือ อัตราดอกเบี้ย -0.10% และเป้าหมายของ 10-Year Government Bond Yield 0.00%

ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจของไทย กระทรวงพาณิชย์ประกาศอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 0.86%yoy (เดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 0.32%yoy) ซึ่งมากกว่าที่ตลาดคาดไว้ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.53%yoy (เดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 0.46%yoy) สาเหตุจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตและราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น  นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินประจำเดือนก.ย. ที่ผ่านมา โดยให้ความเห็นว่า แนวโน้มเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยปรับดีขึ้นจากการประชุมครั้งก่อน ความเชื่อมั่นในตลาดการเงินโลกโดยรวมดีขึ้น ส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในหลักทรัพย์ภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง และทำให้เงินสกุลภูมิภาคส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้น โดยค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐและการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในระดับสูง ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าในทิศทางสอดคล้องกับสกุลภูมิภาค ทำให้เงินบาทเทียบกับเงินสกุลประเทศคู่ค้าคู่แข่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสาคัญ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นช้ากว่าที่ประเมินไว้ แต่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นในปี 2561 และเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี

ทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะสั้นปรับลดลงต่อเนื่องทั้งในตลาดแรกและตลาดรอง ท่ามกลางสภาพคล่องบาทที่ล้นระบบ โดยการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงปลายเดือน อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยรุ่น 14 วัน, 3 เดือน และ 6 เดือน อยู่ที่ 1.0702%, 1.0883% และ 1.3018% ตามลำดับ ลดลงมากจากปลายเดือนกันยายนที่ 1.1855%, 1.1960% และ 1.3693% ตามลำดับ ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวมีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลงและไม่มีทิศทางตามตลาดสหรัฐ ในเดือนนี้นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาขายสุทธิประมาณ 1.85 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้นประมาณ 2 หมื่นล้านบาท, ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาวเพียง1.5 พันล้านบาท และเมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดจำนวน 7.5 พันล้านบาท จะเป็นเงินออกสุทธิประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาทจากความแตกต่างของการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐและไทยและการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทยต่ำกว่าของสหรัฐในหลายช่วงอายุดังตาราง

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยเดือนตุลาคม

ในระยะข้างหน้าจึงคาดว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยมีแนวโน้มจะปรับขึ้นตามแนวโน้มของประเทศอุตสาหกรรมหลัก แต่จะถูกจำกัดด้วยนโยบายการเงินในประเทศ ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำภายใต้กรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย