เกษียณแบบมั่งคั่งต้องมีเงินเท่าไหร่

เกษียณแบบมั่งคั่งต้องมีเงินเท่าไหร่

เกษียณแบบมั่งคั่งต้องมีเงินเท่าไหร่

เมื่อเดือนที่ผ่านมาผมได้เขียนบทความเรื่องลงทุนอย่างไรให้มีเงิน 10 ล้านก่อนเกษียณ และ เราควรจะวางแผนลงทุนอย่างไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยสมมติว่าเป็นการลงทุนแบบมนุษย์เงินเดือนทั่วไปที่ส่วนใหญ่ลงทุนกับกองทุน LTF/RMF และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกัน เมือวันก่อนเผอิญได้เจอกับลูกค้าคนหนึ่งที่เตรียมตัวจะเกษียณในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งลูกค้าคนนี้มีไลฟ์สไตล์แบบมั่งคั่ง ซึ่งคำถามที่ผมได้รับก็คือถ้าอยากใช้ชีวิตแบบนี้หลังเกษียณต้องมีเงินเท่าไหร่ ถึง 100 ล้านมั้ย วันนี้เราลองมาเจาะลึกเรื่องนี้กันดูครับ

คำถามแรกที่เราต้องถามก่อนคือค่าใช้จ่ายต่อปี ของการมีชีวิตแบบมั่งคั่งเป็นเท่าไหร่ ซึ่งผมลองประเมินดูในเบื้องต้น นับค่าอาหาร ค่าสังสรรค์ ค่าเดินทางต่างประเทศ ในประเทศ ค่าน้ำไฟ อินเตอร์เน็ต โทรศัพท์ ค่าช้อปปิ้ง ค่าดูแลรักษาสุขภาพ โดยคร่าวๆ ก็ต้องมีไม่ต่ำกว่า 1 ถึง 2 แสนบาทต่อเดือน คำถามที่ 2 คือเราคิดว่าจะมีชีวิตหลังเกษียณอีกกี่ปี ถ้าคำตอบคือ 85 นั่นหมายความว่าเราต้องใช้ชีวิตหลังเกษียณ (60 ปี) ไปอีก 25 ปี และจะเหลือเงินมรดกให้กับลูกหลานมั้ย ซึ่งในที่นี้ผมสมมติว่าได้มีการเตรียมสินทรัพย์อื่นๆ สำหรับเรื่องนี้แล้ว (สมมติว่าไม่มีค่าใช้จ่ายเรื่องผ่อนรถผ่อนบ้าน แต่อาจยังมีเรื่องการศึกษาบุตร) 

คำตอบในเบื้องต้นคือ เค้าต้องมีเงินก่อนเกษียณอย่างน้อย 30 ล้านบาท เพื่อที่จะสามารถมีรายจ่าย 150,000 บาทต่อเดือน คือถ้าเรามีเงินเก็บก่อนเกษียณ 10 ล้านเราจะอยู่ได้อีกเพียงแค่ 5 ถึง 6 ปีเท่านั้น (ใผมสมมติว่านำเงินไปลงทุนที่มีไปลงทุนต่อในอัตราผลตอบแทน ไม่เกิน 6%) ถ้าเรามีเงิน 20 ล้าน เราสามารถอยู่ต่อได้อีกตั้งแต่ 13 ปี (กรณีฝากเงินที่ผลตอบแทน 1%) จนถึงประมาณ 18 ปี ซึ่งก็ไม่เพียงพอ แต่ถ้าเรามี 30 ล้านบาท กรณีที่เราฝากเงินอย่างเดียวเราจะอยู่ได้อีก 18 ปี แต่ถ้าเรานำเงินที่ได้ไปลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ทีมีผลตอบแทนประมาณ 3% เราจะอยู่ได้ 23 ปี แต่ถ้าเรานำเงินที่มีครึ่งหนึ่งไปลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ ส่วนที่เหลือนำไปลงทุนในกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ที่มีผลตอบแทน 5% เราก็สามารถที่จะอยู่ได้นานถึง 28 ปี ซึ่งตอบโจทย์ตามต้องการ

ในกรณีที่เราต้องการที่จะเหลือเงินให้กับลูกหลาน ถ้ามีเงิน 30 ล้านเราต้องนำเงินที่ได้ไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่มากกว่า 5% เช่น ลงทุนทั้งหมดในกองทรัสต์ฯ หรือหากองทุนหรือสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่มากกว่า 5% มาถัวเฉลี่ยเพิ่มเติม ซึ่งเป็นวีธีที่ผมแนะนำเพื่อประโยชน์ในการกระจายความเสี่ยง

แต่ถ้าค่าใช้จ่ายต่อเดือนของเราเพิ่มขึ้นไปเป็น 2 แสนบาทต่อเดือน เงิน 30 ล้านเอาไม่อยู่ครับ เราต้องมีเงินเก็บก่อนเกษียณประมาณ 40 ล้านบาท หรือคิดเป็นหลักง่ายๆคือ ต้องมีเงินอีก 10 ล้านต่อรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 5 หมื่นบาท เช่น รายจ่ายหลังเกษียณต่อเดือน 5 หมื่นเราต้องมี 10 ล้านบาท ถ้ารายจ่ายเพิ่มเป็น 1 แสนบาท เราต้องมีเงิน 20 ล้านบาทก่อนเกษียณ เป็นต้น

กฎต่อมาคือ เงินที่เรามีต้องนำไปลงทุนต่อในสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนสม่ำเสมอ แม้ว่าเงินฝากประจำจะเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยแต่ก็ให้ผลตอบแทนที่ต่ำ กองทุนรวมตราสารหนี้หรือกองทรัสต์ฯ ที่มีการจ่ายปันผลอย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นอีกทางเลือกที่สร้างโอกาสในการลงทุนในวัยเกษียณได้ดี ข้อต่อมาคือวัยเกษียณเป็นช่วงที่เราไม่มีรายได้ประจำจากการทำงาน ดังนั้น เราควรให้ความสำคัญต่อการใช้ชีวิตและรายจ่ายในแต่ละเดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อของที่มีราคาแพงเช่น บ้านตากอากาศ หรือรถหรู ที่ทำให้เงินของเราลดลงหรือก่อให้เกิดภาระในอนาคตเป็นสิ่งที่ต้องคิดให้รอบคอบ และท้ายสุดเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญและจะสำคัญมากขึ้นเมื่ออายุของเรามากขึ้น ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ รวมถึงการดูแลรักษาสุขภาพ การออกกำลังการเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก

เห็นมั้ยครับว่าการวางแผนการลงทุนนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญกับชีวิตของเราตั้งแต่ก่อนวัยเกษียณ หรือถึงแม้ว่าจะเกษียณแล้วก็ตามเราก็ยังต้องให้ความสำคัญต่อการวางแผน รายรับ รายจ่าย การลงทุนอยู่ เพื่อให้เราสามารถมั่นใจว่าเราสามารถมีชีวิตความเป็นอยู่ตามที่เราต้องการได้ตลอดไปในอนาคต ท้ายสุดนี้ ผมก็ขออวยพรให้ท่านผู้อ่านทุกๆท่านโชคดีในการลงทุนครับ