ธนบัตร กับ สังคมจีน

ธนบัตร กับ สังคมจีน

ธนบัตร กับ สังคมจีน

มีใครรู้บ้างว่าธนบัตรที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้นั้น มีจุดกำเนิดมาอย่างไร? ธนบัตรที่ทำด้วยกระดาษนี้เริ่มเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ถัง เมื่อราวศตวรรษที่ 7 และนำมาใช้อย่างจริงจังในสมัยราชวงศ์ซ่งในศตวรรษที่ 11 การใช้ธนบัตรนี้แพร่หลายไปยังทวีปยุโรป ผ่านอาณาจักรมองโกล ไปพร้อมกับนักเดินทางชื่อก้อง มาร์โค โปโล ในศตวรรษที่ 13 โดยจักรพรรดินโปเลียน โบนาปาร์ต แห่งฝรั่งเศสได้เริ่มพิมพ์ธนบัตรขึ้นใช้ครั้งแรกในยุโรปเมื่อประมาณศตวรรษที่ 18

เมื่อเกือบพันปีก่อน จีนเป็นผู้นำของโลกในการใช้ธนบัตรเพื่อแลกเปลี่ยนสิ่งของ มาในวันนี้จีนก็กำลังกลับมาเป็นผู้นำอีกครั้งในการทำธุรกรรมทางการเงินโดยไร้เงินสด ผ่านคอมพิวเตอร์ และสมาร์ทโฟนซึ่งมีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเมื่อ 10 ปีที่แล้วมีคนจีนเป็นเจ้าของสมาร์ทโฟนเพียงไม่ถึง 10% ของประชากรทั้งหมด แต่ภายในระยะเวลาเพียง 5 ปีเท่านั้น คนจีนเกินกว่า 70% ล้วนเป็นเจ้าของสมาร์ทโฟน การแพร่หลายของสมาร์ทโฟนส่งผลให้คนจีนทำธุรกรรมแทบทุกอย่างเท่าที่จะเป็นไปได้ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองใหญ่ๆนั้นเป็นที่นิยมมากถึงขนาดที่ว่า ขอทานก็ยังมี QR Codeเพื่อรับบริจาคเงินแทนการรับเงินสดอีกด้วย

การทำธุรกรรมผ่านสมาร์ทโฟนแทนการใช้เงินสด หรือเรียกว่ากระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์นั้นเป็นที่นิยมกันมากขนาดไหน ส่วนหนึ่งดูได้จากเมื่อตรุษจีนที่ผ่านมา มีการแจกอั่งเปาอิเล็กทรอนิกส์แก่ลูกหลานในจีนมากถึง 14,200 ซองเฉพาะในคืนวันไหว้ (ที่มา: Technode และ WeixinPai)ในขณะที่ Tencent ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการแจกอั่งเปาอิเล็กทรอนิกส์ เจ้าของแอพลิเคชั่น WeChat ซึ่งเป็นแอพที่เป็นยิ่งกว่า Whatsapp และ Line เพราะนอกจากจะเขียนหากันได้ ส่งสติ๊กเกอร์ฟรีได้ คุยกันได้แบบเรียลไทม์ และแบบวอคกี้ทอคกี้แล้ว ยังสามารถซื้อของออนไลน์ สั่งอาหาร เรียกแท็กซี่ แจกอั่งเปา หารค่าข้าวกลางวัน จ่ายเงินค่าน้ำเต้าหู้ ส่งผ้าซัก จองห้องคาราโอเกะ โอนเงิน ซื้อกองทุน ฯลฯ ทำแทบทุกอย่างได้ในที่เดียว! โดย Tencent ได้เปิดเผยว่าตลอดช่วง 6 วันของเทศกาลตรุษจีนปีนี้ มีการส่งอั่งเปาอิเล็กโทรนิกส์ให้กันถึง 46,000 ซอง

มูลค่ารวมของการใช้จ่ายผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของคนจีนนั้นเพิ่มสูงขึ้นถึงระดับ 23 ล้านล้านหยวน ณ สิ้นไตรมาสที่สองของปีนี้(ประมาณ 115 ล้านล้านบาท หรือสูงกว่าปริมาณเงินทั้งระบบของไทยที่ 1.9 แสนล้านบาทถึงหกร้อยกว่าเท่า) และ เพิ่มขึ้นถึง 22.5% จากไตรมาสก่อนหน้า (ที่มา: South China Morning Post)

กระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์นี้นอกจากจะใช้ซื้อสินค้าและบริการได้สะดวกรวดเร็วแล้ว ยังสามารถนำไปลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน (ที่ไม่จำกัดวงเงินขั้นต่ำ แต่กำหนดวงเงินขั้นสูง และด้วยความนิยมอย่างท่วมท้น จึงถูกกำหนดให้ฝากถอนกับบัญชีเงินฝากธรรมดาได้เพียง 3 ครั้งต่อวัน) เพื่อให้ได้อัตราผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากธนาคารอีกด้วย โดยบริการกองทุนรวมตลาดเงินออนไลน์ที่ได้รับความนิยมที่สุดของจีนในขณะนี้ คือ Yu’e Boa (หมายถึง ทรัพย์ส่วนที่เหลือ) บริหารโดยบริษัทจัดการกองทุนในเครือ Alipay ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม Alibaba โดยในช่วงเริ่มต้นเมื่อ 4 ปีก่อน ผู้ลงทุนที่ทิ้งเงินสำหรับใช้จ่ายผ่าน Alipay ไว้ใน Yu’Boa ได้รับผลตอบแทนสูงถึง 6.0% ต่อปี เทียบกับดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่ต่ำกว่า 0.5% ต่อปี (ในระยะหลังผลตอบแทนจาก Yu’Boa เหลือเพียงประมาณ 3% เศษ ซึ่งก็ยังถือว่าสูงอยู่ดี) ปัจจุบันมูลค่าทรัพย์สินภายใต้การจัดการกองทุน Yu’Bao สูงถึงเกือบ 1 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 5 ล้านล้านบาท) และมีผู้เปิดบัญชีกว่า 260 ล้านคน โดยขนาดกองทุนแซงหน้ากองทุนรวมตลาดเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลกของ JPMorgan ไปเรียบร้อยแล้วในปีนี้

พัฒนาการที่ก้าวล้ำของจีนนั้น มองในแง่ดีคือทางการจะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างละเอียด สามารถปราบปรามกลุ่มมิจฉาชีพได้ การมีข้อมูลพฤติกรรมการใช้จ่าย ช่วยให้ผู้ให้กู้สามารถนำข้อมูลมาใช้ประกอบการพิจารณาปล่อยสินเชื่อได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ผู้ให้บริการรู้ใจผู้รับบริการมากยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกันความเป็นส่วนตัวของผู้คนก็ลดน้อยลงไปด้วย ไม่นับถึงว่าทางการได้เตรียมการในการกำกับดูแลช่องทางการเงินใหม่ๆเหล่านี้อย่างเพียงพอมากน้อยเพียงใด?