สำรวจช้อปช่วยชาติ ดันยอดขายหุ้นค้าปลีกแรงท้ายปี

สำรวจช้อปช่วยชาติ  ดันยอดขายหุ้นค้าปลีกแรงท้ายปี

พิธีกร Stock Gossip by Money Wise ติดตาม live จ-ศ 13.30-14.00 น.

มาตรการช้อปช่วยชาติได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่เมื่อวานนี้ (7 พ.ย.) ซึ่งถือว่าเป็นการใช้มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน หรือเรียกง่ายๆ ว่าทำให้ประชาชนยอมหยิบเงินออกจากกระเป๋ามากขึ้นด้วยการจูงใจด้านลดหย่อนทางภาษี ซึ่งทำติดต่อกันมาถึง 3 ปี (ปี 2558-2560)

รอบนี้กำหนดช่วงระยะเวลา 11 พ.ย. – 3 ธ.ค. 2560 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 23 วัน มากกว่าปี2559 ที่อยู่ที่ 18 วัน และมากกว่าปี 2558 ซึ่งเริ่มใช้มาตรการที่ 7 วัน

หากดูจากบรรยากาศการช้อปปิ้งจากมาตรการดังกล่าวในปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่าทำให้เม็ดเงินสะพัดในธุรกิจที่ได้รับผลประโยชน์ได้มากที่เดียว จากเม็ดเงินเพิ่มขึ้น 8,000-9,000 ล้านบาท จากร้านค้าและห้างต่างๆ ออกโปรโมชั่นมาช่วยกระตุ้นยอดขายอีกแรงหนึ่ง

ช่วงที่ผ่านมาการใช้มาตรการดังกล่าวส่งผลดีผลประกอบการของธุรกิจในช่วงไตรมาส 4 อย่างชัดเจน เพราะสามารถใช้ซื้อสินค้า บริการ ภายในประเทศ เพื่อนำมาลดหย่อนฐานภาษีรายได้ในปี 2560 ได้ทันที 15,000 บาท ต่อคน

กลุ่มธุรกิจแรกๆ ที่ประชาชนมักจะนึกถึงเมื่อต้องวางแผนช้อปปิ้งหนีไม่พ้นสินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือน ทำให้ธุรกิจค้าปลีก เป็นกลุ่มใหญ่ที่ได้รับประโยชน์มากที่สุด รองลงมา คือกลุ่มร้านค้า ร้านอาหาร และกลุ่มท่องเที่ยวโรงแรม และสายการบิน เป็น กลุ่มที่ได้รับผลดีทางอ้อมจากฤดูการท่องเที่ยวอยู่แล้วช่วงท้ายปี

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ระบุว่ากลุ่มค้าปลีก เป็นกลุ่มที่ถูกเก็งกำไรจากมาตรการดังกล่าว (ตามตาราง) โดยมีหุ้นที่น่าสนใจและแนะนำลงทุน คือ บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (BEAUTY) ,บริษัท โรบินสัน จำกัด (ROBINS) ,บริษัท สยามเวลเนสกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ SPA เป็นหุ้นในกลุ่มนำตลาดสำหรับขานรับมาตรการดังกล่าว

นอกจากนี้มีกลุ่ม โรงแรมและร้านอาหาร คือ บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL , บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT  

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ยกให้กลุ่มห้างสรรพสินค้า หุ้นสินค้าไอที และหุ้นท่องเที่ยวและอาหารที่น่าสนใจ โดยแนะนำลงทุนใน บริษัท เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท จำกัด หรือ (FN) จากการเติบโตตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2560 เป็นต้นไป และต่อเนื่องไปถึงปี 2561 จากการเตรียมปรับแผนขายสินค้าเป็นร้านค้าออนไลน์ และเร่งพัฒนาสินค้าภายใต้แบรนด์บริษัทให้มีชื่อเสียงมากขึ้น นอกจากการขยายสาขา คาดการณ์กำไรปีหน้าที่ 165 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35 %

อย่างไรก็ตามส่วนไตรมาส 3 ปี 2560 กำไรของบริษัทยังชะลอตัวจากปัจจัยลบช่วงฤดูฝนและไม่ใช่ช่วงการท่องเที่ยว ทำให้ทั้งปีกำไรชะลอตัวลดลง 17 % จากปีก่อนมาอยู่ที่ 122 ล้านบาท

บล.เคจีไอ มองว่า บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ COM7 ได้เปรียบคู่แข่งในกลุ่มสินค้าไอทีด้วยกัน เนื่องจากมีสินค้าไอทีครบวงจร และทุกแบรนด์ ทั้งคอมพิเตอร์ สมาร์ทโฟน กล้องดิจิตอล ซึ่งบริษัทยังมีการดำเนินธุรกิจใหม่เพิ่มเติม เช่น ธุรกิจลีสซิ่ง ร้านมือถือหัวเว่ย ร้านออปโป้ และยังรุกขายสินค้าให้กับลูกค้าองค์กรเพิ่มขึ้น

ดังนั้นจึงประเมินกำไรช่วงไตรมาส 3 ปี 2560 เพิ่มขึ้นทั้งช่วงไตรมาสก่อนและช่วงเดียวกันปีก่อน พร้อมขยับราคาเป้าหมาย และคำแนะนำเพิ่มขึ้น เป็น 16.2 บาท จากเดิม 14.9 บาท และมีเป้าหมายราคาสูงสุดเป็น 19 บาทจากเดิม 17.5 บาท

บล.เอเซียพลัส คาดการณ์ว่ากลุ่มค้าปลีกได้มาตรการดังกล่าวมาหนุนยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ที่มีสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น โดยพบว่า บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็ฯเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ HMPRO มี SSSG ขยายตัวในไตรมาส 3 ปี 2560 ซึ่งเพิ่มขึ้น 2.5 % จากปีก่อน

ส่วนบริษัทที่ยังไม่ประกาศงบไตรมาส 3 ปี 2560 แต่คาดการณ์ว่า SSSG พลิกกลับมาดีขึ้น คือ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC เพิ่มขึ้น 8-9 % จากปีก่อน จากที่ลดลงถึง 15.2 % ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2560 ตามด้วย บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือCPALL เติบโต 1-2 % จากปีก่อน

ขณะที่กลุ่มค้าปลีกอื่น ๆ ที่มี SSSG เติบโตได้ต่อเนื่อง คือ BEAUTY และ COM7 ที่คาดเพิ่มขึ้น 10-15% จากปีก่อน จากไตรมาส 2 ปี 2560 เติบโต 12 % ดังนั้นภาพรวมไตรมาส 4 จึงคาดว่ารักษาการเติบโตต่อเนื่องไว้ได้

ดังนั้นด้วยราคาหุ้นกลุ่มค้าปลีกที่ขึ้นมารับข่าวและสะท้อนปัจจัยบวกเรื่องมาตรการช้อปช่วยชาติไปแล้วนั้น จึงแนะนำลงทุนหุ้นที่มีส่วนต่างราคาเหลืออยู่ เลือกหุ้น BJC ที่ 60 บาท และ COM7 ที่ราคา 19 บาท