7 เรื่องที่คุณอาจไม่รู้ของ ‘เจโรม พาวเวล’

7 เรื่องที่คุณอาจไม่รู้ของ ‘เจโรม พาวเวล’

อย่างที่ผมเคยเขียนไว้เมื่อเดือนที่แล้วว่า ม้ามืดอย่างนายเจโรม พาวเวล หรือ ชื่อเล่นว่า ‘เจย์’ มีจุดเด่นคือการหาเสียงของเขาในการสรรหาประธานเฟด

ถือว่ามีความนิ่งมาก รวมถึงยังเคยทำงานกับหลายรัฐบาลในอดีตมาก่อน อีกทั้งยังผ่านงานกับบริษัท Private Equity ชั้นแนวหน้าอย่าง Carlyle Group จึงทำให้คว้าตำแหน่งประธานเฟดไปได้แบบไม่ยากเย็นนัก ความจริงแล้ว ในช่วงที่นายพาวเวลเข้ามาในคณะกรรมการเฟดเมื่อ 5 ปีก่อน พร้อมกับนายเจเรมี สตีน ศาสตราจารย์ของมหาวิยาลัยฮาร์เวิรด์ จากการแต่งตั้งของอดีตประธานธิบดี บารัก โอบามา 

ทว่าทำไปทำมา ด้วยความที่นายพาวเวลเรียนรู้งานด้านเศรษฐศาสตร์และการกำกับสถาบันการเงินได้เร็วมาก ผนวกกับบุคลิกของนายพาวเวลที่ดูจะมุ่งมั่นทำงานแต่ไม่ค่อยบู๊ล้างผลาญ เลยทำให้เข้ากับนักการเมืองและสมาชิกเฟดท่านอื่นๆได้ดีกว่าเพื่อน ทีนี้ ลองมาทำความรู้จักกับเจย์ พาวเวล ให้มากขึ้นอีกนิด กับ 7 เรื่องที่คุณอาจไม่รู้ของพาวเวลกัน

หนึ่ง ในปี 1990 สมัยที่เป็นลูกน้องให้กับอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังนามว่า นิโคลัส เบรดี้ นายพาวเวลเคยช่วยเจรจาเพื่อให้ผู้บริหารของ Salomon Brothers ลาออกในประเด็นการปั่นป่วนตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและให้นายวอร์เรน บัฟเฟตต์ มาเป็นประธานบอร์ดของบริษัทแทน และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นครั้งแรกที่ทำงานให้กับฝ่ายการเมือง

สอง ผลงานที่ทำให้เข้าตาอดีตประธานาธิบดี บารัก โอบามาคือการสอบสวนกรณีที่อยู่ดีๆ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2010 ดัชนีหุ้น DJIA สหรัฐก็ร่วงตกลงไป 1,010.14จุด ในช่วงเวลา 14.32 น. ตามเวลาท้องถิ่น เป็นเวลา 36 นาที ที่เรียกกันว่า‘Flash crash’ นายพาวเวลคือหนึ่งในทีมที่สืบสวนปรากฏการณ์ดังกล่าว และก็ได้เอกสารที่เนื้อหาน่าเชื่อถือในการอธิบายปรากฎการณ์ดังกล่าวได้ค่อนข้างชัดเจน จากนั้นมา ก็ไม่เกิดเหตุการณ์แรงๆแบบนั้นอีก

สาม นายพาวเวลแม้ไม่ได้จบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์มาโดยตรง ทว่านายพาวเวลก็เป็นคนที่ถือว่าเรียนรู้เร็วมาก ว่ากันว่าเขาอ่านหมายเหตุที่อ้างอิงถึงงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ในเอกสารของเฟดแทบทุกหน้า รวมถึงยังมีความเข้าใจในระดับเบื้องต้น ของแบบจำลองทางเศรษฐกิจของเฟดได้ในขนาดที่เพื่อนร่วมงานหลายท่านยังแปลกใจ จากในอดีต อดีตประธานเฟดที่ไม่ได้จบ Ph.D. เศรษฐศาสตร์อย่างนายพอล โวลค์เกอร์ ก็ถือว่าเป็นประธานเฟดที่ดีมากท่านหนึ่ง ประเด็นการศึกษาจึงไม่ใช่เรื่องน่ากังวลสำหรับนายพาวเวล นอกจากนี้ ในส่วนของเทคโนโลยีการเงินใหม่ๆ แม้ว่าจะไม่โดดเด่นเท่า มาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ ทว่านายพาวเวลก็ดูแลงานด้านระบบ Payment System ให้กับเฟดมาตั้งแต่ต้น จึงพอจะเข้าใจในเทคโนโลยีการเงินใหม่ๆอยู่พอตัว 

สี่ นายพาวเวลค่อนข้างมีความกังวลกับเศรษฐกิจจีนว่ามีความไม่สมดุลอยู่สูง โดยกล่าวถึงเรื่องนี้อยู่บ่อยครั้ง เขาเองก็ถือว่าให้ความสำคัญกับตลาดเกิดใหม่อยู่พอสมควรจากการกล่าวสุนทรพจน์ในระยะหลัง รวมถึงมีความเห็นต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเกณฑ์นโยบายสถาบันการเงินที่เรียกกันว่า Dodd Frank Bill ในลักษณะที่เข้มข้นน้อยว่านางเจเน็ต เยลเลน รวมถึงสมาชิกอีกหลายท่านของเฟดด้วย จึงน่าจะทำให้การทำงานกับรัฐบาลสหรัฐไปได้ค่อนข้างดีพอสมควร 

ห้า ป๋าดันที่อยู่เบื้องหลังของการก้าวขึ้นมาของนายพาวเวลได้แก่ นายสตีเฟน มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ ที่เดิมทีประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จะตั้งนางเจเน็ต เยลเลนเป็นประธานเฟดต่ออีกหนึ่งสมัยเนื่องจากตลาดหุ้นเติบโตได้ดีในสมัยของเธอ ทว่านายมนูชินกลับให้ความเห็นว่านายพาวเวลจะสามารถทำงานได้เข้าขากับรัฐบาลของนายทรัมป์ได้มากกว่า ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการด้านการคลังสอดคล้องกับนโยบายการเงินของเฟดได้ดีกว่าเดิมเสียอีก 

หก นายพาวเวลหากผ่านการรับรองจากสภาคองเกรส จะถือเป็นประธานเฟดที่ร่ำรวยที่สุดด้วยสินทรัพย์มูลค่า 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐก่อนเข้ารับตำแหน่งประธานเฟดจากการรายงานทรัพย์สินต่อทางการสหรัฐ ส่วนไลฟ์สไตล์ส่วนตัวถือว่าติดดินพอสมควร โดยเขาขับจักรยานจากรัฐแมรีแลนด์เพื่อมาทำงานที่ทำงานเฟดที่วอชิงตัน ดีซี ทุกวัน แม้ช่วงหลังๆจะบ่นว่าเจ็บหลังก็เลยหันมาเล่นกอลฟ์แทนในช่วงหลัง

ท้ายสุด ที่น่าจับตาคือใครจะมาเป็นกุนซือหลักด้านเศรษฐกิจให้นายพาวเวลในการดำเนินนโยบายการเงิน ตรงนี้ต้องติดตามกันต่อครับ