ตอบข้อสงสัยการไม่นับถือศาสนา

ตอบข้อสงสัยการไม่นับถือศาสนา

สิ่งที่สงสัยและเป็นข้อถกเถียงกันมาโดยตลอดว่าคนที่เลือกจะไม่นับถือศาสนาใดๆนั้นมีเหตุผลอะไร ซึ่งแต่ละคนก็มีเหตุผลแตกต่างกันไป

 เช่น บางคนอาจเห็นว่าการนับถือศาสนาเป็นเครื่องผูกมัดให้แก่ชีวิตตนเองมากขึ้น บางคนเกิดความรู้สึกต่อต้านเพราะเห็นว่าศาสนามาก้าวก่ายชีวิตส่วนตัวการพูด การกระทำและความคิดของเขามากเกินไป บางคนเห็นว่าศาสนาไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่สามารถทำให้ร่ำรวย ชีวิตดีขึ้น ไม่สามารถแก้ปัญหาส่วนตัวได้ เชื่อว่าตนเองสามารถทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ได้โดยไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน

บางคนเห็นว่าพิธีกรรมทางศาสนาทำให้คนงมงาย เสียเงินและเสียเวลา เป็นเพียงสิ่งทำสืบต่อๆกันมา บางคนทำพิธีกรรมนั้นโดยไม่รู้ความหมาย บางคนเสื่อมศรัทธาในผู้สืบศาสนา เช่น พระหรือนักบวชประพฤติตัวไม่เหมาะสม ทำธุรกิจโดยอาศัยศาสนสถานบังหน้า และยังมีข่าวในแง่ไม่ดีอยู่เป็นประจำ เช่น การล่วงละเมิดทางเพศ ยาเสพติด ฯลฯ จึงเลือกไม่นับถือศาสนาใดๆ

จากเหตุผลดังกล่าวจึงตามมาด้วยข้อสงสัยมากมาย ซึ่งผมได้รวบรวมทั้งคำถามคำตอบมาเพื่อนำเสนอ และขอเรียนว่าผมไม่ได้ตอบแทนผู้ไม่นับถือศาสนาทั้งหมดนะครับ เพราะในบรรดาผู้ที่ไม่นับถือศาสนานั้นอาจมีเหตุผลที่แตกต่างจากที่ผมอธิบายต่อไปนี้ก็ได้

1.ถาม - ศาสนาทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี ความดีต่างๆนั้นมาจากคำสอนของศาสนา เพราะฉะนั้นผู้ที่ไม่นับถือศาสนาจึงไม่สามารถเป็นคนดีได้

ตอบ - เรื่องความดีความชั่วเป็นเพียงมุมมองส่วนบุคคล ซึ่งแต่ละศาสนามีทั้งส่วนที่คล้ายและแตกต่างกัน ความดีความชั่วเป็นสิ่งที่ไม่ตายตัวและเปลี่ยนแปลงไปได้เสมอตามกาลและเทศะ

2.ถาม - ถ้าไม่มีศาสนา มนุษย์เราก็ไม่ต่างอะไรไปจากสัตว์เดรัจฉานที่ห้ำหั่นเข็ญฆ่ากันด้วยสัญชาติญาน การเอาตัวรอด นึกจะฆ่าใครก็ฆ่าเพราะไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษว่าเป็นอย่างไร สังคมจะเกิดความวุ่นวายโกลาหลแล้วในท้ายที่สุดก็จะกลายเป็นสังคมสัตว์ป่าที่ปกครองกันด้วยกำลัง ซึ่งนั่นก็คือการสิ้นสุดของอารยธรรมของมนุษย์

ตอบ - เราต้องแยกให้ออกว่านั่นหมายถึงจริยศาสตร์ ไม่ใช่ศาสนา เพราะศาสนากินความรวมไปถึงพิธีกรรม และองค์ประกอบปลีกย่อยหลาย ๆ ด้านรวมไปด้วย มันไม่จำเป็นเลยที่การไม่นับถือศาสนาแล้วจะทำให้ไม่มีจริยธรรมตามไปด้วย ตัวจริยธรรมเองก็สามารถมีอยู่ในมนุษย์ได้โดยเป็นอิสระจากศาสนา การกล่าวว่าหากไร้ศาสนาแล้วมนุษย์จะมีความเสื่อมลงเป็นเดรัจฉาน เป็นการสรุปความที่เกินไปจากขอบเขต

3.ถาม - ที่ผู้ไม่นับถือศาสนาไม่สามารถรับรู้ถึงสัจธรรมของศาสนาได้ เป็นเพราะไม่ยอมเปิดใจรับหรือไม่ยอมเชื่อก่อน

ตอบ - การพิสูจน์โดยต้องเชื่อก่อนถึงจะรับรู้ได้เป็นสิ่งที่ชักนำไปสู่การหลอกตัวเอง (placebo effect) นอกจากนี้สิ่งที่มีอยู่จริงนั้นต้องสามารถพิสูจน์ให้ผู้ที่ไม่เชื่อนั้นเชื่อได้ ไม่ใช่เชื่อก่อนแล้วถึงค่อยพิสูจน์

4.ถาม - ผู้ที่ไม่นับถือศาสนาคือคนที่ไม่มีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ

ตอบ - ในขณะที่บางคนต้องการสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ แต่บางคนอาจจะไม่ต้องการสิ่งเหล่านั้น นอกเหนือจากศาสนาคนเราอาจจะใช้หลักปรัชญาหรือแนวคิดทางสังคมเป็นหลักในการตัดสินใจก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องศรัทธาในสิ่งนั้นในระดับศาสนาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์

5.ถาม - ถ้าไม่เชื่อในชีวิตหลังความตาย ตายแล้วสูญ จะมีชีวิตอยู่ไปทำไม ทำไมไม่ฆ่าตัวตายมันจบๆไป

ตอบ - หากพิจารณาให้ดีแล้วจะเห็นได้ว่า “การไม่เชื่อในชีวิตหลังความตาย” และ “การฆ่าตัวตาย” นี้ไม่เป็นเหตุเป็นผลกันเลยแม้แต่น้อย ในทางตรงกันข้ามผู้ที่ไม่เชื่อว่ามีโลกหน้าไม่มีจริงน่าที่จะใช้ชีวิตที่ เหลืออยู่ให้คุ้มค่ามากกว่า เนื่องจากไม่เชื่อว่าตายไปแล้วก็จะได้กลับมามีชีวิตอีก

  1. ถาม - ผู้ที่ไม่นับถือศาสนาทำอย่างไรกับงานแต่งงานหรือพิธีศพ

ตอบ - พิธีกรรมเหล่านี้สำหรับผู้ที่ไม่นับถือศาสนาใดๆแล้วเป็นเพียงพิธีกรรมที่จัดขึ้นตามความพอใจส่วนบุคคล ซึ่งก็จะแตกต่างกันไปตามความต้องการของแต่ละคนหรือคู่สมรสตกลงกัน ส่วนพิธีศพของผู้ที่ไม่นับถือศาสนานั้นจะไม่ได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษสุดแล้วแต่ผู้ที่ยังอยู่จะดำเนินการหรือดำเนินการตามพินัยกรรมหรือคำสั่งเสียที่ให้ไว้ และส่วนหนึ่งก็บริจาคร่ายกายของตนเองไปแล้วจึงไม่จำเป็นต้องมีการจัดพิธีศพเป็นการเฉพาะ

7.ถาม - : การไม่นับถือศาสนาก็ถือได้ว่าเป็นการนับถือศาสนาชนิดหนึ่ง เพราะมีความเชื่อบางอย่างเหมือนๆกัน

ตอบ - ศาสนา คือ ลัทธิความเชื่อถือของมนุษย์ในระดับปรมัตถธรรมและในระดับศีลธรรม รวมถึงพิธีกรรมที่ทำตามความเชื่อถือนั้นๆ แต่การไม่นับถือศาสนานั้นไม่มีความเชื่อเกี่ยวกับปรมัตถธรรม ไม่มีมาตรฐานเรื่องบุญบาป และไม่มีมาตรฐานเกี่ยวกับพิธีการใดๆเลย จึงไม่สามารถนับเป็นศาสนาได้ ฉะนั้น การบอกว่าการไม่นับถือเป็นศาสนาอย่างหนึ่ง ก็เหมือนการบอกว่าการไม่เล่นกีฬาเป็นกีฬานั่นเอง

8.ถาม ผู้ไม่นับถือศาสนาไม่มีสิทธิวิจารณ์ศาสนาถ้ายังไม่ศึกษาจนรู้จริงและไม่มีสิทธิวิจารณ์ศาสนาถ้ายังยังไม่ได้เป็นศาสนิกชน

ตอบ - จริงๆแล้วในสังคมมนุษย์ เราสามารถวิจารณ์ผลงานของผู้อื่นได้โดยไม่ต้องมีอาชีพหรือความเชี่ยวชาญเหมือนเขาเหล่านั้นเช่น เราสามารถวิจารณ์อาหารได้โดยไม่ต้องเป็นเชฟ(chef) เราสามารถวิจารณ์การเมืองได้โดยไม่ต้องเป็นนักการเมือง และแน่นอนศาสนาก็เช่นกันเพราะศาสนามีความสัมพันธ์กับจารีตและกฏหมาย โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบรวมไปถึงผู้ที่มิได้นับถือในศาสนานั้น เมื่อได้รับผลกระทบย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ย่อมมีสิทธิ์วิจารณ์ในสิ่งที่ตนมีส่วนได้เสียนั้น ยิ่งเป็นศาสนาที่ครอบคลุมไปถึงกฏหมายยิ่งต้องถูกวิจารณ์ได้

สุดท้ายพึงระลึกไว้เสมอว่าในเรื่องของศาสนาถือว่าเป็นสิทธิเสรีภาพของแต่ละคนตามข้อ 18 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เพราะทุกคนย่อมมีเหตุผลของตนเองว่าจะเลือกนับถือหรือไม่นับถือศาสนาใดๆ