ใครจะเป็น (ประธานเฟด) คนต่อไป?

ใครจะเป็น (ประธานเฟด) คนต่อไป?

ใครจะเป็น (ประธานเฟด) คนต่อไป?

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่านทุกท่าน

ในสัปดาห์นี้หลายท่านคงรอติดตาม การประกาศรายชื่อผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) คนใหม่ ต่อจากนางเจเน็ต เยลเลน ซึ่งกำลังจะหมดวาระดำรงตำแหน่งในเดือน ก.พ.ปีหน้า โดยประธานาธิบดีทรัมป์ เตรียมจะเสนอชื่อผู้ที่จะเป็นประธาน Fed คนต่อไปในสัปดาห์นี้

ผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งประธาน Fed ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะนักลงทุนให้ความสำคัญกับถ้อยแถลงที่ประธาน Fed สื่อสารเกี่ยวกับทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินต่อตลาด ซึ่งเห็นได้จากในอดีต หลังประธาน Fed เริ่มส่งสัญญาณเกี่ยวกับนโยบายการเงิน จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของราคาสินทรัพย์ต่างๆ เช่น การส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงปี 2015 ของประธาน Fed ได้ส่งผลให้เงินดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นอย่างมาก และทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากเอเชีย (รวมทั้งไทย) และส่งผลลบต่อการลงทุนในตลาดหุ้น ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า การตัดสินใจในนโยบายการเงินของ Fed ถ้อยแถลงของประธาน Fed รวมทั้งบันทึกการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของ Fed ล้วนแล้วแต่มีผลต่อความผันผวนในตลาดการเงินโลกทั้งสิ้น

สำหรับผู้ที่มีแนวโน้มได้รับการเลือกให้เป็นประธาน Fed คนต่อไปที่ตลาดฯ มีการคาดการณ์ไว้ ได้แก่

นายเจอโรม พาวเวลล์ สมาชิกคณะกรรมการ Fed ปัจจุบัน (Republican, Dovish)

นายจอห์น เทย์เลอร์ นักเศรษฐศาสตร์ ผู้คิดค้น "กฎของเทย์เลอร์" ในการกำหนดนโยบายการเงิน (Republican, Hawkish)

นางเจเน็ต เยลเลน ผู้ว่าการ Fed คนปัจจุบัน (Democrat, Dovish)

ตลาดให้ความสำคัญกับนโยบายการเงินที่แต่ละคนได้เสนอ ว่าเป็นสายเหยี่ยว (Hawkish) ที่มีการสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวด โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว เพื่อควบคุมเงินเฟ้อไม่ให้ปรับเพิ่มขึ้น หรือ สายพิราบ (Dovish) ที่สนับสนุนการค่อยๆ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นในส่วนของพรรคการเมืองที่สังกัดก็มีส่วนในการถูกเสนอชื่อให้เป็นประธาน Fed คนต่อไปโดยปธน.ทรัมป์ด้วยเช่นกัน ทำให้โอกาสในการที่นางเจเน็ต เยลเลนจะได้กลับมาดำรงตำแหน่งประธาน Fed เป็นสมัยที่ 2 จึงมีน้อยมาก เพราะมาจากพรรค Democrat ซึ่งตรงข้ามกับปธน.ทรัมป์

ในช่วงที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งต่างรายงานว่า ปธน.ทรัมป์มีแนวโน้มที่จะเลือกนายพาวเวลล์ให้ขึ้นนั่งเก้าอี้ประธาน Fed คนใหม่ต่อจากนางเยลเลน นอกจากนี้ นักลงทุนในตลาดคาดการณ์ว่าโอกาสที่ นายพาวเวลล์ จะได้รับการเสนอชื่อเพิ่มขึ้นเป็น 80% ซึ่งการที่นายพาวเวลล์สนับสนุนให้ Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามแนวทางของนางเยลเลน ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินมีความต่อเนื่อง และไม่กระทบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจมากนัก ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของ ปธน.ทรัมป์ ผ่านการออกมาตรการปฏิรูปภาษี จะส่งผลให้มีการจัดหาเงินทุนผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาล (ก่อหนี้สาธารณะ) มากขึ้น ดังนั้น ทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปของนายพาวเวลล์ จะทำให้ต้นทุนทางการเงินของรัฐบาลสหรัฐฯ อยู่ในระดับต่ำกว่าเมื่อเทียบกับแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินของนายเทย์เลอร์ นอกจากนี้ นายพาวเวลล์ ยังมีแนวความคิดสนับสนุนการผ่อนคลายกฎระเบียบทางการเงิน (Financial Deregulation) สอดคล้องกับแนวคิดของปธน.ทรัมป์อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม หากไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ และนายเทย์เลอร์ ได้รับการแต่งตั้ง จะส่งผลกระทบให้ตลาดการเงินเกิดความผันผวนได้ในระยะสั้น และอาจมีการประเมินแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ใหม่ จากเดิมที่คาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 3 ครั้ง ในปีหน้า ในรายงานเดิมของ Fed ที่ออกมาเมื่อเดือนก.ย. เนื่องจาก นายเทย์เลอร์สนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) จะปรับสูงขึ้นกว่าแนวทางการดำเนินนโยบายของนายพาวเวลล์ และดอลลาร์ สรอ.มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น กระทบต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศได้

อย่างไรก็ตาม ดิฉันเห็นว่า ผลกระทบต่อตลาดการเงินในระยะถัดไป ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นประธาน Fed ด้วย ซึ่งหากประธาน Fed คนใหม่มีการสื่อสารเกี่ยวกับทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินล่วงหน้า (Forward Guidance) อย่างชัดเจน ไม่คลุมเครือ ไม่ปรับเปลี่ยนไปตามข้อมูลหรือสถานการณ์ที่เข้ามากระทบอย่างไร้ทิศทางจนก่อให้เกิดความไม่แน่นอนของนโยบาย (Policy Uncertainty) และมีการรักษาความน่าเชื่อถือ (Creditability) ของ Fed ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิผลของการดำเนินนโยบายการเงิน และช่วยลดความผันผวนในระบบการเงินโลกลงได้

ดังนั้น ในสัปดาห์นี้ เรามาติดตามกันนะคะ ว่าใครจะได้เป็นประธาน Fed คนใหม่ ซึ่งผู้ที่ได้รับตำแหน่งยังมีภาระที่จะต้องตัดสินใจเกี่ยวกับการปรับลดขนาดงบดุลของ Fed และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อจากนางเจเน็ต เยลเลนต่อไป