“อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ : เมื่อทุกอย่างรอบตัวเรา ”สมาร์ท“ ขึ้น

“อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ : เมื่อทุกอย่างรอบตัวเรา ”สมาร์ท“ ขึ้น

ในโลกที่ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเรา “สมาร์ท” ขึ้น เทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากที่สุดคงหนีไม่พ้น อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (ไอโอที) 

โดยคำอธิบายง่าย ๆ ของเทคโนโลยีนี้คือการทำให้ สิ่งต่างๆ สามารถรับและส่งดาต้าได้ และนำดาต้าเข้าไปประมวลผลด้วยเทคโนโลยีอนาไลติกส์ เพื่อให้ระบบสามารถสั่งให้เกิด “แอ็คชั่นถัดไป” โดยอัตโนมัติและไม่ต้องมีมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้อง

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ คือการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในงานโลจิสติกส์ บริษัทขนส่งสินค้าเกษตรแห่งหนึ่งซึ่งใช้คอนเทนเนอร์ปรับอากาศเป็นวิธีการขนส่งหลัก ได้มีการนำเซ็นเซอร์ต่างๆ มาติดตั้งไว้ในคอนเทนเนอร์ เพื่อวัดค่าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิ ความชื้น และปริมาณก๊าซ จากนั้นส่งข้อมูลไปยังระบบประมวลผลกลาง ซึ่งหากระบบพบว่ามีค่าใดค่าหนึ่งไม่เหมาะสม เช่น ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงเกินไป ก็จะสั่งการไปยังระบบควบคุมปริมาณก๊าซ เพื่อให้การดำเนินงานทำได้โดยไม่ต้องมีมนุษย์ควบคุม 

หรือบริษัทประกัน ที่สามารถใช้อุปกรณ์สวมใส่ประเภท เช่น สมาร์ทฟิตเนสแบนด์ หรือสมาร์ทวอทช์ เพื่อใช้วัดพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการรักษาสุขภาพของผู้ใช้บริการประกันสุขภาพหรือประกันชีวิต ผ่านดาต้าที่อุปกรณ์เหล่านี้เก็บรวบรวม และนำไปสู่การใช้ระบบคำนวนเบี้ยประกันที่แตกต่างกันไปตามลูกค้าแต่ละคน

โดยองค์ประกอบของโซลูชั่นไอโอทีนั้น มีทั้ง 1.Modules และ Devices ซึ่งก็คือตัวอุปกรณ์หรือเซ็นเซอร์ต่าง ๆ 2. Connectivity เพื่อเป็นถนนให้ข้อมูลถูกส่งผ่านได้ 3. Platforms Servers และ Storage เพื่อให้ในการประมวลผล และเก็บดาต้า 4. Applications ให้ผู้ใช้งานได้ใช้ โดยที่มีระบบซิเคียวริตี้เพื่อใช้ป้องกันการโจมตี และการรั่วไหลของดาต้าครอบไว้อีกชั้นหนึ่ง

ในขณะที่ผู้บริโภคทั่วๆ ไปก็สามารถนำมาสร้างสมาร์ทโฮมได้ ภาครัฐเองก็เช่นกัน สามารถนำอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์มาสร้างสมาร์ทซิตี้ได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร เพราะตราบใดที่โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่นไฟฟ้าและโครงข่ายบรอดแบนด์พร้อม สมาร์ทซิตี้ย่อมเกิดขึ้นได้ทุกที่ และสมาร์ทซิตี้จะกลายเป็นฐานรากของการพัฒนาสิ่งอื่นๆ ให้สมาร์ทขึ้นได้ในที่สุด

รัฐบาลไทยเองได้ประกาศแผนงานโครงการ Smart Thailand 2020 โดยที่มีสมาร์ทซิตี้เป็นหนึ่งในโครงการย่อยที่สำคัญ เราเริ่มได้ไม่เลวกับจังหวัดนำร่องอย่างภูเก็ต ที่มีการสร้างศูนย์ อินโนเวชั่น พาร์ค เพื่อการส่งเสริมพัฒนานวัตกรรม มีการนำเทคโนโลยีบิ๊กดาต้า มาจัดการข้อมูลเมืองเพื่อส่งเสริมทั้งภาคธุรกิจและการท่องเที่ยว มีการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศดิจิทัลภูเก็ต หรือบริษัทด้านดิจิทัลคอนเทนต์ ที่จะมาทำงานหรือลงทุนในประเทศไทยในลักษณะทำงานร่วมกับพันธมิตรในท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด 

หรือเชียงใหม่ที่เน้นการส่งเสริมภาคการเกษตร การท่องเที่ยว และปัญหาเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม โดยการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยี เช่นเดียวกันไอโอที และสมาร์ทซิตี้นั้นเปรียบได้กับสัตว์ป่า และป่า ที่ต้องอยู่ร่วมและพึ่งพาอาศัยกัน

สิ่งสำคัญสำหรับผู้ที่อยากใช้ประโยชน์จากไอโอที คือการมีเป้าหมายที่ชัดเจน และทำความเข้าใจกับอุปสรรคต่างๆ ที่มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น โดยการตอบตัวเองให้ได้ว่าผู้ได้รับผลประโยชน์ทั้งภายในและภายนอกองค์กรคือใคร และมีความเสี่ยงใดที่สามารถวางแผนหลีกเลี่ยงได้

ทั้งนี้ควรที่จะโฟกัสที่โซลูชั่นอย่างสร้างสรรค์มากกว่าตัวเทคโนโลยีเอง เพราะการใช้อะไรมาแก้ปัญหาย่อมไม่สำคัญเท่าการแก้ปัญหาให้ถูกจุดและถูกวิธีนั่นเอง