อนาคตยูโร และยุโรป (ตอนที่ 6)

อนาคตยูโร และยุโรป (ตอนที่ 6)

อิตาลีมีปัญหาวิกฤตในหลายๆมิติที่ค่อนข้างครบเครื่อง ตั้งแต่วิกฤตในภาคธนาคารที่ไม่แข็งแรง วิกฤติการคลังภาครัฐจนถึงวิกฤติ

ในเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจการผลิต หรือภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง วิกฤตของอิตาลีเหมือนคนป่วยที่ค่อย ๆ อ่อนแอลงเรื่อย ๆ เจ้าตัวอาจจะรู้แต่การที่ไม่ต้องเข้าห้องไอซียูหรือยังไม่พิการจริง ๆ ผู้นำอิตาลีก็มักจะซื้อเวลา การเมืองไม่เข้มแข็ง การปฏิรูปใหญ่ ๆ เกิดขึ้นยาก มักรักษาที่อาการมากกว่าที่จะแก้ลงไปที่มูลเหตุของปัญหาซึ่งบ่อยครั้งก็ไม่ค่อยมีความเข้าใจ บางครั้งก็เข้าข้างตัวเอง แต่ลึก ๆ แล้วปัญหาโครงสร้างของอิตาลีไม่ใช่แก้ได้ง่าย ๆ เพราะลักษณะโครงสร้างของสถาบันโดยเฉพาะทางการเมืองไม่เปิดโอกาสให้แก้ได้ง่าย ๆ วิกฤติโลกและยุโรปยิ่งซ้ำเติมปัญหาที่สะสมมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 90 มาเรื่อย ๆ มากเสียจนว่าคนอิตาลีและผู้นำเริ่มโทษหรือหาแพะว่าความอ่อนแอและปัญหาของอิตาลีมาจากการเข้าไปร่วมเงินสกุลยูโรเพราะถ้าอิตาลีไม่เข้าร่วมยูโร อิตาลีมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เช่นในอดีตเรื่อยมาอย่างน้อยก็สามารถลดค่าเงินลิราแล้วแก้ปัญหาดุลยภาพทางการค้าและดุลชำระเงิน

ในความเป็นจริง จริงหรือที่อิตาลีแบกวิกฤตเรื้อรังเพราะเข้าร่วมยูโร จริง ๆ แล้วไม่จริงเลย

ประเด็นแรก เราต้องชั่งน้ำหนักเสียก่อนว่าจริง ๆ อิตาลีเสียอะไรและได้อะไรจากการเข้าร่วมใช้เงินยูโรสกุลเดียว และต้องดูคนอื่นเขามีปัญหาเหมือนอิตาลีหรือไม่เมื่อเข้าร่วม ส่วนที่ขาดไปคนทั่วไปก็พอนึกออกว่าเครื่องมือในการใช้อัตราแลกเปลี่ยนเวลาอิตาลีมีปัญหาเช่น ขาดดุลการค้า แต่เราต้องถามว่าถ้าเศรษฐกิจอ่อนแอและไม่แก้ที่ปัญหาพื้นฐาน การใช้วิธีลดค่าเงินมันแก้ปัญหาระยะยาวไม่ได้เลย มันแก้ปัญหาได้เพียงชั่วครู่ชั่วยามและมีผลร้ายอื่น ๆ ตามมาซึ่งอิตาลีมีปัญหากว่าประเทศอื่นโดยเฉพาะเงินเฟ้อซึ่งสูงมากทำให้มีผลข้างเคียงที่ไม่ดีอื่น ๆ ตามมา คนอิตาลีรู้มาตลอดประวัติศาสตร์ว่าตัวเองไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของยุโรปเหมือนทางเหนือ รู้สึกตัวเองต่ำต้อย คนอิตาลีกระตือรือร้นทุกครั้งที่จะเข้าร่วมกับยุโรปตั้งแต่เริ่มตลาดร่วมหรือเมื่อเป็นสหภาพหรือการก่อตั้งสหภาพการเงินยูโรลึก ๆ เพื่อให้องค์กรเหนือชาติมากำกับสร้างวินัยให้กับสถาบันหลัก ๆ ของตนเอง อิตาลีใช้เวลานานมากในการสร้างอัตลักษณ์ชาติ หลังการรวมชาติแม้ Cavour ผู้นำในการรวมชาติยังพูดภาษาอิตาลีไม่ได้เลย ประเทศมีอะไรหลายอย่างที่ไม่ปกติหรือเป็น normal country ขนาดญี่ปุ่นที่เคยเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังไม่อยากให้ใครเอาญี่ปุ่นไปเปรียบเทียบกับอิตาลีไม่ว่าในเรื่องใด ๆ เพราะเห็นว่าคนหรือผู้นำช่างไม่มีวินัยเอาเสียเลย (ขณะเดียวกันคนอิตาลีก็คงงงเหมือนกันว่าทำไมคนหรือสังคมญี่ปุ่นถึงได้ไม่มีความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิตเสียเลย เช่น คนญี่ปุ่นจะไม่เดินข้ามถนนทั้งที่เป็นไฟแดงแต่ไม่มีรถวิ่งมาสักคัน เป็นต้น) คนญี่ปุ่นมองอิตาลีว่าล้าหลังกว่าญี่ปุ่นช่วงเมจิเทียบกับช่วงอิตาลีรวมชาติ ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงทั้ง 2 ประเทศก็ล้าหลังอังกฤษ อเมริกา มากมายทั้งคู่ต้องการสร้างชาติเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่แม้ว่าในที่สุดจะเลือกวิธีการที่ไม่เหมือนกันโดยเฉพาะการสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศในช่วงปลายของศตวรรษที่ 19 

ประเด็นที่ 2 ที่สำคัญกว่าคือด้านที่อิตาลีได้มากกว่าเสียเมื่อเข้าร่วมยูโร อิตาลีได้อะไร? อิตาลีได้กรอบและกติกาทางสถาบันเศรษฐกิจมหภาคที่สร้างความเชื่อมั่น ความแน่นอน และเสถียรภาพซึ่งจำเป็นต่อการลงทุนของธุรกิจ แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับว่า อิตาลีสามารถแปลงโอกาสใหม่ที่เกิดขึ้นเป็นความสำเร็จได้หรือไม่ ซึ่งจริง ๆ อิตาลีที่ผ่านมายังทำไม่ได้ เมื่ออิตาลีเข้าร่วมยูโรหลังจากพยายามเต็มที่ที่จะต้องปัดกวาดบ้านของตัวเองให้สะอาด (หลายอย่างไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่ถาวรและแท้จริง ปัญหาเก่า ๆ จึงกลับมาเมื่อเข้าร่วมเงินสกุลเดียวแล้ว) ระบบและตลาดการเงินของยูโรช่วยลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลงมาอย่างมากเมื่อเทียบกับก่อนหน้าซึ่งช่วยอิตาลีมากในด้านภาระของการชำระหนี้ เพราะก่อนวิกฤตอิตาลีเหมือนกรีกมีหนี้ภาครัฐสูงสุดในกลุ่มยูโร คือสูงเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ของจีดีพี อัตราเงินเฟ้อในช่วงแรก ๆ ต่ำลง วัฎจักรเศรษฐกิจของอิตาลีพบว่าไปในทางเดียวกับกลุ่มยูโรได้ดี เพราะฉะนั้นโดยพื้นฐานถ้าอิตาลีมีการปรับตัวและปฏิรูปโครงสร้างใหญ่ ๆ ที่เป็นปัญหาเดิม ๆ มาก่อนหน้า อิตาลีไม่น่าจะมีปัญหามากกว่าหลายประเทศอื่น ๆ ทางยุโรปเหนือ 

ประเด็นที่ 3 มีเครื่องชี้อะไรอีกที่สามารถแสดงให้เห็นว่าการเข้าเป็นสมาชิกยูโรของอิตาลีไม่ใช่มูลเหตุที่สำคัญที่ทำให้ขีดความสามารถใหการแข่งขันของอิตาลีลดลง ในความเป็นจริงเครื่องชี้และข้อมูลหลายอย่างที่สำคัญคือผลิตภาพของแรงงาน หรือ Labour Productivity ของอิตาลีได้ลดลงมาต่อเนื่องและลดลงในอัตราที่สูงกว่าประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มยูโร และที่สำคัญมากคือผลิตภาพรวม หรือ Total Factor Productivity ซึ่งสะท้อนถึงบทบาทของความสามารถทางเทคโนโลยีของอิตาลีตั้งแต่ปลายทศวรรษ 90 เป็นต้นมาก่อนเข้าร่วมยูโรแทบไม่มีการเพิ่มขึ้นเลย เครื่องชี้อีกตัวที่สำคัญก็คือช่วงที่ขีดความสามารถในการแข่งขันของอิตาลีมีปัญหาก็คืออัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงและการเพิ่มขึ้นของอัตราค่าจ้างที่แท้จริง ก่อนปี 2000 ที่อิตาลีเข้าร่วมยูโรนั้น ตัวแปรทั้งสองตัวข้างต้นค่อนข้างคงที่มีเสถียรภาพ อัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงไม่ได้แข็งค่าขึ้นจนทำลายขีดความสามารถในการแข่งขันของอิตาลี เช่นเดียวกันกับอัตราค่าจ้างที่แท้จริง

ประเด็นที่ 4 ถ้าเช่นนั้นอะไรคือมูลเหตุของปัญหาการลดลงของผลิตภาพในภาพรวมของเศรษฐกิจอิตาลี ถ้าดูจากโครงสร้างการค้าระหว่างประเทศของอิตาลี มันพอจะบอกได้ว่า Production Model ในปัจจุบันของอิตาลีที่ยังใช้แรงงานเข้มข้นเป็นส่วนใหญ่เริ่มล้าหลังผิดยุคผิดสมัย ตั้งแต่เริ่มหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้จะสามารถทำให้อิตาลีเป็นหนึ่งในมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจของยุโรป การเติบโตของการส่งออกเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญเรื่อยมาโดยเฉพาะในอียูในช่วงแรก ๆ และนอกอียูในเวลาต่อมามีการเปลี่ยนแปลงไม่มากอย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงมิติของการไต่ระดับขีดความสามารถทางเทคโนโลยีคือการผลิตสินค้าที่มีความเข้มข้นในความรู้วิจัยหรือ R&D ในสัดส่วนที่มากขึ้น เช่นการผลิตสินค้าทุนวิศวกรรม เครื่องจักรเครื่องกล และเครื่องมือต่าง ๆ ในสาขาเช่นโทรคมนาคมและอิเล็กโทรนิคเป็นต้น ซึ่งมักมีความจำเป็นสำหรับประเทศที่มีรายได้สูงในกลุ่ม OECD ทั้งหลายเพราะประเทศเหล่านี้ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศที่เกิดใหม่ทั้งหลายที่ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมโดยต้นทุนแรงงานที่ต่ำมาก อิตาลีไม่สามารถปรับตัวได้อย่างแท้จริง (เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่มีรายได้สูงระดับเดียวกับอิตาลีทั้งในอียูและนอกอียู) จากการเปลี่ยนแปลงของโลกานุวัตร อิตาลียังใช้ Production Model แบบเดิม ๆ คือยังเป็นสินค้าที่ใช้แรงงานและวัตถุดิบเทคโนโลยีขั้นกลางมากกว่าขั้นสูง จึงถูกกระทบค่อนข้างมากจากคู่แข่งในกลุ่มประเทศเกิดใหม่โดยเฉพาะจากจีน เราจะพบว่าตั้งแต่กลางทศวรรษ 80 อย่างช้า ๆ เรื่อยมา ประเทศที่รายได้สูงในกลุ่ม OECD นั้นจริงอยู่ภาคอุตสาหกรรมทั้งแรงงานและโครงสร้างการผลิตลดลงไปมาก เป็นกระบวนการ Deindustrialization แต่ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 90 เรื่อยมา อิตาลีแทบไม่ได้มีการปรับตัวหรือปรับตัวได้น้อยกว่าประเทศอื่น ๆ จริงอยู่อเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมัน หรือฝรั่งเศสสัดส่วนการส่งออกในโลกลดลงไป แต่คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ อิตาลีลดลงไปมากกว่าประเทศข้างต้น แม้โดยผิวเผินเรายังเห็นแบรนด์อิตาลีดัง ๆ ในสินค้าบริโภคจำนวนมากในตลาดโลกแต่ก็อยู่ใน sector ดั้งเดิม เช่นสิ่งทอ เครื่องหนัง เป็นต้น

รายได้ต่อหัวของอิตาลีในช่วงปี 1955-2011 โตได้เพียง 0.4 เปอร์เซ็นต์ต่อปี เริ่มทิ้งห่างจากกลุ่มประเทศใหญ่ในอียูและยูโร อะไรทำให้อิตาลียังคงรักษาProduction Model แบบเดิม ๆ คำตอบคือภาคเอกชนอิตาลีให้ความสำคัญกับR&D ไม่พอ ทักษะแรงงานและทุนมนุษย์ระดับสูงสู้หลายประเทศใน OECD ไม่ได้ มองให้ลึกลงไปจะเห็นปัญหาของความเข้มข้นและคุณภาพของการศึกษาตั้งแต่ระดับมัถยมปลายถึงอุดมศึกษา ลึกลงไปอีกลงไปที่ประวัติศาสตร์ก็จะพบว่า เอกชนให้รัฐอุ้ม รัฐก็อุ้มและแทรกแซงอย่างไม่ประสิทธิผลไม่เหมือนโมเดลของเอเชียตะวันออก เช่นญี่ปุ่น เกาหลี และใต้หวัน เป็นต้น