“สเปน” ตื่นจากฝันร้าย

“สเปน” ตื่นจากฝันร้าย

“สเปน” ตื่นจากฝันร้าย

คงทราบกันดีอยู่ว่าความเสี่ยงทางการเมืองสำคัญๆ ของยุโรปได้คลี่คลายลงไปบ้างแล้ว และยังส่งผลบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปในปีนี้ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งใหญ่ทั้งในเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ที่นักลงทุนให้ความสนใจและจับตาเฝ้ามองกันมาตั้งแต่ปรากฏการณ์พลิกโผของผลประชามติ Brexit และการรับเลือกเป็นผู้นำสหรัฐฯ ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้สร้างความผันผวนต่อตลาดการเงินอย่างมากในปีที่แล้ว แต่ภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 เดือนนับจากต้นเดือน พ.ย. ที่รัฐสภาแคว้นกาตาลุญญาผ่านกฎหมายและจัดให้มีการทำประชามติแยกตัวออกจากสเปนเมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา เรียกได้ว่าเป็น “ม้านอกสายตา” อีกตัวที่นักวิเคราะห์ส่วนมากไม่คาดหวังว่าจะลุกลามถึงขั้นเกิดการประกาศเอกราชของชาวกาตาลันขึ้นมาจริงๆ จนเป็นเหตุให้รัฐบาลสเปนจำเป็นต้องใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญเพื่อยึดอำนาจการปกครองกลับคืนมา

อันที่จริงความพยายามแยกตัวเป็นอิสระจากสเปนดำเนินมาอย่างยาวนาน ด้วยประวัติศาสตร์ที่มีความเป็นชาตินิยมสูงและมีอิสระในการบริหารตนเองของแคว้นกาตาลุญญา กอปรกับความไม่พอใจด้านนโยบายเศรษฐกิจและการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลกลาง ซึ่งชาวกาตาลันมองว่าแคว้นของตนได้รับงบประมาณกลับมาลงทุนในด้านต่างๆ น้อยเมื่อเทียบกับที่จ่ายภาษีให้แก่รัฐมากกว่า 1 หมื่นล้านยูโรต่อปี (8% ของขนาดเศรษฐกิจกาตาลัน) อีกทั้งคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญในปี 2553 ให้ข้อตกลงบางส่วนเกี่ยวกับสถานะความเป็นรัฐอิสระปกครองตนเองของแคว้นเป็นโมฆะ ยิ่งเป็นการจุดชนวนจนเกิดการปะทุขึ้นในปีนี้

เมื่อถามว่าเหตุการณ์แยกตัวครั้งนี้สำคัญอย่างไร ทำไมค่าเงินยูโรที่แข็งค่าต่อเนื่องกว่า 14.5% นับจากต้นปีสู่ระดับสูงสุดที่ 1.2 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อยูโร กลับมาอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วถึง 3.5% (8 ก.ย. – 30 ต.ค.) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะท่าทีเชิงสนับสนุนมาตรการผ่อนคลายทางการเงินมากกว่าคาดของธนาคารกลางยุโรป แต่อีกส่วนหนึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ที่จะตอบว่าเป็นเพราะความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากประเด็นดังกล่าว เนื่องจากสเปนเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของกลุ่มยูโรโซน โดยเกือบ 1 ใน 5 ของขนาดเศรษฐกิจสเปนมาจากแคว้นกาตาลุญญาซึ่งมีรายได้หลักจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยว ทำให้วิกฤตการณ์การเมืองที่รัฐบาลสเปนกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้อาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคยุโรปโดยรวม หากสถานการณ์ดังกล่าวมีความยืดเยื้อหรือทวีความรุนแรงจนนำไปสู่การปะทะกันระหว่างสองฝ่าย

อย่างไรก็ดี ถึงแม้การเมืองสเปนเกิดความสับสนอลหม่าน แต่ต้องถือว่ารัฐบาลกลางสามารถรับมือกับปัญหาดังกล่าวได้อย่างเฉียบขาดและราบรื่น ด้วยความชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 จนล่าสุด นายมาริอาโน ราฆอย นายกรัฐมนตรีสเปนได้ยุบสภาท้องถิ่นกาตาลัน และประกาศจัดการเลือกตั้งฯ ใหม่ในวันที่ 21 ธ.ค. นี้ ช่วยคลายความกังวลต่อจากประเด็นนี้ลงไป ในขณะที่ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจยูโรโซนโดยรวมยังมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น อีกทั้งมาตรการผ่อนคลายทางการเงินยังคงสนับสนุนการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ในช่วงที่เกิดความวุ่นวายในสเปน ปัจจัยดังกล่าวไม่ได้สร้างภาวะกดดันต่อภาพการลงทุนของตลาดหุ้นยุโรปอย่างมีนัยมากนัก  ดังนั้น สำหรับนักลงทุนที่ยังสนใจกระจายการลงทุนไปยังตลาดต่างประเทศ ตลาดหุ้นยุโรปยังคงมีความน่าสนใจ เพื่อสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มให้กับพอร์ตการลงทุน