การบริหารองค์กรยุคใหม่ด้วยระบบอะมีบา (Holacracy)

การบริหารองค์กรยุคใหม่ด้วยระบบอะมีบา (Holacracy)

การบริหารองค์กรยุคใหม่ด้วยระบบอะมีบา (Holacracy)

เคยเจอปัญหานี้มั้ยครับ ที่องค์กรแบ่งแยกออกเป็นหลายสายงาน หลายฝ่าย แต่ถึงเวลาทำงานจริง มีโครงการสำคัญที่ต้องทำด้วยกัน กลับเกี่ยงกันงานกันทำ ต่างฝ่ายต่างก็บอกว่าไม่ใช่หน้าที่ของตัวเอง โยนกันไปโยนกันมา สุดท้ายงานก็ไม่เดินไปไหนซักที ปัจจุบันมีแนวคิดการบริหารองค์กรยุคใหม่ ที่เรียกว่าระบบ Holacracy หรือระบบ “อะมีบา” ซึ่งช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างน่าสนใจมาก เราไปทำความรู้จักกันครับ

การบริหารองค์กรยุคใหม่ด้วยระบบอะมีบา (Holacracy)

ก่อนอื่น ไปดูตัวอย่างองค์กรทั่วไปในปัจจุบันกันซึ่งเรียกว่าระบบ Hierachy หรือระบบสายการบังคับบัญชา ตามภาพคือลักษณะองค์กรทั่ว ๆ ไปที่แบ่งเป็นสายงานเช่น สายงานการตลาด การเงิน ปฏิบัติการ แต่ละสายงานก็แบ่งออกเป็นแผนกย่อย ๆ ซึ่งปัญหาขององค์กรลักษณะนี้คือความเป็น Silo ขององค์กร แต่ละสายก็คือแต่ละ Silo เมื่ออยู่ไปนาน ๆ แต่ละสายก็เริ่มมีลักษณะเป็นอาณาจักรของตัวเอง โดยมีหัวหน้าสายงานเป็นตัวกันชนหลักกับสายงานอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมักจะมีการทำ Job Description ที่ค่อนข้างตายตัวเลยว่าใครต้องทำอะไร และไม่ค่อยได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง พอมีงานลักษณะที่เป็น Project เข้ามา ซึ่งหลายครั้งต้องใช้ความร่วมมือกันหลายสายงาน แต่เอาเข้าจริงกลับเกี่ยงงานกันไม่จบไม่สิ้น

การบริหารองค์กรยุคใหม่ด้วยระบบอะมีบา (Holacracy)

                                   ที่มา https://www.holacracy.org

มาดูที่ระบบการจัดสร้างองค์กรแบบ Holacracy กันบ้างหน้าตาคือจะไม่เป็นสายการบังคับบัญชา โดยองค์กรทั้งหมดก็คือวงกลมวงใหญ่ ขณะที่วงกลมวงเล็กแต่ละวงหมายถึงงานที่แบ่งออกเป็น Team หรือเป็น Project และจุดแต่ละจุดก็หมายถึงทีมงานแต่ละคน (Role)

บทบาท (Role)
จุดสำคัญคือทีมงาน 1 คน (Role) สามารถอยู่ในวงกลมหลาย ๆ วงได้ เช่น Finance Manager อาจจะต้องอยู่ในหลาย ๆ โครงการที่ต้องวิเคราะห์ทางการเงินมาก ๆ หรือทีมออกแบบผลิตภัณฑ์แต่ละคนก็อาจจะอยู่ในหลาย ๆ ทีมและหลาย ๆ โครงการในเวลาเดียวกัน เวลาประเมินผลงาน คนที่อาสาตัวเองอยู่ในหลายวงกลมย่อยย่อมได้ผลงานที่มากกว่า จากการที่ต้องแบกรับงานหลายโครงการ หลายบทบาท
การตัดสินใจ

ในเรื่องการตัดสินใจ หลักการคือแต่ละวงกลมย่อยต้องมีสิทธิ์ในการตัดสินใจด้วยตัวเอง ไม่ต้องมานั่งรอให้ผู้บริหารระดับสูงหรือ CEO มาเคาะ และนอกจากให้ตัดสินใจด้วยตัวเองแล้ว ก็ต้องรับผิดชอบต่อผลงานที่เกิดขึ้นด้วย ระบบแบบนี้จะทำให้หัวหน้าแต่ละทีมมีความรู้สึกเป็นเจ้าของต่องานของตัวเองอย่างแท้จริง และผู้นำองค์กรที่ดีควรอยู่ในบทบาทโค้ชที่คอยให้คำปรึกษา แต่ไม่ใช่แทรกแซงการตัดสินใจ

การเปลี่ยนแปลง
ที่หลาย ๆ คนเรียกระบบนี้ว่าระบบ “อะมีบา” เพราะองค์กรแบบ Holacracy คือองค์กรแห่งการเปลี่ยนแปลงคล้ายอะมีบา เมื่อเวลาผ่านไปบริษัทเติบโต ก็ย่อมมีโครงการใหม่ ๆ เข้ามา โดยองค์กรสามารถสร้างวงกลมวงย่อยเพิ่มขึ้นได้ตลอดเวลา ตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับทุกครั้งที่โครงการจบลง วงกลมวงย่อยก็จะถูกลบไป การจัดโครงสร้างแบบนี้จะทำให้ทีมงานแต่ละ Role ได้มีการพัฒนาตัวเองตลอดเวลา ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ สนุกกับการทำงานที่หลากหลาย

เมื่อโครงสร้างขององค์กรเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามการเกิด และการดับไปของ Team และ Project แน่นอนว่าปัญหา Silo ระหว่างฝ่ายจะน้อยลง เพราะแต่ละคนกระจายอยู่ในหลายทีม และมีการเพิ่ม/ลด ทีมใหม่ๆ ตลอดเวลา ปัญหา Dead wood หรือคนที่เช้าชามเย็นชามก็จะน้อยลง เพราะการจัดโครงสร้างองค์กรแบบนี้ทำให้ทุกคนออกจากที่ลับ มาอยู่ในที่แจ้ง และเห็นผลงานได้อย่างชัดเจนมาก

ทั้งหมดก็เป็นระบบการบริหารองค์กรในยุค 4.0 ด้วยระบบ Holacracy ซึ่งจุดแตกต่างที่สำคัญเมื่อเทียบกับระบบสายการบังคับบัญชา คือ การที่พนักงาน 1 คนสามารถมีหลายบทบาท หัวหน้าแต่ละทีมสามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรได้ตลอดเวลา สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ และสุดท้ายคือช่วยลดปัญหาการเมืองในองค์กรได้ดีมาก สุดท้ายนี้ท่านใดสนใจทำงานกับองค์กรที่ใช้ระบบนี้ FINNOMENA ก็เป็นหนึ่งในนั้นนะครับ เรากำลังเปิดรับผู้ร่วมทีมอีกหลายท่าน สามารถดูได้ที่ https://www.finnomena.com/careers/

FundTalk รายงาน